“มีแนวทางข้อเสนอจากครูเรื่องการขอลดเอกสารการประเมิน ให้ออกแบบการประเมินใหม่ตามความเป็นจริงของผู้เรียน โดยเชิญผู้ประเมินไปชมบรรยากาศการเรียนการสอนและให้ข้อแนะนำจากในชั้นเรียนจริง ส่วนการจัดอบรมจะทำเฉพาะช่วงปิดภาคเรียน เพื่อลดการออกจากพื้นที่และเวลาเดินทาง
“นี่เป็นอีกครั้งที่ครูพยายามส่งสัญญาณว่า อยากให้รับฟังว่าอะไรที่ครูมองว่าคือประโยชน์ต่อการเรียนการสอน หรือเรื่องใดที่ครูยังมองไม่เห็นแต่หน่วยงานภายนอกเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็อยากให้ช่วยพิสูจน์ให้ได้ว่าเมื่อเสียเวลาไปแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน หรือต่อการพัฒนาทักษะของครูและประสิทธิภาพของนักเรียนได้จริงแค่ไหน
“ถ้าเราไม่สามารถมีมาตรฐานตัวชี้วัดร่วมกันโดยพิสูจน์ได้ที่ตัวเด็ก ทุกฝ่ายก็จะเน้นไปที่การมีเอกสารเพื่อประเมินผลลัพธ์ต่าง ๆ ทั้งที่ถ้าเรามีข้อพิสูจน์คุณภาพที่ชัดเจนอยู่กับตัวผู้เรียนได้จริง แล้วทุกฝ่ายเข้าถึงได้ ดูได้ที่โรงเรียนได้ แลกเปลี่ยนเสนอความเห็นกับครูที่ชั้นเรียนได้ เพื่อนำข้อมูลจากตรงนั้นไปทำงานในขั้นต่อไป เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยลดภาระ และคืนเวลาให้ครูได้ใช้เวลาไปกับการเรียนการสอนได้มากขึ้น”
เป็นเรื่องที่สนใจกันมานับสิบปีแล้ว เรื่องการใช้เวลาของครูทั้งในและนอกห้องเรียน ว่าในแต่ละปีการศึกษาที่มีอยู่ราวสองร้อยวันเรียน คุณครูใช้เวลาไปกับอะไร?
อย่างที่ทราบกันดีว่าครูหลายท่านอุทิศเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของ 24 ชั่วโมง ไปกับการสอน เตรียมการสอน นอกจากนั้นยังมีงานธุรการหรืองานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง โดยเสียงหนึ่งที่ กสศ. ได้ยินผ่านการลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย คือครูส่วนใหญ่ไม่ได้มีเวลากับการสอนมากนัก เนื่องจากถูกภารกิจอื่น ๆ มาบดบัง และจากผลสำรวจตารางชีวิตครูไทย ในช่วงปี 2557 และ 2558 พบว่าคุณครูได้ถูกกิจกรรมอื่น ๆ ดึงให้ออกไปนอกชั้นเรียนอยู่ที่ 84 วัน ในปี 2557 (ร้อยละ 42) และ 65 วัน ในปี 2558 (ร้อยละ 32.5)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เวลาที่เสียไปนอกห้องเรียนเหล่านี้ คือการเบียดบังเวลาพักผ่อน เป็นต้นทางของความเครียดสะสม และทำให้ความตั้งใจของคนคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นครูถูกบั่นทอน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเดียวที่ทางกระทรวงศึกษาธิการเริ่มตื่นตัวเรื่องการลดภาระครู และได้เริ่มออกนโยบาย ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ ซึ่งผลคือทำให้แนวโน้มเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อผ่านมาถึงปัจจุบัน ปัญหาภาระงานที่กระทบต่อสวัสดิภาพและชีวิตครู ก็ยังคงถูกพูดถึง ประเด็นนี้กำลังบอกเราว่าการลดภาระงานครูยังเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“กสศ. ได้สำรวจผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ว่าปัญหาภาระงานครูคือเรื่องปกติสากลของอาชีพ หรือเกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยผลสำรวจจากประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี บ่งชี้ว่าครูในสามประเทศดังกล่าวประสบปัญหาที่คล้ายกัน แต่เพื่อแก้ไขปัญหา จึงมีการกำหนดมาตรการจัดการที่ชัดเจนตามมา เช่น เนเธอแลนด์กำหนดให้ชั่วโมงงานธุรการในโรงเรียนจะต้องไม่เกิน 6-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือโรงเรียนไหนที่พบว่ามีการใช้เวลานอกเหนือจากเวลางานปกติถึงร้อยละ 80 ก็จะพิจารณาให้แต่ละโรงเรียนที่ประสบปัญหา ต้องจัดการแก้ไขเพื่อลดภาระงานที่กระทบต่อสวัสดิภาพของครู ส่วนที่ประเทศอังกฤษและเยอรมนี จะมีการบันทึกข้อมูลและประเมินโดยหน่วยงานภายนอก ว่าครูใช้เวลาในและนอกห้องเรียนแค่ไหน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าครูสามารถใช้เวลาเฉลี่ยต่อสัปดาห์ได้กี่ชั่วโมงสำหรับงานนอกเหนือจากการสอน”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องภาระงานครูและการจัดการปัญหาจากสามประเทศในแถบยุโรป ทำให้เห็นถึงองค์ประกอบของการทำงาน คือ 1.