“ตอนนี้ผมมาผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่คุยได้ครับ คุยได้เลยถ้าเป็นเรื่องเด็กๆ ผมสะดวกตอบได้ตลอด”
สายแรกที่เราได้ติดต่อ ‘ไมตรี จำเริญสุขสกุล’ คือช่วงเวลาที่ไมตรีเพิ่งออกมาห้องผ่าตัด แต่เขาก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กๆ กองผักปิ้งเต็มที่
ไมตรีอาศัยหมู่บ้านกองผักปิ้ง สถานที่ที่ Google Map พาไปไม่ถึง (ไม่เชื่อลองกดค้นหาดูได้) ที่อยู่ในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และนับเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่าที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันจากจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นพื้นที่ที่กรมการปกครองกากบาทสีแดงว่าเป็นพื้นที่ชุกชุมไปด้วยยาเสพติด
“เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นลาหู่ บางคนพ่อแม่เสียชีวิตอาศัยอยู่กับตายาย บางคนพ่อไม่ใช่คนไทย แม่ติดคุก ต้องหาเลี้ยงตัวเอง ดมกาวบ้าง ต้มท่อมบ้าง ตอนแรกจะปล่อยผ่าน แต่มันทนดูไม่ได้จริงๆ เลยชวนเขามาทำกิจกรรมที่บ้านบ้าง” ไมตรีเล่าถึงพื้นหลังชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ให้ฟัง

ปัญหาทับซ้อนที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในพื้นที่ไม่ใช่แค่การมองเห็นว่าเด็กเกเร ติดยาเสพติด หรือไม่ไปโรงเรียน แต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่ลากยาวไปถึงภาวะของความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งการเข้าไปเรียนในโรงเรียนไม่ใช่ทางออกที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้
‘โครงการการพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำทีมโดยอาจารย์กริ่งกาญจน์ เจริญกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน จึงปักหมุดทำงานที่กองผักปิ้ง เพื่อสอนเด็กๆ ในพื้นที่เรียนรู้เรื่องสื่อ โดยออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบ Mobile Media Lab ซึ่งนับเป็น 1 ใน 4 มาตรการหลักของนโยบาย Thailand Zero Dropout ผ่านการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพื่อสร้างทางเลือกให้เด็กหลุดระบบมีพื้นที่ของการเรียนรู้อีกครั้ง
การทำงานจึงเป็นไปแบบ ‘การออกแบบจากคนนอก’ ที่มีการหนุนเสริมจากเครือข่ายทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และ ‘ปรับใช้จากคนใน’ โดยไมตรีที่มีบ้านเขาเป็นศูนย์กลางของเด็กๆ ในหมู่บ้าน ที่ถูกเรียกว่า ‘พี่เลี้ยงกองผักปิ้ง’

‘ถ้าครอบครัวเราไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ’ พี่เลี้ยงกองผักปิ้ง คนที่ทนฟังเด็กๆ โดนด่าออกเสียงตามสายในหมู่บ้านไม่ได้
ไมตรี อยู่กับภรรยา ยุพิน ซาจ๊ะ และลูกชายลูกสาว ครอบครัวมีทั้งหมด 4 คน โดยพื้นฐานเดิมไมตรีเป็นนักกิจกรรม จากการที่เขาได้ออกไปเห็นโลกข้างนอกว่าเป็นอย่างไร และอยากเห็นหมู่บ้านของเขานั้นดีขึ้นยังไง
“หมู่บ้านเราถูกมองว่าจนที่สุดในเมืองนะ ถ้าเทียบกับชนเผ่าไทใหญ่ หรือจีนฮ้อ เด็กที่นี่อายุ 11-12 ก็ทำงานรับจ้างกันแล้ว บางคนก็ต้องหาเลี้ยงตัวเองรับจ้างตัดกระเทียมวันละ 100-200”
คนทั่วไปอาจจะคุ้นกับชื่อไมตรีอยู่บ้าง จากข่าวของ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เด็กชนเผ่าและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยที่ไมตรีนั้นเป็นผู้ฝึกสอนชัยภูมิสำหรับการทำหนังสารคดี หรือแม้แต่พาทำกิจกรรมรณรงค์เล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้าน
“ผมยอมรับนะว่าพอมีเรื่องนั้นพลังใจผมไม่มีเลย ไม่อยากทำอะไร จนเมื่อปีสองปีมานี่แหละถึงฟื้นขึ้นมาได้เพราะผมสงสารเด็กๆ ในหมู่บ้าน กับสงสารลูกผมด้วย”
ชัยภูมิ ป่าแส กลายเป็นเรื่องราวในอดีตของหมู่บ้านกองผักปิ้ง แต่ปัจจุบันไมตรียังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ของเด็กๆ ในหมู่บ้าน

“เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะว่าการไปโรงเรียนต้องมีอาหารกิน มีเสื้อผ้าใส่ โรงเรียนบอกว่าฟรีก็จริง แต่ไปเรียนจริงๆ ก็ไม่ฟรี ค่าใช้จ่ายเยอะ เสื้อผ้าต้องซื้อ สมุดดินสอต้องมี ชุดเนตรนารี ชุดลูกเสือต้องมี ซึ่งเด็กพวกนี้หาเงินมาจ่ายไม่ได้เลย เพราะเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่เป็นเสาหลักของครอบครัวแต่กลับติดคุก สุดท้ายเด็กๆ ก็ลาออกกันหมด”
ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เด็กกองผักปิ้งหลุดระบบ แม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ใกล้ในระยะมองเห็น แต่สิ่งหนึ่งที่ฉายชัดมากกว่านั้นคือปัญหาภายในผ่านอคติ ไม่เว้นแม้แต่ลูกของไมตรีเองก็โดนเช่นกัน
“โรงเรียนชอบเอาเด็กเผ่าลาหู่ไปเทียบกับเผ่าไทใหญ่ พื้นที่ตรงนี้มีหลายเผ่า ถ้าดีสุดก็จะเป็นจีนฮ่อ ไทใหญ่ก็จะดีลงมา ลาหู่ที่นี่จะแย่มากในเรื่องสถานะ ทั้งเรื่องการศึกษา อาชีพ เกือบทุกด้าน ถูกตีตราด้วย เวลาไปเรียนก็จะมีปัญหาเรื่องนี้คือครูจะไม่เข้าใจว่าสภาวะของชุมชนต่างกัน แต่ละบ้านต่างกัน” ไมตรีเล่าจากประสบการณ์ที่พบเจอให้ฟัง
เหตุการณ์หนึ่งที่ไมตรีจำฝังใจคือการที่คนในหมู่บ้านมองว่าเด็กๆ เกเร ไม่เรียนหนังสือ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
“ผู้นำหมู่บ้านก็ประกาศกระจายเสียง เช่นเวลาของหาย เขาจะพูดชื่อออกมาเลยว่าเด็กคนนี้ขโมยของนะ ทำไม่ดีนะ ห้ามเข้าใกล้โรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่เป็นเรื่องจริงก็ได้ แต่เด็กๆ พวกนี้ถูกตัดสินไปแล้ว”
เรื่องยาเสพติดก็เช่นกัน ไมตรียอมรับว่าพื้นที่กองผักปิ้งเป็นสถานที่ที่ชุกชุมไปด้วยปัญหายาเสพติด เพราะสภาพแวดล้อมติดกับชายแดน

