‘School Town King’ ระบบการศึกษาที่สวมไม่พอดีสำหรับทุกคน

‘School Town King’ ระบบการศึกษาที่สวมไม่พอดีสำหรับทุกคน

‘School Town King’  แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

ภาพยนตร์สารคดีสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย ที่ Eyedropper Fill ร่วมสร้างสรรค์กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และ The 101.world ร่วมสนับสนุนโดย โก๋แก่ และ SF World Cinemas Central World

ภาพบันทึกเรื่องราวในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ ที่มองผ่านชีวิตของวัยรุ่น 2 คน จากชุมชนคลองเตย คือ ‘บุ๊ค’ และ ‘นนท์’ ผู้มีความฝันอยากเป็น ‘ราชาแร็ป’ แต่เส้นทางที่ทั้งคู่เลือกนั้นไม่ได้มีพรมแดงปูไว้ให้เดิน การจะไปให้ถึงฝันจึงไม่มีอะไรง่าย

 

ทั้งด้วยวัยของบุ๊คและนนท์ ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการศึกษา ซึ่งเหมือนจะออกแบบระบบไว้เพียงสำหรับผู้สามารถปรับตัวและพร้อมสวมใส่เครื่องแบบเดียวกัน เด็ก 2 คนที่ ‘หลุดจากกรอบมาตรฐาน’ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง ‘ความฝัน’ ที่จะแร็ป หรือ ‘ความจริง’ คือยอมรับและปรับเปลี่ยนตัวตน เพื่อให้สวมใส่ลงได้พอดีกับระบบ ตาม ‘ความคาดหวัง’ ที่ครอบครัวและสังคมประทับให้   

 

‘จริงๆ แล้วสำหรับพวกเขา ชีวิตนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์’

จากเนื้อเพลง ‘เจ๋งพอ’ ซึ่งอยู่ใน end cradit ของหนัง น้องบุ๊คเขียนไว้ว่า “ชีวิตคนเรามันต้องเริ่มจากศูนย์ นี่ชีวิตจริงไม่ใช่ในการ์ตูน” ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับพวกเขา ชีวิตนั้นไม่ได้เริ่มที่ศูนย์ แต่ด้วยสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เป็นอยู่ พวกเขาต้องเริ่มชีวิตที่การติดลบ และติดลบเยอะด้วย นั่นคือประเด็นสำคัญที่เราจะได้เห็นจากหนัง และต้องนำแง่มุมต่างๆ มาขบคิด วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ปัญหาได้สะท้อนออกมาแล้วมองหาทางแก้ไขไปด้วยกัน

“หนังได้ถ่ายทอดให้เห็นว่าเด็กๆ ที่เขาอยู่ในชุมชนใจกลางกรุงเทพมหานครต้องเผชิญอะไรบ้างกับระบบการศึกษาของประเทศไทย ‘ระบบ’ ของการพยายามมอบความหวังดีจากทุกฝ่าย ‘ระบบ’ ซึ่งอยากจะผลิตสร้างให้เด็กเยาวชนเป็นนักเรียนในแบบเดียวกันทั้งหมด

นั่นหมายถึงว่าใครที่ปรับตัวได้เดินตามได้ก็จะรอดตัวไป แต่สำหรับบุ๊คกับนนท์ เขามีความต้องการแตกต่างจากคนอื่น อยากจะเดินไปในเส้นทางที่ไม่เหมือนคนอื่น ทั้งที่หนังก็แสดงให้เห็นว่าเขาเองก็มีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นนักเรียนในแบบมาตรฐานได้

แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น เรียนรู้ที่จะเดินไปตามทางที่ตนสนใจ กลับกลายเป็นว่าความหวังดีที่มากมายนั้นเอง ทำให้พวกเขาต้องยืนหยัดต่อสู้ เพื่อไม่ให้ถูกผลักไปเป็น ‘ผู้แพ้ของระบบ’ ในท้ายที่สุด”

เด็กพวกนี้เขาไม่ได้ไม่มีศักยภาพ เพียงแต่อาจมีบางอย่างที่ครอบเอาไว้ จนไม่สามารถฉายสิ่งที่มีในตนเองออกมาได้

