‘เมืองคอนโมเดล’ อบจ.นครศรีธรรมราช – ม.วลัยลักษณ์ – กสศ. ร่วม MOU สร้างต้นแบบผลิตและพัฒนากำลังคนท้องถิ่นจากเด็กขาดโอกาส สู่การบรรจุงานบุคลากรสาธารณสุขประจำชุมชน

‘เมืองคอนโมเดล’ อบจ.นครศรีธรรมราช – ม.วลัยลักษณ์ – กสศ. ร่วม MOU สร้างต้นแบบผลิตและพัฒนากำลังคนท้องถิ่นจากเด็กขาดโอกาส สู่การบรรจุงานบุคลากรสาธารณสุขประจำชุมชน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขจากเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพเต็มศักยภาพ พร้อมได้รับการบรรจุเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพของ อบจ. ในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง

ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างระบบพัฒนากำลังคนในระดับท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาทักษะวิชาชีพด้านสาธารณสุขให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และวางรากฐานระบบต้นแบบการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละพื้นที่

วาริน ชิณวงศ์

นางสาววาริน ชิณวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดโอกาสทางการศึกษา ผ่านการผลิตและพัฒนาบุคลากรสายสาธารณสุข

“อบจ. ตั้งใจจะร่วมมือกับทุกองค์กร เพื่อทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชดีกว่าเดิม และยินดีที่จะฟังทุกเสียง แม้บางเสียงจะมาจากบางคนที่เสียงเบาที่สุดในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงของคน 20% ของประเทศไทยที่มีรายได้ต่ำที่สุด ซึ่งอยู่ข้างล่างสุดของพีระมิด 

“อบจ. ตั้งใจดูแลครอบครัวจนข้ามรุ่นด้วยการศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น โดย อบจ. จะเข้าไปช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองเด็กเข้าเรียน ประคับประคองให้เขาสำเร็จการศึกษา โดยหวังว่าเยาวชนที่ได้เรียนหลักสูตรนี้จะกลายเป็นต้นแบบหรือโมเดลให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชนของพวกเขา ว่าทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความเหมาะสม นี่คือการเริ่มต้นที่แม้จะทำเรื่องยากและใช้เวลามากเห็นผลช้า แต่เชื่อว่าคือแนวทางที่ยั่งยืนและมั่นคง” นางสาววารินกล่าว

ผศ.ดร.อรเพ็ญ สุขะวัลลิ

ผศ.ดร.อรเพ็ญ สุขะวัลลิ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและภารกิจหลักในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย ด้านการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น โดยเฉพาะในสาขาผู้ช่วยพยาบาลซึ่งมีความต้องการสูงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เป็นภาคีร่วมดำเนินงานโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ.

“สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะร่วมกับ อบจ. และ กสศ. ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น ในการค้นหา คัดกรอง และสนับสนุนเยาวชนที่มีศักยภาพแต่ขาดทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในพื้นที่นครศรีธรรมราช ให้เข้ารับทุนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล รวมถึงออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ เช่น การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานจริงในศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพระดับอำเภอ

“ภารกิจนี้เป็นความหวังของพื้นที่นครศรีธรรมราช ในการสร้างผู้ช่วยพยาบาลซึ่งเป็นนักเรียนในท้องถิ่น เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้มีทั้งการศึกษา มีอาชีพ เป็นการตัดวงจรของความยากจน ขณะเดียวกัน จะเป็นอีกกำลังหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนตนเองด้วย” ผศ.ดร.อรเพ็ญ กล่าว

(กลาง) ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มุ่งขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้แนวทาง “การศึกษาที่เปลี่ยนชีวิตได้” ผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งมีเป้าหมายในการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนชั้น ม.6 ปวช. หรือเทียบเท่า ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้สามารถเรียนต่อในสายอาชีพ เพื่อยุติความยากจนที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์

ทั้งนี้ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุนระยะสั้น 1 ปี ได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้รับทุนสะสมรวม 6 รุ่น จำนวนรวม 2,013 คน เข้าเรียนในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ รวม 23 แห่ง ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ

“จากการทำงาน 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ ที่ใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี สสามารถสร้างรายได้เริ่มต้นอย่างน้อย 12,000 บาทต่อเดือน และอาจสูงถึง 25,000 บาท” 

จากการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม (Social Return on Investment: SROI) โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุน 1 ปี ในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ให้ค่า SROI เฉลี่ยอยู่ที่ 2.772 เท่า กล่าวคือ ทุก 1 บาทที่ลงทุน จะสร้างผลประโยชน์คืนสู่สังคมประมาณ 2.772 บาท ซึ่งสะท้อนถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการให้ทุนในระยะยาว

หลักสูตรนี้จึงเป็นหลักสูตรที่สามารถพลิกชีวิตน้อง ๆ ที่มาจากครอบครัวที่มาจากครอบครัวยากจนพิเศษ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 3,000 บาท ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและอาชีพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด พบว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจน/ยากจนพิเศษอยู่ประมาณ 36,000 คน 

โครงการนี้ไม่เพียงแต่ตั้งใจพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เท่านั้น แต่ยังตั้งใจพัฒนาความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีความสนใจมุ่งมั่นในการร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากรสายสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของอบจ. ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ฟื้นฟูระบบสุขภาพทุกช่วงวัย โดยมีแนวทางจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยในระยะพึ่งพิง รวมถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทั่วไป 

โดย อบจ.นครศรีธรรมราช มีแผนบรรจุบุคลากรสาธารณสุขประจำศูนย์ฟื้นฟูหรือหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่อย่างน้อยอำเภอละ 1 อัตรา ครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัด เพื่อให้เยาวชนในท้องถิ่นสามารถกลับมาทำงานในภูมิลำเนาอย่างเป็นรูปธรรม

“ทุกฝ่ายที่ร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ มีความตั้งใจและความเชื่อมั่นตรงกันว่า  ระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง จะทำให้มีกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่เข้มแข็งต่อไป ‘เมืองคอนโมเดล’ ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีโมเดลนี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะสร้างแรงบันดาลใจด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้กับอีกหลายจังหวัดในอนาคต” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.กล่าว