การให้ความสำคัญของนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน 2.การกำหนดมาตรฐานว่าครูต้องทำงานในห้องเรียนกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือสามารถไปทำงานนอกห้องเรียนได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่องานสอนได้กี่ชั่วโมง 3.การใช้ข้อมูลเป็นฐานในการทำงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ของครูในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และ 4.การใช้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้เก็บบันทึก ประเมินผล เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“สี่องค์ประกอบนี้อาจเป็นเครื่องนำทางของเรา ในการออกมาตรการคืนครูสู่ห้องเรียน ด้วยการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน มีตัวเลขที่คาดหวังว่าครูควรใช้เวลาในห้องเรียนกี่ชั่วโมงต่อวันหรือต่อสัปดาห์เป็นเท่าไหร่ และต้องใช้ข้อมูลรายโรงเรียนมาออกแบบการทำงานตามบริบท รวมถึงมีการสุ่มตรวจผ่านกลไกที่เป็นอิสระ โดยถ้าทำได้ตามนี้ ก็น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้ชัดขึ้น”
จากผลสำรวจในต่างประเทศ ผู้จัดการ กสศ. ชวนย้อนกลับมา ‘คลี่ภาระงานครูไทย ว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่ดึงครูออกไปนอกห้องเรียน ซึ่งพบว่าอันดับ 1 เป็นกิจกรรมการประเมินในมิติต่าง ๆ ของโรงเรียนและครูที่ 39.68% อันดับ 2 กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน 27.78% อันดับ 3 การแข่งขันทางวิชาการต่าง ๆ 12.70% และอันดับ 4 การอบรมต่าง ๆ ที่ 12.70%

“แม้การประเมินหรือกิจกรรมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นจาก ‘ความตั้งใจที่ดีต่อโรงเรียน’ ที่เชื่อว่าการประเมินอย่างเข้มข้นจะช่วยให้คุณภาพโรงเรียนดีขึ้น เพียงแต่ว่าเมื่อเอาทุกการประเมินมารวมกันก็พบว่ามีจำนวนที่มากเกินไป และส่งผลกระทบต่อเป้าหมายหลัก คือการ ‘ให้เวลากับครูในการสอนนักเรียนอย่างมีคุณภาพ’ จนสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้จึงออกมาสวนทางกัน ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นจากผู้บริหารโรงเรียนที่ยังมองไม่เห็นภาพรวมจริง ๆ ว่าการมอบหมายงานหรือภารกิจหนึ่ง ครูจำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมตัว เตรียมเอกสาร หรือใช้เวลากับการฝึกฝนดูแลนักเรียนก่อนถึงกิจกรรมจริงไม่น้อย ไม่ได้ใช้เวลาแค่เฉพาะวันจัดกิจกรรมเท่านั้น เช่นเดียวกับการอบรมต่าง ๆ ที่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยหาทางให้ภาระไปตกที่ครูน้อยลง เช่นปรับการขอเข้าร่วมกิจกรรมเป็นทางออนไลน์ หรือใช้ศิลปะการเจรจาเพื่อปฏิเสธบางหัวข้ออบรมที่พิจารณาแล้วว่ายังไม่สำคัญ ณ เวลานั้น
“ถึงวันนี้ บนโจทย์ที่ตั้งต้นจาก 200 วันเรียน หน่วยงานเกี่ยวข้องได้กำหนดรูปแบบใหม่ของการจัดสรรเวลา ให้วันที่ใช้ไปกับงานนอกห้องเรียนคิดเป็นร้อยละ 42 หรือราว 84 วัน อาทิ การประเมินคุณภาพภายนอก 43 วัน การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน การอบรมจากภายนอก 10 วัน และการเขียนโครงการหรืองานธุรการ 12 วัน นอกจากนี้ยังมีแนวทางข้อเสนอจากครูเรื่องการขอลดเอกสารการประเมิน ให้ออกแบบการประเมินใหม่ตามความเป็นจริงของผู้เรียน โดยเชิญผู้ประเมินไปชมบรรยากาศการเรียนการสอนและให้ข้อแนะนำจากในชั้นเรียนจริง ส่วนการจัดอบรมจะทำเฉพาะช่วงปิดภาคเรียน เพื่อลดการออกจากพื้นที่และเวลาเดินทาง และทั้งนี้หากมีการทำงานร่วมกัน หรือมีกิจกรรมพบปะหรือฟังเสียงสะท้อน ระหว่างหน่วยงานผู้ประเมิน ผู้จัดอบรม หรือจัดการแข่งขันทักษะวิชาการต่าง ๆ กับผู้บริหารโรงเรียน ครู หรือตัวแทนชุมชน ก็เป็นไปได้ว่าการทำความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนกับการลดภาระงานครูก็อาจจะเดินไปในทิศทางเดียวกันได้”