“ประเด็นของหนังมาจากตัวผมเองที่มีปัญหากับระบบการศึกษาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม จนโตขึ้นมาทำงาน ได้มีโอกาสไปบรรยายตามโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ได้คุยกับน้องๆ ถึงสิ่งที่เขาต้องเจอในโรงเรียน เราพบว่าผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ปัญหาบางอย่างมันยังเหมือนเดิม เรื่องนี้ได้จุดประกายเราว่าอยากทำหนังที่เล่าถึงประเด็นการศึกษา

“ยิ่งได้ลงไปทำงานในพื้นที่ เรายิ่งได้เห็นความสามารถของเด็กๆ ในมุมที่ทำให้เราประหลาดใจ แน่นอนว่ามันมีมุมของความซน ความดื้อ ความป่วนต่างๆ แต่พออยู่ในคลาสปฏิบัติ พวกเขาหลายคนกลับมีสมาธิ แล้วฉายแววความสามารถในตัวเองออกมา มันทำให้เราเห็นว่าเด็กพวกนี้เขาไม่ได้ไม่เก่ง เพียงแต่ภายใต้บางสิ่งที่ครอบไว้ ทำให้เขาไม่สามารถนำสิ่งที่มีภายในออกมาพัฒนาได้

“ผมเชื่อว่าภาพยนตร์คือเครื่องมือที่จะส่งสารซึ่งผมอยากสื่อไปถึงคนหมู่มากได้ และเชื่อว่าบุ๊คกับนนท์เป็นเพียงตัวแทนของเด็กๆ อีกจำนวนมากในประเทศของเราที่ต้องต่อสู้กับปัญหานี้ ผมคาดหวังว่าหนังจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ เป็นสะพานเชื่อมให้คนที่อาจไม่เคยสนใจปัญหานี้มาก่อนหันกลับมามอง เพื่อที่เราจะมาหาทางออกไปด้วยกัน”

– วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ –

 

“ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีคุณค่าไม่ต่างกัน”

“มีประสบการณ์หนึ่งจากช่วงที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกค่อนข้างแย่และจำได้ถึงวันนี้ คือครูประจำชั้นเรียกผมเข้าไปพบ แล้วถามว่าเธอเป็นใคร สำคัญอะไรให้คนมาเดินตามถ่าย เรียนหนังสือก็ห่วย เรื่องอื่นก็แย่ มีค่าตรงไหนให้สนใจ คนอย่างเธอนี่หรือที่จะเป็นไอดอลให้คนอื่นได้”

“ผมได้แค่บอกกับครูไปว่าผมไม่ได้คิดว่าตัวเองมีค่ามากมายอะไร แต่ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีคุณค่าเหมือนๆ กัน เท่าเทียมไม่ต่างกัน แล้วผมก็เดินร้องไห้ออกมาจากห้องพักครู หลังจากวันนั้นผมก็ไม่ไปโรงเรียนอีก ไม่อยากไปอีกแล้ว”

“ผมมองว่ามันสะท้อนให้เห็นความคิดของคนที่เขาไม่เข้าใจ ว่านอกจากเรื่องเรียนแล้ว เส้นทางอื่นๆ ของชีวิตคืออะไร มันมีสิ่งที่คนเราสามารถจะเลือกได้อีกมากมาย เพียงแต่ระบบไม่ได้เปิดโอกาสให้เรายอมรับเท่านั้นเอง

‘น้องบุ๊ค’ ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ ‘Eleven Fingers’ แร็ปเปอร์ และนักแสดงนำ –

 

ยังคงฝัน ไม่ว่าทางนั้นจะยากสักเพียงใด

“ขอบคุณทุกคน ทุกส่วนที่ทำให้เกิดหนังเรื่องนี้ ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ได้ถ่ายทอดออกมา ผมอยากบอกว่าความฝันของคนเราจะมีหนทางเสมอ ไม่ว่าคุณเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เราสามารถเลือกเส้นทางของเราได้ ถ้ามีครอบครัว มีเพื่อนๆ ครู หรือคนที่เข้าใจช่วยสนับสนุ

