คำตอบถูกหรือผิดไม่สำคัญเท่ากับเด็กๆ มีกระบวนการคิดอย่างไร
น.ส.จิดาภา จันทร์เพ็ง ครูโรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม จ.ขอนแก่น โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำตอบถูกหรือผิดไม่สำคัญเท่ากับเด็กๆ มีกระบวนการคิดอย่างไร

สำหรับบริบทโรงเรียนเรา เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครู 11 คน เป็นครูครบชั้น นักเรียนเฉลี่ยห้องละ 20 คน นักเรียนส่วนมากอาศัยกับคุณตาคุณยาย ผู้ปกครองไปทำงานต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีเวลา เด็กๆ เรียนรู้จากการท่องจำเพื่อมาสอบ มาตอบคำถามคุณครู เด็กๆ จะซีเรียสมาก กับคำตอบที่ถูกผิด  ไม่กล้าที่จะถามอะไรกับครูในสิ่งที่สงสัย ขาดความมั่นใจในตนเอง  ไม่กล้าคิด กล้าแสดงความเห็นของตนเอง

ส่วนคุณครูก็จัดการเรียนการสอนไปตามที่เราเคยทำมา โดยที่ไม่ได้มองว่าเด็กจะเกิดกระบวนการการคิดอย่างไรบ้าง ในระหว่างที่แก้ปัญหา แต่จะดูแค่ว่า เด็กตอบถูก หรือตอบผิด คุณครูมีการทำงานแค่คนเดียว เท่านั้นก็จะมีความเครียดเกิดขึ้น  โดยเฉพาะชั้นป.1/2/3 จะเป็นครูประจำชั้นสอนทุกวิชา 

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจาก สร้างทีมการศึกษาชั้นเรียน ยอมรับว่าไม่ได้ง่ายเลย สำหรับการเริ่มต้น เพราะคุณครูแต่ละคนมีภาระต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะภาระงานเอกสาร การเงิน พัสดุ ค่อนข้างเยอะ ครูยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานว่าการศึกษาชั้นเรียนเราจะต้องทำอย่างไร เป็นการเพิ่มภาระหรือเปล่า

เรานำปัญหาปลายเปิดเข้าไปใช้ในชั้นเรียนชั้นป.2 เปลี่ยนจากดูแค่ว่าคำตอบของนักเรียนถูกหรือผิด ปรับไปเป็นเขาคิดอย่างไร บวกอย่างไร ลบอย่างไร ใช้วิธีการอย่างไร แล้วลองให้เด็กๆ ออกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เปลี่ยนจากที่เด็กๆ เป็นคนนั่งฟังคุณครูอธิบาย มาเป็นเขาอธิบายให้เพื่อนฟังเอง ซึ่งคุณครูชั้นป.1 และชั้นป.3 อยู่ห้องข้างกัน ก็ได้สังเกตเห็นว่า ทำไมเด็กๆห้องนี้ได้ออกมาพูดหน้าชั้นเรียนอยู่บ่อยๆ พูดเกี่ยวกับอะไร ทำไมคุณครูไม่เป็นคนสอนเอง ทำไมต้องให้เด็กๆ ออกมาเล่า คุณครูก็มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนหลังเลิกเรียนทุกวัน ทำให้เกิดเป็นทีมจัดการศึกษาชั้นเรียนโดยอัตโนมัติ ไม่ได้บังคับให้มาทำ

การทำงานจะเริ่มจากทีมเล็กๆ 3 คน เขียนแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบสถานการณ์ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือโจทย์ที่จะนำไปใช้ในชั้นเรียน มีการร่วมกันออกแบบสื่อ คำสั่ง มีการคาดการณ์ปัญหา ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น ปัญหาที่เด็กๆมองว่าอยากจะแก้ไข  คุณครูทั้งสามคน จะคาดการณ์แนวคิด การลองแก้ปัญหานั้นๆ สังเกตการสอนร่วมกัน คนหนึ่งจะเป็นคนสอน อีกสองคนจะสังเกต และบันทึกแนวคิดที่เกิดขึ้น จากเริ่มต้นและสิ้นสุดมีกระบวนการคิดอย่างไรและนำมาพูดคุย สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับปรุง และเตรียมสื่อในคาบเรียนถัดไป จากเดิมที่มีกันแค่สามคน ตอนนี้มี คุณครูชั้นป.4 /ป.5  มาร่วมด้วย มีผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนการศึกษาชั้นเรียน ร่วมเขียนแผน ร่วมสังเกต ร่วมสะท้อนผล  จากเดิมการนิเทศภายใน ผู้อำนวยการเข้ามาแค่ 5-10 นาทีก็ออกไปแล้ว  ซึ่งจะไม่ได้เห็นกระบวนการทำงานที่แท้จริงใน 1 ชั่วโมงที่เข้าไปสอน สอนอะไรบ้าง แต่ปรับเปลี่ยนเป็น ผู้อำนวยการจะอยู่ด้วยกันตลอดทั้งคาบเรียนและร่วมสะท้อนผล  นอกจากนี้มีศึกษานิเทศเข้าร่วมด้วย  และเรายังเชิญชวนผู้ปกครองเข้ามาร่วมด้วย เพื่อได้เห็นว่าบุตรหลานมีพัฒนาการอย่างไร ในชั้นเรียนเป็นอย่างไร อยู่ที่บ้านเป็นอย่างไร เด็กบางคน อยู่ที่บ้านเป็นแบบหนึ่ง อยู่ที่โรงเรียนเป็นแบบหนึ่ง ให้ผู้ปกครองร่วมสะท้อนผล

