การเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม

การเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม

หลักการสำคัญประการหนึ่งที่ กสศ. ยึดมั่นในการดำเนินการ คือ การตระหนักว่า กสศ. เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อน การลดความเหลื่อมล้ำ และการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ที่จะบรรลุผลสำเร็จได้ ทุกภาคส่วน ต้องมุ่งมั่นดำเนินงานเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่กำหนดสนับสนุนให้ กสศ. ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นของรัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ทั้งนี้ในการทำงานร่วมกัน หุ้นส่วนภาคีและ กสศ. ต่างเข้าใจ เคารพและยึดถือ หลักธรรมาภิบาล พันธสัญญาระหว่างกัน ความโปร่งใส และผลประโยชน์สาธารณะ เป็นที่ตั้ง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (จนถึงมีนาคม 2567) กสศ. ได้เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรม/โครงการสำคัญ ดังนี้

1. เวทีโครงการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประชุมสมัชชาการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจังหวัดขอนแก่น “ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและอาชีพ (City of Hope) ครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566

ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม

พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 เรื่อง ได้แก่

  1. การพัฒนาเด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพ
  2. การสร้างโอกาสการเรียนรู้และการมีงานทำของเด็กนอกระบบ
  3. การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
  4. ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เมืองแห่งโอกาส

เพื่อหาฉันทามติและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความเสมอภาคและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของจังหวัดขอนแก่น

สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม

  1. นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
  2. ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. 
  3. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสมัชชาจังหวัดขอนแก่น
  4. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. 
  5. ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน รวม 65 หน่วยงาน 

ผลจากการมีส่วนร่วม/ระดมความคิดเห็น

ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและบูรณาการงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นร่วมกัน โดยใช้กระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยสู่การสร้างการความเป็นเจ้าของร่วมกัน ตั้งแต่ร่วมสะท้อนปัญหา ร่วมกำหนดเป้าหมายและทิศทาง ร่วมพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนสานพลังขับเคลื่อนหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีพลังในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสของทั้งจังหวัด รวมถึงเด็กและเยาวชน

การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน

นำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยหลังจากนี้ภาคีเครือข่ายสมัชชาฯ จะได้จัดตั้งหน่วยงานหลักเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ประสานภาคีเครือข่ายเพื่อการทำงานเชิงรุก พัฒนากลไก ระบบข้อมูล และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ประเมินผล สร้างการรับรู้ และเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอและให้คำปรึกษากับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง มุ่งเน้นการพัฒนาระบบและกลไกจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ตามช่วงวัย มีโภชนาการและสุขภาวะที่ดี ร่วมกันการค้นหา ดูแล และส่งต่อโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถพัฒนาตนเองบนเงื่อนไขข้อจำกัด นำไปสู่การมีอาชีพและรายได้ ตลอดจนร่วมกันสร้างระบบนิเวศ บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย บูรณาการทุนวัฒนธรรม ทุนท้องถิ่น นวัตกรรมเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้


2. เวทีขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา และเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม

เสนอร่าง Roadmap และ Workshop ออกแบบการทำงานในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตรงจุดปัญหา สลายปมในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงชี้ชัดว่าอะไรคือช่องว่างและอุปสรรคการทำงาน พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาเพื่อเดินหน้า และหาแนวทางการทำงานเชิงรุกในการดูแลเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษา

สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม

  1. ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  2. ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. 
  3. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.
  4. ตัวแทน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  5. ภาคีเครือข่าย จาก  25 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม อุบลราชธานี กาญจนบุรี ตาก ตรัง ปัตตานี สงขลา น่าน เชียงใหม่ นครราชสีมา สระแก้ว ราชบุรี บึงกาฬ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย พะเยา ระยอง สมุทรสงคราม สุรินทร์ ขอนแก่น
    สุราษฎร์ธานี ยะลา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

ผลจากการมีส่วนร่วม/ระดมความคิดเห็น

  • ขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมถึงเด็กปฐมวัยและช่วงวัยหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม
  • ดูแลประชากรวัยแรงงานที่ไม่เคยผ่านการศึกษาในระบบให้เข้าถึงช่องทางฝึกอบรมความรู้ทักษะอาชีพ สามารถพัฒนาตนเองและสร้างรายได้ยกระดับชีวิต
  • เข้าไปช่วยทำงานด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ ในระดับครัวเรือน
  • นำฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนมากที่สุด โดยเข้าไปดูแลช่วยเหลือให้ได้ทันการณ์ก่อนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงนำฐานข้อมูลไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป   

การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน

คณะทำงานจะบูรณาการเชื่อมโยงไปถึงโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนรายงานข้อมูลจากระดับตำบลไปที่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัด สำหรับเด็กเยาวชนที่มีความจำเป็นไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ ก็จะมีการประสานการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาช่องทางไปสู่การมีงานทำ เพราะเป้าหมายของ Thailand Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่การเรียนรู้นั้นต้องมีทางเลือก สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ เป็นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ หรือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ผ่านมาจึงมีการคิดค้นพัฒนาแนวทางต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โรงเรียนมือถือ โรงเรียน 3 ระบบ หน่วยจัดการเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมถึงกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education) ที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำงาน เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นค้นพบนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท และช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกให้เด็กเยาวชนยังคงอยู่ในการพัฒนาตัวเองได้ต่อไป