‘พลังการมีส่วนร่วม’ แนวทางขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนวัดนาหมอบุญ

‘พลังการมีส่วนร่วม’ แนวทางขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนวัดนาหมอบุญ

“พอเราจัดการเรียนรู้เชิงลึก เด็กเขาเปลี่ยนนะ ที่เห็นชัดๆ คือเขากล้าพูดคุยกับเรา เช่น ก่อนเริ่มชั้นเรียนเราจะให้เล่นเกมตอบคำถาม มีลูกอมเป็นรางวัล เด็กๆ ก็จะถามเล่นเกมทุกวัน จนวันหนึ่งเลยถามเด็กๆ ว่าทำไมถึงอยากตอบคำถามมาก เพราะจริงๆ แค่ลูกอม เด็กก็ซื้อเองได้ เขาตอบว่าเขาไม่ได้เล่นเกมเพราะลูกอม แต่เวลาตอบคำถามได้ เขาภูมิใจ” 

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ที่ ครูสุจิรา เทพทอง หัวหน้าวิชาการ โรงเรียนวัดนาหมอบุญ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมสะท้อนในงานสัมมนา ‘การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก’ ภายใต้งานปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน ในมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 4  

ครูสุจิราเล่าว่า เดิมทีก่อนที่โรงเรียนวัดนาหมอบุญเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปี 2565 โรงเรียนประสบปัญหาการย้ายเข้าและออกของบุคลากรมากถึงครึ่งต่อครึ่ง แม้แต่ผู้อำนวยการและครูสุจิราเองซึ่งเป็นครูวิชาการต่างก็เป็นครูใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา ถือเป็นอุปสรรคที่ท้าทายต่อการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงลึกอย่างมาก

เปิดใจ ‘ครู’ ยอมรับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

“อุปสรรคอันดับแรกของเราคือตัวครูก่อนเลย” ครูสุจิรากล่าวและเล่าว่า ตอนนั้นคิดว่าจะทำอย่างไรให้ครูยอมรับนำกระบวนการเรียนการสอนแบบเชิงรุกเข้ามาใช้ในโรงเรียน ใหม่ๆ ก็เครียด ไม่รู้จะเดินไปทางไหน หนึ่งคือเรายังไม่สนิทกับคุณครู ส่วนครูน้องใหม่ที่เพิ่งบรรจุก็เครียด เราก็พยายามหาหาทางเปิดใจโดยอาศัยความเป็น‘กัลยาณมิตร’ พยายามคุยกับน้องๆ เวลาไปกินข้าวด้วยกันก็ชวนคุย หลังจากยืนเข้าแถวก็คุยกับน้องๆ ว่าเราต้องทำแล้วนะ คุยไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเขาก็เปิดใจยอมรับทั้งครูใหม่และครูเก่า”

หลังจากเชื่อมผสานความร่วมมือของคุณครูได้สำเร็จ ครูสุจิรา เล่าว่า ได้เชิญทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเข้ามาให้คำแนะนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก อีกทั้งยังเชิญคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง ที่มีส่วนสนับสนุนมาร่วมรับรู้ เพื่อมีส่วนร่วมในการปักธงขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไปด้วยกัน

“เราอยากให้ครูเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ซึ่งในมุมมองของเรา การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก คือการจัดกระบวนการให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น รู้จักการวิเคราะห์แล้วก็คิดพิจารณา สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบได้ด้วยตนเอง อีกทั้งผู้เรียนไม่ได้เป็นเฉพาะผู้รับสารหรือรับความรู้อย่างเดียว แต่ผู้เรียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนช่วยส่วนในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนด้วย” 

ทั้งนี้ โรงเรียนวัดนาหมอบุญได้ตั้งเป้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่การนิเทศชั้นเรียน มอบหมายให้ครูจัดทำแผนการเรียนรู้ และนำมา PLC ร่วมกัน 

“เรา PLC กัน โดยมีผู้อำนวยการ เป็น administrator มีครูวิชาการเป็นโค้ช มีครูโมเดล มีบัดดี้ที่เป็นครูสาระวิชาเดียวกัน เราก็นั่งพิจารณาร่วมกัน แนะนำกันแบบกัลยาณมิตร คือเป็นกันเอง นุ่มนวล จากนั้นก็ลงไปที่ห้องเรียน มีการสังเกตชั้นเรียน เสร็จแล้วก็ PLC กันอีกรอบว่าจากการเข้าสังเกตชั้นเรียนมีข้อดีหรือข้อเสียที่ต้องปรับเพิ่มเติมอย่างไร”

