TSQP หัวใจสำคัญคือการพัฒนาเป็นทีมสู่ความสำเร็จทางการศึกษา

TSQP หัวใจสำคัญคือการพัฒนาเป็นทีมสู่ความสำเร็จทางการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้หมายถึงเพียงแค่โอกาสการเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมิติของคุณภาพการศึกษาอีกด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ วิชาความรู้ ไม่ได้หมายถึงการสอนให้เด็กท่องจำสิ่งที่อยู่ในตำรา แต่จะต้องกระตุ้นให้เด็กคิดสร้างความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​กล่าวในหัวข้อ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยระบุว่า เป้าหมายของโครงการ TSQP คือการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดกลางที่ดูแลเด็กที่ค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งมีอยู่ 8,000 แห่ง โดยเริ่มนำร่อง 10% ประมาณ 733 แห่ง และดำเนินการตามโมเดลที่ กสศ.​วางแผนไว้ 

“เป้าหมายของของโครงการคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่ต้องเป็นการพัฒนาคนทั้งคนหรือ Whole Chlid Development ต้องมีทั้ง Knowledge ความรู้  Skill ทักษะ และ Attitude ทัศนคติซึ่งสำคัญที่สุด เช่น การเป็นคนซื่อสัตย์ จิตใจดี มั่นใจในตัวเอง ซึ่งทั้ง K S A จะโยงกันหมดเป้าหมายจึงต้องพัฒนาไปพร้อมกันทุกด้าน เพื่อพัฒนาอนาตเด็ก ที่จะเป็นอนาคตบ้านเมืองของเรา”​

 

ใช้คอนเซ็ปต์ในอดีตไปสร้างการศึกษาในอนาคตไม่ได้

หัวใจของการพัฒนาคือ การพยายามหาวิธีที่ทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งอนาคต ไม่ใช่โรงเรียนแห่งอดีต ซึ่งที่ผ่านมาเราค่อนไปในทางให้เป็นโรงเรียนแห่งอดีต คือเราใช้คอนเซ็ปต์ในอดีตไปใช้สำหรับอนาคต ซึ่งใช้ไม่ได้ เราต้องหาวิธีการทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งอนาคต สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคือแนวคิดเรื่อง Growth Mindset ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับองค์กร ระดับสังคม เมื่อทำได้ก็จะให้การนำร่องจาก 10% ขยายผลไปสู่โรงเรียนขนาดกลางทั้งหมด 8,000 แห่งไปจนถึงโรงเรียนทั้งหมด 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ

ศ.นพ.วิจารณ์  กล่าวว่า อีกประเด็นที่พยายามปรับเปลี่ยนคือ ดัชนีชี้วัดอย่างคะแนน NT ที่กำลังปรับให้มีลักษณะคล้ายกับ PISA เพราะหากยังไม่ปรับก็จะเป็นตัวฉุดรั้งการศึกษาให้อยู่แค่ตัว Knowledge  ดังนั้นขอให้แต่ละโรงเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดความเชื่อมโยง กับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนและครูเท่านั้น เปรียบเทียบระบบสุขภาพที่ดีก็ไม่ได้อยู่ที่หมอหรือโรงพยาบาล แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพฤติกรรมของบุคคลการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน การเรียนรู้ก็เช่นกันไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก ของโรงเรียน แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกัน

 

เปลี่ยน Classic Learning เป็น Active Learning

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ที่ผิด ที่เคยเชื่อว่าต้องท่องจำให้ได้ แต่ปัจจุบันเราต้องการคนที่มีความคิด กล้าถาม กล้าสงสัย กล้าทำอะไรที่แตกต่าง การศึกษาสมัยใหม่ก้าวหน้าไปมาก ไม่ใช่การเอาความรู้มาใส่สมอง แต่ต้องคิดสร้างขึ้นเองในสมอง ด้วยการคิดแล้วลงมือทำ มีการใคร่ครวญสะท้อนคิด ซึ่งเด็กจะเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสุข มีความภูมิใจ ดังนั้นต้องเปลี่ยนจาก Classic Learning เป็น Active Learning

 

สร้างองค์กรการเรียนรู้ และชุมชนแห่งการเรียนรู้

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ

ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทาง TSQP กล่าวอีกว่า การพัฒนาต้องทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนการเรียนรู้  เพราะครูไม่สามารถทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบได้ ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้นำที่นำไปสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สร้าง Learning Community ทำให้โรงเรียนเป็น Learning ​Organization มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยในปีที่สองนี้มีการนำเครื่องมืออย่าง ​Formative Assessment และ DE Development Evaluation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา

ทั้งนี้ ในการเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราต้องมองไปยังเรื่อง พหุปัญญา หรือ Multiple Intelligence เด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่เขามีปัญญาทางด้านอื่นซึ่งจะเป็นกุศโลบาย ทำให้เด็กเรียนอ่อนหันมาสนใจการเรียนด้วย ซึ่งคุณภาพการศึกษามีหลายปัจจัย  กสศ.พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  ต้องการทำให้คนที่ด้อยโอกาส ไม่ถูกทิ้งแต่ให้ได้รับการศึกษา

 

TSQP  หัวใจสำคัญคือการพัฒนาเป็นทีม
สร้างต้นแบบขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการ TSQP เป็นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ หรือ  Whole School Approach  ที่เป็นการพัฒนาตัวเอง พัฒนาเครือข่าย พัฒนาระบบ มีการจัดระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมโค้ช ทีมสนับสนุน โดยหัวใจสำคัญคือการพัฒนาเป็นทีม เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในโครงการครูจะได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ของแต่ละโรงเรียนว่ามีสภาพปัญหาอย่างไร ครูต้องมีทักษะอย่างไรที่สอดรับกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และสนับสนุนการศึกษาวิจัยประเมินผลเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อไป จากโรงเรียนนำร่อง 10%  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสมรรถนะของผู้เรียนที่จะต้องเชื่อมโยง ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