ให้การศึกษาเดินทางไปถึงทุกพื้นที่ อีกหนึ่งกลวิธีเฝ้าระวังเด็กหลุดออกนอกระบบ

ให้การศึกษาเดินทางไปถึงทุกพื้นที่ อีกหนึ่งกลวิธีเฝ้าระวังเด็กหลุดออกนอกระบบ

ในเขตพื้นที่การศึกษา 3 จังหวัดกาญจนบุรี ที่ครอบคลุมการดูแล 3 อำเภอ ได้แก่ สังขละบุรี ทองผาภูมิ และไทรโยค เป็นพื้นที่หนึ่งที่ไม่เพียงต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือและเฝ้าระวังไม่ให้น้องๆ กลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านเส้นทางในการเดินทางลงพื้นที่อยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน แต่ที่ผ่านมา พื้นที่การศึกษาเขต 3 ได้แสดงให้เห็นถึงกลไกการจัดการและออกแบบวิธีการดูแลเด็กๆ จนเป็น 1 ในพื้นที่ที่สามารถคัดกรองน้องๆ นักเรียนยากจนพิเศษได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังช่วยเหลือให้เด็กๆ อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป แม้บางคนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ทุกวัน

 

ข้อเท็จจริงอยู่ที่ ‘ตัวเลข’

คุณเยาวลักษณ์ เที่ยงกระโทก เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา 3 จ.กาญจนบุรี

คุณเยาวลักษณ์ เที่ยงกระโทก เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา 3 จ.กาญจนบุรี เผยว่า ‘ตัวเลข’ จะชี้ชัดได้ว่าจะต้องออกแบบแผนการทำงานอย่างไร โดยก่อนจะสื่อสารกับครูในพื้นที่ จะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบข้อมูลในระบบ ดูบันทึกการมาเรียนการเข้าเรียนของเด็ก หากโรงเรียนไหนที่บันทึกข้อมูลล่าช้า ก็อาจเป็นสัญญาณได้ว่ามีเด็กที่มีปัญหามากกว่าพื้นที่อื่นๆ

“เราต้องตามบันทึกการเข้าเรียนของทุกโรงเรียนให้ครบก่อน จากนั้นจะดูรายละเอียดรายคนเลยว่าเด็กคนไหนที่ขาดเรียนนานๆ มีอัตราเข้าเรียนไม่ถึง 50 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มนี้เราจะจับตาดูเป็นพิเศษ กรณีที่บันทึกมาล่าช้า เราจะเร่งติดตาม สื่อสารกับครูถึงปัญหาต่างๆ เพราะเป็นไปได้ว่าพื้นที่นั้นมีกลุ่มเด็กที่ขาดเรียนมากกว่าที่อื่น”

“ในพื้นที่ยากลำบากและห่างไกล เราต้องจัดการศึกษาให้หลากหลาย”

เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา 3 กล่าวต่อไปว่า กรณีที่พบว่าเด็กมีแนวโน้มหลุดออกจากการศึกษา เจ้าหน้าที่เขตและครูจะเข้าไปเยี่ยมบ้านเด็ก สอบถามถึงสาเหตุการขาดเรียน หรือเหตุที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ จากนั้นอาจให้เด็กพักการเรียนไปก่อน โดยที่ครูจะยังคงติดตามเด็กสม่ำเสมอ 

สำหรับเด็กที่มีความประสงค์อยากเรียนจริงๆ แต่ติดขัดด้านเวลา การเดินทาง หรือบางคนต้องช่วยครอบครัวทำงาน ทางเขตพื้นที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่เอื้อต่อบริบทแวดล้อมของน้องๆ โดยกลุ่มเด็กโตที่มีอายุเกินเกณฑ์แล้วจะส่งต่อให้ กศน. ส่วนคนไหนที่ไม่พร้อมมาเรียนทุกวัน จะเป็นหน้าที่ของครูที่จะ ‘นำการศึกษาเข้าไปหาเด็กๆ’

