‘หัวใจสามดวง’ นิยามขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ของโรงเรียนพังยอม จ.นครศรีธรรมราช

‘หัวใจสามดวง’ นิยามขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ของโรงเรียนพังยอม จ.นครศรีธรรมราช

แนวคิด ‘การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก หรือ Active Learning’ แม้จะมีมายาวนาน และมีนโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนนำมาใช้จัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคุณครูจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ‘เชิงรุก’ คลาดเคลื่อน 

“เดิมทีเราคิดว่าการที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง ไม่ว่าจะพูดเอง ทำแบบฝึกหัดเอง เขียนเอง นั่นคือการเรียนรู้แบบเชิงรุกแล้ว” ครูเชาวลี ทองสุข หัวหน้าวิชาการ โรงเรียนวัดพังยอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้นสะท้อนถึงมุมมองที่มีต่อความหมายของการเรียนรู้เชิงรุก ในงานสัมมนา ‘การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก’ ภายใต้งานปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน ในมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 4  ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

ครูเชาวลี เล่าว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) และได้เรียนรู้กับโค้ชจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำให้ความเข้าใจต่อคำว่า ‘เชิงรุก’ เปลี่ยนไปกลายเป็นนิยามใหม่ ‘หัวใจ 3 ดวง’

“พอได้รับความรู้จากโค้ชทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจเป็นแค่ส่วนเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด ทุกวันนี้เรามองว่ากระบวนการเรียนรู้เชิงรุกประกอบด้วยหัวใจ 3 ดวง หัวใจดวงแรกคือเด็กต้องได้ใช้ประสบการณ์เดิม และฐานความรู้เดิม หัวใจดวงที่สองคือเด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตนเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างนักเรียนหรือครูผู้สอน และหัวใจดวงสุดท้ายคือเด็กสามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงกับความรู้เดิมได้ ซึ่งหัวใจทั้งสามดวงนี้ต้องทำภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้”

เลือก ‘ห้องเรียนนำร่อง’ ออกแบบการเรียนเชิงรุกร่วมกัน

สำหรับจุดเริ่มต้นของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของโรงเรียนวัดพังยอม ครูเชาวลี เล่าว่า หลังจากที่ผู้อำนวยการ ครูวิชาการ และครูทุกท่านมีองค์ความรู้และความเข้าใจต่อการเรียนรู้เชิงรุกในทิศทางเดียวกันแล้ว ก็เริ่มมองหาว่าห้องเรียนแบบไหนที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้แบบนี้ 

“ตอนนั้นครูเริ่มมองกันแล้วว่าเป็นห้องฉันหรือห้องเธอดี ซึ่งเราในฐานะครูวิชาการต้องสามารถเป็นผู้นำ หรือเป็นตัวอย่างให้แก่ครูในโรงเรียนได้ ก็เลยเลือกห้องเรียนของตัวเองเป็นห้องเรียนนำร่อง จากนั้นก็มีการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกัน ใช้กระบวนการ PLC มีผู้อำนวยการ ครูวิชาการ และครูในโรงเรียนทุกคนมาช่วยกันวิเคราะห์แผนจัดการเรียนรู้ แล้วก็เริ่มทดลองสอนในชั้นเรียน มีการสังเกตชั้นเรียน โดยครูวิชาการทำหน้าที่เป็น Model teacher ก่อนเลย ให้เพื่อนครูในชั้นเรียนร่วมกันสังเกตวิธีการจัดการชั้นเรียนรู้ วิธีการเรียนของเด็ก เสร็จแล้วก็มาสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยกระบวนการทำงาน เราเริ่มจากระดับชั้นประถมต้น ขยับสู่ชั้นอนุบาล และขยายผลสู่ประถมปลาย”

‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ กลยุทธ์ฟันฝ่าอุปสรรค

“ทุกการทำงานย่อมมีอุปสรรค” ครูเชาวลีเล่าว่า โรงเรียนวัดพังยอมต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไม่ต่างจากโรงเรียนอื่นๆ  