“เด็กบางคนก็เสพยานะ แต่เขามีเหตุผลคือต้องเสพยาเพื่อให้ตัวเองมีแรงทำงาน ถ้าเขาหมดแรงเขาก็จะไม่มีเงิน มันคือทางเลือกสุดท้ายที่เขาทำได้”
ยุพิน เสริมว่า “ที่นี่ถ้าครอบครัวเราไม่ทำ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครสนใจ แต่ละคนก็สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจว่าเด็กจะเป็นยังไง บางคนคิดแค่ว่าเลี้ยงให้ลูกมีกิน ไม่อดตาย เด็กจะโตมาแบบไหนเขาไม่ค่อยสนใจ”
‘พัก คุย เล่น นั่ง กิน นอน’ พื้นที่ปลอดภัยบ้านที่รู้กันของเด็กๆ กองผักปิ้ง
บ้านของไมตรี แบ่งเป็นส่วนลานบ้านที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ส่วนตัวบ้าน และหลังบ้านที่เป็นเล้าไก่ แต่ในทุกๆ วันลานโล่งหน้าบ้านของไมตรีจะมีเก้าอี้พลาสติกหลายตัววางไว้ หรือทุกเย็นจะมีมอเตอร์ไซค์หลายคันจอดเรียงราย
“งานอดิเรกของเด็กคือเจอกันที่นี่” ไมตรีชี้ที่พื้นที่โล่งหน้าบ้าน ซึ่งเป็น ‘บ้านที่รู้กัน’ ที่มักจะมีเด็กๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ชีวิตแวะเวียนเข้ามา ‘พัก คุย เล่น นั่ง กิน นอน’ และ ‘ทำกิจกรรม’ ตลอดเวลา
สิ่งที่ครอบครัวไมตรีทำคือการพาเด็กๆ ทำกิจกรรม เช่น สอนเต้นจะคึ (การเต้นเพื่อประกอบการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวลาหู่) หรือช่วยกันเขียนบทหนังสั้นเพื่อประกวดโครงการในจังหวัดเชียงใหม่
“ตอนเย็นหลังจากเด็กเลิกงาน หรือบางคนที่ยังเรียนอยู่เลิกเรียนก็จะมานั่งๆ นอนๆ ที่บ้าน บ้างก็เล่นเกม นั่งเล่นกีตาร์ บางคนจะนอนก็นอน ถ้าไม่นอน สิบโมงก็กลับ แล้วเด็กพอรู้ว่าเราไม่มีกับข้าว เขาก็เอาของเขามาทำกินที่นี่ มาแบ่งกัน ทำกินด้วยกัน วันไหนเรามีเลี้ยงเราก็เลี้ยงให้ แต่วันไหนไม่มีเราก็ไม่ได้เลี้ยง ” ยุพินเล่าถึงชีวิตของเด็กๆ ในรั้วบริเวณบ้าน

ไมตรีอธิบายเพิ่มว่า “เด็กบางคนไม่มีพ่อแม่ดูแล ไม่ได้ถูกสอน แล้วเด็กก็มาที่นี่ก็มาระบายให้เราฟังบ้าง คุยเล่นบ้าง มาเล่นกับลูกเราบ้างที่สนิทกันไปหมดแล้ว ซึ่งบางคนเขาทำงานทั้งวันเขาก็มาผ่อนคลายที่นี่ บางคนมีบ้านที่ไม่ใช่บ้านด้วยซ้ำ หรือบางคนไม่ได้เรียนแล้วตอนไม่มีงานก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนก็มาอยู่ที่นี่”
หน้าบ้านคือพื้นที่ที่เด็กๆ ได้ระบาย และทำให้ไมตรี ยุพินเข้าใกล้เด็กมากขึ้น จนกลายเป็นสายสัมพันธ์แบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่ใช่พ่อแม่ จากการใช้วิธีการพูดคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน อย่างการชวนเด็กกินข้าวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน จนถึงวันหนึ่งเด็กคนนั้นก็จะเปิดใจเล่าทุกอย่างให้ฟังโดยที่พวกเขาไม่ต้องถาม ทำให้ไมตรีและยุพินรู้ว่าจะต้องช่วยเหลือเด็กคนนี้อย่างไร
“ตอนใหม่ๆ ที่เปิดบ้านอะไรก็หายหมด ผมเห็นผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็มานั่งคุยปรับความคิดเขาใหม่ ตอนนี้จะใช้จะหยิบอะไรเขาจะมาขอ ‘พี่อันนี้ผมกินได้มั้ยครับ’ ‘ผมหิวครับ’ เราก็จะอนุญาตไปไม่ใช่ว่าเราหวง แต่เราอยากให้คุณเปลี่ยนเป็นคนที่ใช้การได้”
วิธีการของไมตรีและยุพิน เริ่มจากการสอนให้เด็กสร้างเป้าหมายในชีวิตว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากพัฒนาไปด้านไหน และเมื่อเด็กมีเป้าหมาย พวกเขาก็จะหาวิธีส่งเสริมและชี้นำไปในเส้นทางที่สามารถเข้าใกล้ฝันได้มากขึ้น แต่จะไม่ได้บังคับตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าเด็กต้องการทำหรือเปล่า
ในตอนนี้ การเข้าออกที่นี่แทบจะเป็นกิจวัตรของเด็กๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า ไม่จำเป็นต้องมีบัตรผ่าน หรือลงชื่อจอง เพราะถ้าเด็กคนไหนอยากเดินเข้ามาก็สามารถเข้ามาได้ทุกเมื่อ อยากนอนค้างก็ทำได้ หรือถ้าไม่มีอะไรกินก็เข้ามากินข้าวที่บ้านหลังนี้ได้