“วันนี้ผมมีฝันหลายอย่าง อยากเป็นทนาย อยากเป็นศิลปินแร็ป อยากทำเพลงโฟล์คซองด้วย ช่างภาพก็อยากเป็น ผมมองว่าสิ่งที่ยังเป็นความฝันถึงแม้จะยาก แต่ถ้าเรามั่นใจว่าฝันนั้นมีคุณค่ากับตัวเรา มันจะทำให้เรามีแรงทำมันต่อไปได้”

– ‘น้องนนท์’ นนทวัฒน์ โตมา หรือ ‘Crazy Kid’ นักแสดงนำ –

 

จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อประเมินความสามารถของตัวเอง

“หลายครั้งที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราจะนึกถึงแค่เรื่องความยากจน แต่ในหนังเรื่องนี้มีอีกหลายด้านของปัญหาที่สะท้อนออกมา เรื่องหนึ่งคือเราได้เห็นว่าทางเลือกในการเรียนของเด็กบ้านเรามีน้อยมาก”

“หมายถึงเด็กไม่สามารถทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เลย และเมื่อเขาไม่ได้มีความสามารถที่เป็นไปตามกระแสหลัก เขาจะถูกผลักให้เป็นเด็กหลังห้อง ขณะที่ในประเทศซึ่งจัดระบบการศึกษาได้ดี เด็กจะมีทางเลือกเยอะขึ้นในการทดลองค้นหาและประเมินตนเอง มีการศึกษาหลากหลายเมนูให้เขาเลือก นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราต้องแก้ไข เพราะการไม่มีระบบหลากหลายรองรับ มันทำให้เขาต้องออกจากระบบหรือหันหลังให้การศึกษา”

“หลายซีนในหนังทำให้เราเห็นว่าเมื่อเด็กต้องเลือกระหว่างความฝันกับการเรียน เขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง  มันสะท้อนใจเราในฐานะนักการศึกษาว่าทำไมเราไม่มีระบบรองรับคนที่หลุดออกจากการศึกษากระแสหลัก หาวิธีดูแลเขา ไม่ให้เขาต้องรับมือกับปัญหาเพียงลำพัง

“อย่างน้อยที่สุด หนังได้เปิดพื้นที่ให้เราได้ยินเสียงน้องๆ เยาวชนของเรา ว่าเขาคิดอย่างไร หรือเขาเองก็ต้องการพื้นที่การเรียนรู้แบบอื่นด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมามองด้วยกันว่าจะทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้นได้อย่างไร เพราะปัญหาการศึกษาเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม”

ธันว์ธิดา วงษ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. –

 

‘ต้องใช้พลังของทั้งสังคมทำงานไปด้วยกัน’

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์การปฏิรูปที่มีขนาดใหญ่ เป็นปัญหาเชิงระบบที่ กสศ. มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง โดยจากข้อมูลระบุว่าในจำนวนเด็กเกิดใหม่ปีละราว 7 แสนคน จะมีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวยากจน 20% ล่างสุดทั่วประเทศ 1.6 แสนคน และในเด็กกลุ่มนี้ จะมีคนที่ได้เรียนสูงกว่า ม.6 แค่ 5% หรือ 8 พัน คนต่อรุ่นเท่านั้น

ขณะที่งานของ กสศ. คือการทำงาน 2 ด้านไปพร้อมกัน คือ 1.นำความช่วยเหลือไปหาเด็กรายคน เพื่อบรรเทาปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปเรียน โดยใช้เทคโนโลยีในการค้นหาติดตามน้องๆ และสร้างระบบป้องกันรวมถึงมองหาทางเลือกในการช่วยเหลือที่เหมาะสม และ 2.การแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนและครู เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม กสศ. ไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง หากได้ชักชวนและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยต่างๆ ในสังคม โดยจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วย ‘ทุน’ ที่จะทำให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ๆ ทางการศึกษา แสดงให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้

และท้ายที่สุดพื้นที่ของการสนทนาปัญหาเพื่อหาหนทางในการปฏิรูปการศึกษาไทย จำเป็นจะต้องใช้พลังของคนทั้งสังคมทำงานร่วมกัน  เพื่อที่จะแก้ปัญหาและสร้างระบบการศึกษาที่เปิดทางเลือกให้ความหลากหลายของเด็กเยาวชนทุกคน