อมาตยา เซน : เสมอภาคทางการศึกษาในวันที่โลกเผชิญ Covid-19

อมาตยา เซน : เสมอภาคทางการศึกษาในวันที่โลกเผชิญ Covid-19

ในการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 

นำเสนอบทอภิปรายพิเศษหัวข้อ ‘ความหมายของความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19’ (Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID-19 Pandemic ) กล่าวถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางการศึกษาในโลกที่ผันผวนจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยยกตัวอย่างการระบาดของไวรัสในประเทศอินเดีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

อมาตยา เซนชี้ให้เห็นถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในพื้นที่ที่ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุด เช่น รัฐ Delhi, Kerala และ Onlier ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากนัก และสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว พื้นที่เหล่านี้วางแผนอย่างชาญฉลาดในการติดตามข้อมูล การใช้มาตรการสกัดกั้นผลกระทบ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมที่มีความพร้อมด้านการศึกษาจากภายใน จะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ ถึงแม้ว่า COVID-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ของโลก แต่ก็ได้ทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราจัดการกับปัญหานั้นๆ ได้

ผมคิดว่าการศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหานั้นมีความรุนแรง ความเสมอภาคทางการศึกษาจะช่วยทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

รูปธรรมที่อมาตยา เซนกล่าวมานั้น ฉายภาพให้เห็นความเสมอภาคทางการศึกษานำมาซึ่งความสามารถในการรับมือและแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นๆ ความสำเร็จในการรับมือโรคอุบัติใหม่จึงมีความเป็นเหตุเป็นผลกับการเข้าถึงการศึกษา นอกจากนี้ การศึกษาที่ดีจะเป็นการเปิดทางไปสู่ความก้าวหน้าทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ที่มาภาพ : The New Humanitarian

จากงานวิจัยและงานเขียนอันโดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสวัสดิการ (welfare economics) โดยเฉพาะบทวิจัยที่พิสูจน์ว่า ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง (famine) ไม่ได้เกิดจากภาวะการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) แต่เกิดจากปัญหาที่ผู้อดอยากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการบริโภค [i]

รัฐเบงกอลตะวันตก คือสถานที่ที่เซนเกิด เป็นหนึ่งในรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และนำมาซึ่งความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม รัฐเบงกอลตะวันตกมีประชากรผู้นับถือศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ คริสต์ เชน และซิกข์ รวมถึงผู้พูดภาษาเบงกาลี ฮินดี สันถาลี อูรดู ฯลฯ ประสบการณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งผูกพันกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของเซนจึงให้กำเนิดงานเขียนและงานวิจัยที่สำคัญด้านความยากจนและการพัฒนาเป็นจำนวนมาก โดย Development as Freedom เป็นหนึ่งในงานเขียนเหล่านั้น [ii]

หนังสือ Development as Freedom โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press

Development as Freedom ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press เซนเสนอว่า เราไม่ควรวัดคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยทรัพย์สินหรือรายได้ หรือแม้กระทั่งระดับความพึงพอใจ หากควรวัดด้วยระดับเสรีภาพ

ประโยคแรกของบทนำในหนังสือ อมาตยา เซน กล่าวว่า “การพัฒนาเป็นกระบวนการของการขยายเสรีภาพของประชาชน”

‘เสรีภาพ’ ในแนวคิดของเซนมีความหมายกว้างกว่า และครอบคลุมมากกว่าศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป เซนเสนอว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับเสรีภาพที่สำคัญ 5 ประการด้วยกัน คือ 1) เสรีภาพทางการเมือง 2) เสรีภาพทางเศรษฐกิจ 3) โอกาสทางสังคม 4) หลักประกันความโปร่งใส และ 5) การคุ้มครองความปลอดภัย

เสรีภาพสำหรับเซน เป็นทั้ง ‘วิธีการ’ และ ‘เป้าหมาย’ ของการพัฒนา เสรีภาพควรเป็นวิธีการของการพัฒนา เพราะ “การใช้เสรีภาพถูกกำกับโดยคุณธรรม ซึ่งถูกกำกับอีกชั้นหนึ่งโดยการหารือสาธารณะ (public discussions) และการติดต่อกันทางสังคม ซึ่งถูกกำกับอีกทอดหนึ่งโดยเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้” [iii]

ที่มาภาพ : KING & McGAW – อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เขาเสนอว่า แนวคิดเรื่องการขัดสนความสามารถ (capability deprivation) เป็นแนวคิดที่นำไปใช้สำหรับทำความเข้าใจความยากจนได้ดีกว่าแนวคิดเรื่องรายได้ เนื่องจากว่าแนวคิดนี้สามารถที่จะเผยให้เห็นถึงมิติของความยากจน ที่ไม่อาจจะเผยให้เห็นด้วยการวัดทางด้านรายได้ ตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็น ได้แก่ การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างอเมริกาและยุโรป ในเรื่องระบบสุขภาพและอัตราการตาย การเปรียบเทียบระหว่างอินเดียและประเทศในโซน sub-Saharan ทวีปแอฟริกา ในเรื่องอัตราการอ่านออกเขียนได้และการตายของทารก และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย [iv]

ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา จึงเป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่เกาะเกี่ยวและเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันที่จะทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง เป็นประตูที่เปิดสู่ความก้าวหน้าทางสังคม  เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติการณ์ที่จะอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่อยู่ร่ำไป

 

ที่มา :

[i] Sarawut Sangnarin. Amartya Sen ผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ
[ii] ชลิดา หนูหล้า.‘เสรีภาพ’ มาตรวัดการพัฒนาในทรรศนะ ‘อมาตยา เซน’
[iii] Development as Freedom ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press
[iv] บัวพันธ์ พรหมพักพิง. พินิจหนังสือ การพัฒนาคือการสร้างเสรีภาพ

 

ที่มาภาพปก : Be An Inspirer