“เราเจอปัญหาอุปสรรค แต่เรามองว่าปัญหาที่เข้ามาเป็นสิ่งที่ท้าทาย  และจะทำอย่างไรกับปัญหานั้น เช่น ครูทุกคนไม่ได้พร้อมจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกได้ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรที่ให้นักเรียนทุกชั้นเรียนสามารถเรียนรู้แบบเชิงรุกได้ เราก็ใช้วิธี ‘เพื่อนช่วยเพื่อนครู’ คือเป็นบัดดี้กัน อาจจะมีชั้นเรียนหนึ่งที่ครูยังไม่พร้อม เราก็ส่งครูที่มีความพร้อมไปเป็นบัดดี้ ทำแบบนี้เป็นคู่ๆ ในทุกระดับชั้น ก็จะทำให้การจัดการเชิงรุกของโรงเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้” 

ผลของการใช้เทคนิค ‘จับคู่ครูบัดดี้’ ปรากฏว่าได้ผลดีอย่างมากต่อ ‘การหล่อเลี้ยงใจครู’ ทำให้ครูที่คิดว่าไม่พร้อม สามารถขยับขึ้นมายืนสอนด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น 

“เมื่อเราจัดคู่บัดดี้ให้แล้ว ครูไม่ได้ออกจากห้องเรียนนะ ครูยังอยู่ในห้องเรียน สะท้อนผล ยังช่วยสังเกตชั้นเรียน คือทำทุกอย่าง เหมือนคุณครูที่เป็น Model teacher ทำ คือทำเป็นระบบ ทำอย่างต่อเนื่อง เลยทำให้ครูมีความสุข และมีความมั่นใจขึ้น ซึ่งความมั่นใจต้องค่อยๆ เพิ่มไปทีละนิด”

เปิดรับทุก ‘นวัตกรรม’ เพิ่มสมรรถนะนักเรียน

โรงเรียนวัดพังยอมเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองตั้งแต่ปี 2563 มีการนำกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และนวัตกรรมต่างๆ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาใช้ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 4 ปี

ครูเชาวลีเล่าว่า ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการฯนำนวัตกรรมของทาง มอ. ลงไปใช้กับนักเรียน เช่น กิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ใช้สอนเด็กอนุบาล-ป.3 ส่วนเด็ก ป.4-6 ใช้กระบวนการโครงงานฐานวิจัย พอปีที่ 2 คือปี 2564 มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปิดโรงเรียน ช่วงแรกจัดการศึกษาแบบ on-hand คือให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด แล้วครูก็ไปรับมาตรวจ แต่เราพบปัญหาว่าเด็กไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ ก็ต้องกลับมาคุยกันระหว่างผู้บริหารและคุณครูว่าทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำดีมาตลอดยังคงสภาพเดิมได้ 

“ตอนนั้นตัดสินใจลองสอนตามเดิม ไม่ได้คาดหวังว่าต้องประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่ลงมือทำ ก็ไม่รู้ว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ครูใช้วิธีสอนโครงงานแบบออนไลน์ แล้วก็บูรณาการไปกับวิชาอื่นๆ โดยครูสอนภาษาอังกฤษ ก็บูรณาการโครงงานกับภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นบ้าง ซึ่งปรากฏว่าเด็กทำได้ ทดลองได้ ตั้งสมมติฐานได้ ถ้าปีต่อไปต้องมีเรียนออนไลน์อีก โรงเรียนตอบได้เลยว่าพร้อม เพราะทำแล้วเด็กได้ผล”

ส่วนในปีที่ 3 โรงเรียนพังยอมเริ่มกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบปกติ จึงเริ่มนำนวัตกรรม ‘กระบวนการจิตปัญญา’ มาปรับใช้ในทุกรายวิชา โดยตั้งเป้าให้เด็กทำเป็นวิถีชีวิต เพราะกระบวนการจิตปัญญาช่วยให้เด็กมีความพร้อมในห้องเรียน และมีความเข้าใจในความรู้สึกของตัวเอง ต่อมาในปีที่ 4 ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เพิ่มความรู้เรื่อง ‘ฐานกาย’ เพื่อเตรียมสภาพร่างกายเด็กให้มีความพร้อมต่อการเรียนรู้