ยุพินเสริมว่า ส่วนใหญ่ที่นี่จะผัดบะหมี่ ทำก๋วยเตี๋ยวให้กิน เพราะเส้นมันถูก เช่นเดียวกับที่ไมตรีย้ำว่า ครอบครัวก็ไม่ได้ร่ำรวย เรียกว่ายากจนก็ได้
การไม่ตัดสินจากไมตรีและยุพิน ทำให้เด็กๆ มาที่บ้านหลังนี้ จนเกิดความไว้ใจเหมือนที่อาจารย์กริ่งกาญจน์เล่าให้ฟังว่า “เด็กเขาเดินเข้าไปบ้านไมตรีแล้วบอกว่าผมอยากเลิกยา”
‘ถึงมีความฝันก็แค่นั้น เพราะท้องต้องอิ่มก่อน’ การศึกษาต้องยืดหยุ่นมากพอเพื่อปรับเข้ากับบริบทของเด็กแต่ละคน
ความไว้ใจ และความสบายใจของเด็กๆ ที่มีต่อครอบครัวไมตรี ทำให้อาจารย์กริ่งกาญจน์ เจริญกุล และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงกองผักปิ้งใน ‘โครงการการพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบ Mobile Media Lab
“เราเห็นว่าเด็กๆ ในพื้นที่ทำสื่อได้ แค่เขายังขาดทักษะบางเรื่อง เราเลยใช้สื่อเป็นตัวเบิกทาง สอนให้เขาถ่ายคลิปเป็น ตัดต่อได้ แล้วเรามีเครื่องมือให้ยืม แล้วค่อยเสริมทักษะอาชีพให้เขา เลยพูดรวมๆ ว่าให้เขาสร้างคอนเทนต์จากสิ่งที่เขามีผลิตสื่อให้เป็น พูดและนำเสนอให้เป็น เรียนรู้ช่องทางการเผยแพร่ และอาจจะต่อยอดมาเป็นรายได้” อ.กริ่งกาญจน์กล่าว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะจากการเก็บข้อมูลเด็กๆ ในพื้นที่พบว่า “ส่วนหนึ่งไม่ได้อยากเรียนจบ แต่อยากมีงานทำมากกว่า”
ไมตรีเล่าว่า “เด็กๆ เขามีความฝันคืออยากเปิดร้านขายของชำ อยากเป็นช่างไฟ ไม่ได้ฝันไปไกล เพราะมันทำให้เห็นรายได้ทันที ผมเข้าใจในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมว่าเรื่องปากท้องไม่ควรเป็นเรื่องหลักที่จะส่งเสริมให้กับเด็ก แต่แนวคิดนี้ อาจเหมาะกับเด็กพื้นที่อื่น แต่เด็กๆ ที่นี่ พวกเขาต้องเอาปากท้องให้รอดก่อน”