ใช้ ‘ระบบคัดกรอง’ จัดการเรียนรู้ตามพื้นฐานของนักเรียน

โรงเรียนวัดนาหมอบุญเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาผ่านพ้นสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 มาไม่นานนัก ทำให้แม้ครูจะพร้อมจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก แต่เด็กๆ กลับประสบปัญหา ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’

“ครูพร้อม กระบวนการเรียนการสอนพร้อม แต่เด็กมีปัญหา เพราะว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 เด็กต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเด็กบางคนก็เรียนได้ บางคนมีภาวะถดถอยในการเรียนรู้ ทีนี้จะเอาเด็กสองกลุ่มมาเรียนด้วยกันก็ไม่ได้ เราเลยใช้วิธี ‘การคัดกรองนักเรียน’ แยกนักเรียนที่เรียนช้าห้องหนึ่ง และนักเรียนที่พร้อมเรียนต่อได้อีกห้องหนึ่ง เช่น ป.4 ต้องแยกสอนเพิ่มเป็น 2 ห้อง ขณะเดียวกันครูก็ต้องทำแผนจัดการเรียนรู้แยกเป็น 2 แผน ซึ่งมีกระบวนการสอนที่ไม่เหมือนกัน เช่น ห้องที่นักเรียนพร้อมจะสอนเน้นลงลึกหน่อย ส่วนห้องที่เรียนช้าจะเน้นสอนพื้นฐาน เพื่อให้เขาเข้าใจในบทเรียนก่อน ไม่เช่นนั้นเด็กเขาจะรับไม่ได้” 

ผลลัพธ์คือพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้ง ‘ความรู้’ และ ‘ทักษะ’

เมื่อถามถึงผลลัพธ์จากการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก ครูสุจิรา บอกว่า ‘เด็กเกิดกระบวนการคิดมากขึ้นอย่างชัดเจน และผลคะแนน O-NET อยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่คาดหวังไว้’

“ปกติช่วงปลายปีการศึกษาของโรงเรียนวัดนาหมอบุญจะจัดกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ เราจะคัดเลือกผลงานหรือว่าโครงการที่ทำกับทาง มอ. เช่น บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย หรือโครงงานฐานวิจัยมาจัดแสดง และให้เด็กเป็นคนนำเสนอ ปรากฏว่าเด็กอนุบาลสามารถนำเสนอกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้เป็นฉากๆ อธิบายได้ว่าเขาทำอะไรบ้าง เพราะว่าเขาปฏิบัติจริง เราก็ทึ่งกับเด็กอนุบาลมาก นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงลึกได้ชัดเจน คือ ผลคะแนน O-NET ของเด็กๆ ในปีการศึกษา 2565 มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับจังหวัดและระดับประเทศ”

ผลของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ได้เพียงส่งผลให้เด็กมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ ‘คุณครูยังได้เรียนรู้ กล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการทำงานมากขึ้น’

ครูสุจิรา เล่าว่า การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ทำให้ครูได้เรียนรู้มากขึ้น ครูรู้จักการเขียนแผน และสามารถจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกได้ดี ครูหลายคนบอกว่าชอบกระบวนการ PLC เพราะทำให้คุณครูมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น จากไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูดคุย ก็กล้าพูดกับเรา เช่น เอาแบบนี้ ไม่เอาแบบนี้ กล้าแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการทำงาน และเวลาจัดการเรียนการสอนแล้วมีคนมาแนะนำก็ทำให้เขาเกิดความรู้ และรู้สึกอุ่นใจว่ามีคนร่วมด้วยช่วยกัน ครูก็มีความสุข 

“ล่าสุดมีการจัดประกวดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก เราส่งครูเข้าประกวดทั้งโรงเรียน ปรากฏว่าผู้อำนวยการและคุณครูได้รับรางวัลเหรียญทองในการส่งนวัตกรรมที่เป็นเลิศ เรื่องการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 นี่คือผลพวงจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเชิงรุก”

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้โรงเรียนวัดนาหมอบุญขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงรุกได้ผลดีเช่นนี้ ครูสุจิรา บอกว่า เพราะ ‘ความร่วมแรงร่วมใจ’

“ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ใช่แค่ครูวิชาการที่ทำคนเดียว แต่ต้องร่วมด้วยช่วยกันทั้งหมด ไม่ว่าครู นักเรียน และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

ปัจจุบันโรงเรียนวัดนาหมอบุญได้ขยายผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไปยังอีก 3 โรงเรียน ในพื้นที่ตำบลนาหมอบุญ ได้แก่ โรงเรียนทัศนาวลัย โรงเรียนบ้านโคกวัว และโรงเรียนบ้านทุ่งบก นับเป็นการขยายวงหนุนเสริมสร้างโรงเรียนเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีมากยิ่งขึ้น