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การใช้ข้อมูลสนับสนุนเพื่อบันทึกเวลาทำงาน รวมถึงใช้กำหนดระเบียบเพดานการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อความชัดเจนต่อการรับรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งยังถือเป็นหลักการสากลในทุกสาขาอาชีพ ฉะนั้นถ้ามีระบบบันทึกเวลาที่ใช้ในห้องเรียนของครูเพื่อสรุปผลเป็นรายสัปดาห์ ก็จะช่วยให้มองเห็นสถานการณ์ของแต่ละโรงเรียน ว่ามีครูจำนวนเท่าไหร่ที่ควรได้รับความดูแลคุ้มครองไม่ให้ทำงานหนักเกินกว่าที่เพดานกำหนด และสามารถจัดการแก้ไขให้ครูทุกคนได้กลับมามีสวัสดิภาพชีวิตที่เหมาะสม
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือความเห็นต่อการใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียน ซึ่งเสียงครูส่วนหนึ่งยอมรับว่าเวลาที่ใช้ไปกับกิจกรรมแข่งขันทางวิชาการเป็นเรื่องดี มีประโยชน์ต่อนักเรียน แต่จำเป็นต้องทำให้ไม่กระทบต่อเวลาการเรียนการสอนปกติ ส่วนกิจกรรมที่คิดว่าอาจไม่ได้เชื่อมโยงไปที่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยตรง คือเรื่องการประเมินคุณภาพภายนอก ที่ยังมีคำถามว่ารายงานที่สำเร็จออกมา ท้ายที่สุดแล้วนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร หรือการอบรมบางหัวข้อหรือหลายงานเสวนาจากหน่วยงานภายนอก ครูส่วนหนึ่งก็มองว่ายังไม่จำเป็นต่อการเรียนการสอน แต่ต้องเข้าร่วมด้วยความจำเป็น ทั้งที่เวลาเหล่านี้ควรได้ใช้ทุ่มเทไปกับห้องเรียนและนักเรียนมากกว่านี้

“และนี่เป็นอีกครั้งที่ครูพยายามส่งสัญญาณว่า อยากให้รับฟังว่าอะไรที่ครูมองว่าคือประโยชน์ต่อการเรียนการสอน หรือเรื่องใดที่ครูยังมองไม่เห็นแต่หน่วยงานภายนอกเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็อยากให้ช่วยพิสูจน์ให้ได้ว่าเมื่อเสียเวลาไปแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน หรือต่อการพัฒนาทักษะของครูและประสิทธิภาพของนักเรียนได้จริงแค่ไหน ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ มีข้อมูลที่ยืนยันได้ ก็จะทำให้ครูเข้าใจถึงความจำเป็นมากขึ้น ว่าเวลาที่เสียไปนั้นไม่ใช่เป็นภาระ แต่ถือเป็นหน้าที่ และนี่คืออีกเหตุผลหนึ่ง ที่แต่ละหน่วยงานจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนทุกการทำงานด้วยข้อมูล”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า หลังครบวาระสิบปีของการสำรวจเรื่องการใช้เวลาของครูตลอดเทอมการศึกษา กสศ. ได้เตรียมสำรวจอีกครั้งในปี 2568 เพื่อนำผลสำรวจมาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษหลังการเกิดขึ้นของนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน และเตรียมเผยแพร่รายงานในช่วงเดือนมกราคม 2569 เพื่อมอบเป็นของขวัญวันครู ผู้อุทิศชีวิตการทำงานแก่ลูกศิษย์ และจะผลักดันให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่เหมือนกับเป็น ‘Game Changer’ หรือ ‘ตัวเปลี่ยนเกมด้านการศึกษา’ ว่า “เราทราบถึงความหวังดีของทุกฝ่าย ว่าอยากเห็นปลายทางที่เด็กเยาวชนของเราจะได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถมีมาตรฐานตัวชี้วัดร่วมกันโดยพิสูจน์ได้ที่ตัวเด็ก ทุกฝ่ายก็จะเน้นไปที่การมีเอกสารเพื่อประเมินผลลัพธ์ต่าง ๆ ทั้งที่ถ้าเรามีข้อพิสูจน์คุณภาพที่ชัดเจนอยู่กับตัวผู้เรียนได้จริง แล้วทุกฝ่ายเข้าถึงได้ ดูที่โรงเรียนได้ แลกเปลี่ยนเสนอความเห็นกับครูที่ชั้นเรียนได้ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ทำงานในขั้นต่อไป เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยลดภาระ และคืนเวลาให้ครูได้ใช้ไปกับการเรียนการสอนได้มากขึ้น”