ไมตรีมองว่ากิจกรรมสามารถเป็นตัวชี้นำความสนใจ การเรียนรู้ และอนาคตของเด็กๆ ได้ แต่มันจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อพวกเขามีอันจะกิน ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง
“การมีกินเพื่อปากท้องของเขาสำคัญกว่าอย่างอื่น ถ้าเขามีปากท้องได้ มีอาหารได้ เราค่อยๆ เพิ่มอย่างอื่นเข้าไปได้ ประเด็นคือ เขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีข้าวกิน แค่นั้นเอง”
จุดนี้เองที่ทำให้อ.กริ่งกาญจน์ และทีมหันกลับมาปรับปรุงโครงการ จนสรุปเป็นการสร้างสื่อที่กินได้ เพื่อต่อยอดทักษะการสร้างอาชีพแก่ผู้เรียน รวมถึงร่วมมือกับศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เพื่อเอากิจกรรมนั้นไปเทียบหลักสูตรจบได้วุฒิการศึกษาเทียบเท่าการเรียนในโรงเรียนได้ ภายใต้โครงการการพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“วิธีการคือให้เด็กๆ โพสต์ผลงานการทำงานแต่ละวันลงสื่อโซเชียลของตัวเอง แล้วจะมีทีมครูจากไร่ส้มวิทยาเข้ามาสอบถาม รวมถึงวัดทักษะความรู้เพื่อเอาไปเข้าเกณฑ์เทียบวุฒิ เช่น เด็กชายเดวิดไปรับจ้างขุดกระเทียม ก็จะโพสต์รูปลงเฟสบุ๊คว่าวันนี้เขาขุดกระเทียม คุณครูก็จะเข้าไปคอมเมนต์ว่าขุดกระเทียม 1 ไร่ ใช้เวลาเท่าไร มีการคำนวณอย่างไร อุปกรณ์ต้องใช้อะไร หรือแม้แต่การคำนวณน้ำหนักของผลผลิตที่เขาเก็บได้” อ.กริ่งกาญจน์ อธิบายวิธีการเรียนรู้แบบฉบับกองผักปิ้งให้ฟัง

“ผมต้องขอบคุณทางอ.แม่โจ้นะที่สอนเด็กๆ ทำสื่อ หรือการทำงานแล้วเอาไปเทียบวุฒิได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมทำไม่ได้จริง เพราะเด็กบางคนอยากเรียน เด็กบางคนจำเป็นต้องใช้วุฒิเพื่ออยู่ในไทยแบบไม่ผิดกฎหมาย” ไมตรีกล่าว
ยุพินเสริมว่าเด็กบางคนในกองผักปิ้งไม่มีบัตรประชาชนมีแต่บัตรประจำตัวสีชมพู ทำให้การมีวุฒิการศึกษาสามารถการันตีว่าเขาอยู่ในประเทศไทยได้ จะไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง
เมื่อถามว่าแล้วการเรียนแบบไหนเหมาะกับเด็กที่นี่จริงๆ ยุพินตอบว่าคือแบบนี้แหละ แบบที่อ.กริ่งกาญจน์ออกแบบร่วมกับทีม และสอบถามความเป็นไปได้จากพวกเขา
“ก็คือการเรียนแบบยืดหยุ่น การใช้ชีวิตของเขาคือการเรียนรู้ของเขา เด็กได้เรียนรู้ชีวิตของเขาจริงๆ แล้วเขามีเป้าหมายที่อยากจะเรียนเจาะจง ไม่ต้องเรียนเยอะแยะ เพราะบางอย่างไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง”

ความปรารถนาของพี่เลี้ยงกองผักปิ้งคือ เลี้ยงตัวเองให้ได้ และมีพื้นที่จริงๆ สำหรับเขา
สิ่งที่ไมตรีคาดหวังจากเด็กๆ ที่สุดคือพวกเขาเลี้ยงปากท้องตัวเองได้
“ผมอยากให้เขามีอนาคต อยากให้มีอาชีพ ไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร อย่างน้อยก็ต้องมีข้าวสารให้เขา ไม่ต้องดิ้นรนหาเงิน 1400 ซื้อข้าวกระสอบทุกสิ้นเดือน เช่นสอนเขาเลี้ยงไก่ ที่ก็ไปขอทุนจากนายทุนมาเหมือนกัน”
“คอกไก่เราให้เด็กเขาสร้างกันเองนะ”
ยุพินชี้ให้เราดูว่าคอกไก่บริเวณนี้เป็นฝีมือของเด็กๆ ภายใต้โครงการที่เธอและไมตรีเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งยุพินอธิบายว่าโครงการจะจัดหาอุปกรณ์สำหรับทำคอกไก่ และจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาให้เด็กๆ เลี้ยง โดยเด็กๆ จะมีหน้าที่เวียนกันมาให้น้ำ เติมข้าว และเมื่อไก่โตเต็มวัยก็จะถูกขายให้กับคนที่สนใจ สร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ในโครงการ