“‘ตัวอย่างกิจกรรมฐานกาย เช่น การแจกเครื่องวัดแรงบีบเพื่อวัดค่าแรงบีบมือ เพราะถ้าเรารู้ว่าแรงบีบมือของเด็กๆ คนไหนทำได้น้อย จะสามารถหากิจกรรมที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือของเด็กเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ เช่น การเขียนหนังสือ หยิบจับของต่างๆ ของเด็กให้ดีขึ้น”

‘เด็กมีความสุข’ ‘ครูเปิดรับปรับการสอน

สำหรับผลลัพธ์หลังจากโรงเรียนวัดพังยอมร่วมโครงการ TSQP มาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีนั้น พบว่า เด็กๆ มีทักษะการคิด ความกล้าแสดงออก รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน 

ครูเชาวลี เล่าว่า แต่ก่อนโรงเรียนไม่เคยให้เด็กแสดงออกเรื่องความคิด เรามองว่าสอนแล้ว เด็กทำข้อสอบได้คือจบ แต่พอได้จัดการเรียนการสอนเชิงรุก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กกล้าแสดงออกทุกคน ยื่นไมค์ไป เด็กแย่งกันตอบ แย่งกันถาม นี่คือความภาคภูมิใจของคนเป็นครู เพราะเราทำมา 4 ปี เราประสบความสำเร็จด้วยน้ำมือของเราเอง เด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 พัฒนาขึ้นแบบนี้ทุกคน สามารถแสดงออก แสดงความคิด ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ เด็กก็แย่งกันเปิดไมค์ตอบคำถามครู

นอกจากนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดพังยอมก็สูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปี ทำให้ปีนี้โรงเรียนได้รับรางวัล IQA AWARD ระดับยอดเยี่ยม หากแต่ว่าสิ่งที่เหนือไปกว่ารางวัลและยืนยันได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็ก คือเราพบว่าเด็กมาโรงเรียนเพิ่มขึ้น นักเรียนอยากมาโรงเรียนมากขึ้น และเรียนอย่างมีความสุข นี่คือความสำเร็จที่เราได้รับและสัมผัสได้ทุกวัน”

ขณะเดียวกันคุณครูผู้สอนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ ‘การเปิดใจและเปิดรับ’ นำการเรียนการสอนเชิงรุกมาปรับใช้ในชั้นเรียนมากขึ้น

“แต่ก่อนเราคิดว่าเก่งแล้ว มีความรู้แล้ว เรียนมาตั้ง 5 ปี สามารถสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้ได้แน่นอน แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการศึกษาไม่เคยหยุดนิ่ง มีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่ครูโรงเรียนวัดพังยอมเปลี่ยนไปคือ ทัศนคติ มุมมองต่อการศึกษา วิธีการจัดการเรียนการสอน คือไม่ปิดกั้นตัวเอง ไม่ปิดใจว่าสิ่งที่ฉันสอนนั้นดีอยู่แล้ว แต่เราจะเปิดรับสิ่งใหม่ เอาไปทดลองใช้กับเด็กดูว่าถ้าใช้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่ดีก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าดีขึ้นมา ผลที่ได้คือเด็กของเราพัฒนาขึ้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของครูในโรงเรียนเราทุกคน”

เมื่อถามทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ยากที่สุด ในฐานะหัวหน้าวิชาการที่ต้อง ขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงรุก ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ครูเชาวลีบอกว่า ‘การเปิดใจครูให้รับสิ่งใหม่’ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผ่านความท้าทายนี้มาได้คือ ‘ความสามัคคี’ 

“สิ่งที่ยากที่สุด คือทำอย่างไรให้ครูทั้งโรงเรียนพร้อมขับเคลื่อนไปกับผู้บริหารและครูวิชาการ ทำอย่างไรให้ครูเปิดใจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นความท้าทาย แต่โชคดีด้วยสภาพบริบทของโรงเรียนวัดพังยอมที่เราอาศัยความร่วมมือกันมาตลอดไม่ว่างานอะไร ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน ครูก็จะไม่ทอดทิ้งครูวิชาการ ครูวิชาการไม่ทิ้งครูผู้สอน เราจะจับมือกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน แก้ปัญหาไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นความสามัคคีเป็นหัวใจหลักที่ช่วยให้โรงเรียนวัดพังยอมขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงลึกมาได้สำเร็จจนวันนี้” ครูเชาวลี กล่าวทิ้งท้าย