ตัวอย่างโจทย์การเรียนการสอน

ลูกอมเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชอบ และเราสังเกตว่าเด็กๆมักจะนำมาแบ่งกัน จึงเริ่มต้นจากสถานการณ์ที่ใกล้ตัวมากที่สุด นั่นคือ การแบ่งลูกอม 12 เม็ดให้เด็ก 4 คน เท่าๆกัน เด็กแต่ละคนจะได้ลูกอมกี่เม็ด? ในตอนแรก เด็กแต่ละคนพยายามหยิบลูกอมให้เยอะที่สุด และให้เพื่อนในห้องทายว่าเพื่อนแต่ละคนได้ลูกอมเท่าไหร่ พอเด็กๆ เห็นแต่ละคนได้ไม่เท่ากัน ก็จะเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเพื่อนได้ไม่เท่ากัน “ไม่ยุติธรรม”  ดังนั้นขอแบ่งใหม่

จะเห็นว่าเด็กๆ มีปัญหา และกำลังเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการแก้ปัญหา เริ่มอยากจะทำอะไรบางอย่างกับลูกอมที่เพื่อนได้ไม่เท่ากัน ก็จะให้เด็กๆ ลองแบ่งในกลุ่มเพื่อออกแบบวิธีการแบ่ง มีเพื่อนๆ เสนอแนวคิดว่าใช้การหาร และมีเด็กคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าการหารคืออะไร แต่เขากล้าที่จะถามเพื่อนว่า “หารได้อย่างไร คิดอย่างไรล่ะ” เด็กอีกคนก็กล้าที่จะอธิบายให้เพื่อนฟัง ว่าหารคือการแบ่ง เท่าๆ กันนะ และให้เขียนแนวคิด ในใบกิจกรรม ซึ่งจะมีคุณครูมาสังเกตว่าเด็กคิดอย่างไร จากเริ่มต้นไปถึงสิ้นสุด หลังจากนั้น จะมาอภิปรายเปรียบเทียบแนวคิดร่วมกัน โดยให้เด็กแต่ละกลุ่มมานำเสนอแนวคิดของตนเอง บางกลุ่มก็จะนำลูกอมแบ่งให้เพื่อน ทีละเม็ดๆ จนหมด บางคนลองใช้วิธีจัดกลุ่ม บางกลุ่มใช้การวาดภาพ บางกลุ่มใช้วิธีแบ่งลูกอมใส่แก้ว ครั้งละเท่าๆ กัน จนกว่าลูกอมจะหมด นี่คือการฝึกกระบวนการกลุ่ม ฝึกการยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน การฟังเพื่อนให้มากขึ้น นอกจากพูดแล้วต้องฟังคนอื่นด้วย ทำให้เห็นคุณค่าแนวคิดของตนเองและแนวคิดของเพื่อนในชั้นเรียน หลังจากนั้นจะมีการสรุปแนวคิด ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนร่วมกัน

จากตัวอย่างชั้นเรียนนี้ เห็นผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้นเรียน  นักเรียนมีปัญหาเป็นของตัวเอง อยากที่จะแก้ปัญหา  นักเรียนมีแนวคิดหลากหลายในการแก้ปัญหา กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม  แนวคิดที่หลากหลายทำให้เกิดการยอมรับความคิดที่แตกต่างของเพื่อนในชั้นเรียน  เห็นคุณค่าแนวคิดของเพื่อน

จากครูที่ทำงานคนเดียว รู้สึกโดดเดี่ยว เครียด   ตอนแรกที่เข้ามาสอนใหม่ๆ ทำไมต้องทำงานคนเดียว ทำไมต้องอยู่ตรงนี้ ฉันไม่มีเพื่อนเลย  เมื่อมีทีมเรารู้สึกไม่โดดเดี่ยวแล้ว มีกำลังใจมากขึ้น มีการพัฒนาตนเองมากขึ้น ในเรื่องการจัดการชั้นเรียน  การสร้างแผนการจัดการเรียนรู้อย่างไร ถึงทำให้เด็กทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เข้าใจนักเรียนมากขึ้น และที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องของครูกับนักเรียน โรงเรียนจะสามารถนำไปใช้วางแผนพัฒนาของโรงเรียนได้ด้วย

เรียบเรียงจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ น.ส.จิดาภา จันทร์เพ็ง ครูโรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม จ.ขอนแก่น   โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” วันที่ 1 กรกฎาคม 2566  ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น


เรียบเรียงจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ คุณครูจิดาภา จันทร์เพ็ง โรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น