การเลี้ยงไก่เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่ไมตรีและยุพินจัดสรรไว้ให้กับเด็กที่นี่ เพราะพวกเขามองว่าหากเด็กกลุ่มนี้มีรายได้จากการเลี้ยงไก่ พวกเขาจะถอยห่างจากยาเสพติดมาได้ก้าวหนึ่ง
“ทุกวันนี้เขาได้เห็นเลยว่าไม่ใช่แค่การเลี้ยงไก่ มีการแบ่งหน้าที่ แต่ละกลุ่มก็ได้มีเวลาคุยกัน ตั้งเป้ากันว่าทำอะไรบ้าง ผิดพลาดตรงไหนก็ชี้ให้กัน มันพัฒนาเร็วมาก ไก่ไม่ได้พัฒนาไปไหนเลย แต่คนพัฒนาไปไกลกว่าที่เราคิดไว้เยอะ” ไมตรีเล่าให้ฟัง
สิ่งที่อยากเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ในมุมไมตรีคือการมีพื้นที่ที่เด็กไปได้จริงๆ นอกเหนือจากบ้านของเขา
“ผมคุยกับ อ.กริ่งไว้ว่าอยากได้ศูนย์การเรียนรู้ แต่ว่าเราไม่มีสถานที่ เราอยากได้พื้นที่ที่รวมตัวกันได้ เราอยากมีพื้นที่ของเด็ก ในหมู่บ้านนี้ไม่มีพื้นที่นี้เลยนะ ถ้าใช้บ้านผมกิจกรรมแบบที่เป็นอยู่ แต่ถ้าถ้าผมปิดประตูรั้วเมื่อไหร่ก็คือไม่มีพื้นที่แล้ว ผมอยากเอาปูทะเลมาเลี้ยงบนดอย เพื่อทำตลาดดู เป็นของเด็กนะ ไม่ใช่ของผม แล้วให้เด็กส่งออกขาย ซึ่งผมก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ แล้วพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ด้วยใจรักจริงๆ เด็กมันก็จะรักตรงนี้ ไม่ใช่แค่ผมรักคนเดียว ทุกคนก็จะรักพื้นที่นี้”
ยุพินเสริมว่าสมมติเด็กจะเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู ก็ไม่มีพื้นที่ เลี้ยงได้ก็แค่ไม่เยอะ ก็ไม่พอขาย ถ้าเรามีพื้นที่ให้เด็กได้เลี้ยง หาให้เขากิน เรื่องทำกิจกรรมหรือสร้างตัวเองขึ้นมาอันนั้นเป็นงานที่สอง การเรียนรู้ต่างๆ ก็จะไปได้ไว

ลานหน้าบ้านที่เดิมก็เคยเป็นมินิสนามฟุตบอลของเด็กๆ จากคำบอกเล่าของยุพิน “เด็กเล่นฟุตบอลกันตรงนี้แล้วก็เตะเข้าบ้านเราด้วยนะ ตอนมีลูกเปตองที่อาจารย์คนหนึ่งเอามาให้ เด็กก็เล่นกันอยู่ตรงนี้ ถ้าที่ตรงนี้ปิด เด็กๆ เขาก็ไม่มีที่ให้ไปเล่น”
“จุดแข็งของเด็กๆ กองผักปิ้งนะคือการที่ผมรู้สึกว่าจริงใจ มันพูดจริงทำจริง เขารับปากแล้วก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ต่อให้เรามองไม่เห็นเขาก็ทำจริงๆ ถ้าเขาคิดว่าจะไม่ทำ ต่อให้ยังไงเขาก็จะไม่รับปาก อย่างการที่บอกให้เขาเลิกบุหรี่ เลิกอบายมุขถ้าเขารับปากคือทำจะก็ทำให้ได้ แต่ถ้าเขาคิดว่าเขาจะทำไม่ได้เขาจะไม่รับปากเด็ดขาด” ไมตรีทิ้งท้ายเมื่อนิยามถึงเด็กๆ กองผักปิ้ง

เรื่อง : มยุรา ยะทา
ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