“ประเด็นสำคัญคือ เราไม่อยากให้เด็กห่างจากการเรียนหรือขาดการติดต่อกับครู เพื่อให้เขารู้ว่าเขายังเรียนได้แม้ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เรามองว่าเขาจะเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียนทุกวันเขาก็เรียนได้ ก็มาคิดกันว่าจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่รองรับความพร้อมของเขา”

 

‘ครูผู้เสียสละ’

คุณเยาวลักษณ์เล่าว่าวิธีการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อเด็ก จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเทพยายามของครูในพื้นที่ โดยวิธีนี้จะให้ครูเข้าไปส่งการบ้าน เอางานเข้าไปให้ ซึ่งการทำอย่างนี้ต้องเกิดจากความร่วมมือของครูประจำชั้น ครูผู้รับผิดชอบรายวิชา ที่จะต้องสละเวลาเพื่อน้องๆ กลุ่มนี้

“การดูแลเด็กกลุ่มนี้ก็ต้องดูเป็นรายคนไป บางคนครูสามารถเข้าไปดูแลเขาตอนเย็นได้บ่อยๆ ใช้เวลาช่วงหลังเลิกเรียนไปสอนเสริมให้เขา อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อครั้ง บ้างสัปดาห์ละครั้ง หรือที่บ้านใกล้ๆ ครูเขาก็จะไปเกือบทุกวัน โดยการบ้านหรืองานที่ได้รับกลับมาจะแสดงให้เห็นว่าเด็กยังไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาตรงไหนบ้าง ครูก็จะออกแบบการสอนที่ตรงกับปัญหาของเด็ก

“ส่วนเด็กบางคนที่ต้องช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา ก็จะให้เขาไปได้ปกติ แต่เราจะลงพื้นที่ไปประเมินสถานการณ์ก่อน หากว่าในครอบครัวเขามีพี่น้องหลายคน ก็จะคุยกับผู้ปกครอง เพื่อขอให้เด็กได้กลับมาเรียนสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง หรือต้องรับงานจากครูไปทำแล้วส่งให้ได้ทุกครั้ง ซึ่งกลุ่มนี้ก็เช่นกันที่ครูจะต้องเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ ให้แน่ใจว่าเขาจะเรียนทันเพื่อนๆ ได้

 

การประสานงานที่ดี คือหัวใจของการทำงาน

เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา 3 ระบุว่า กลไกการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมของเด็กๆ ในพื้นที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการประสานงานกับโรงเรียน กับครูทุกท่าน ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าถึงน้องๆ เพื่อเก็บข้อมูลปัญหา สอบถามความตั้งใจในการเรียน รวมถึงการติดตามเด็กแต่ละคน ซึ่งในส่วนของพื้นที่ จะบันทึกโดยละเอียดว่าน้องๆ กลุ่มนี้มีกี่คน และอยู่ในโรงเรียนไหนบ้าง

“สำคัญที่เราต้องรู้ว่าโรงเรียนไหนมีปัญหาลักษณะนี้เป็นพิเศษ ต้องลงลึกรายคน พบแล้วช่วยแล้วเราก็ต้องติดตามด้วยว่าเขาเรียนไปได้ถึงไหนแล้ว หรือมีปัญหาอะไรเพิ่มเข้ามาอีกบ้าง ส่วนของแผนงานประจำปีเราก็จะออกแบบโดยอิงจากปัญหาของปีก่อน แล้วเอามาเป็นแนวทางการทำงานในปีถัดมา บางครั้งที่เราลงพื้นที่โรงเรียนหนึ่ง ถ้ามีที่อื่นๆ เป็นทางผ่านด้วยเราก็จะแวะเข้าไปดู เพื่อช่วยจัดการบางเรื่องได้ ก่อนจะกลายเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา” คุณเยาวลักษณ์ กล่าวสรุปวิธีการทำงาน