พลัง ‘โค้ชชุมชน’ พลิกชีวิตชาวจะนะ จาก ‘ส้มจุก’ ใกล้สูญพันธุ์ สู่ศูนย์กลางนิเวศอาชีพที่หล่อเลี้ยงทั้งชุมชน

พลัง ‘โค้ชชุมชน’ พลิกชีวิตชาวจะนะ จาก ‘ส้มจุก’ ใกล้สูญพันธุ์ สู่ศูนย์กลางนิเวศอาชีพที่หล่อเลี้ยงทั้งชุมชน

จากผลไม้ประจำถิ่นรสอร่อยที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
‘ส้มจุก’ เคยเกือบจะเลือนหายไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อราวสิบปีก่อน ด้วยกระแสความนิยมที่ลดลง และปัญหาราคาขายที่ไม่คุ้มทุน ทำให้เกษตรกรในชุมชนทยอยเลิกปลูก จนต้นส้มจุกเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในพื้นที่

แต่แล้ววันหนึ่ง…
เมื่อคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาจับมือกัน สร้าง ‘แหล่งเรียนรู้ชุมชน’ ด้วยทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ กสศ. ผลไม้ที่เคยใกล้สูญพันธุ์ก็กลับมาสร้างชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมกับปลุกความหวังและรายได้ให้แก่ผู้คน

ไม่เพียงแค่การฟื้นคืนของสวนส้ม หากแต่ส้มจุกยังกลายมาเป็น ศูนย์กลางนิเวศอาชีพของชาวจะนะ และเป็นเวทีส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ให้เกิดความยั่งยืนได้อีกครั้ง

เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นจากพลังของ “โค้ชชุมชน” และความร่วมมือของหลายฝ่าย ที่ใช้ ‘ความตั้งใจจริง’ เป็นต้นทุน ฝ่าฟันทุกความท้าทายตลอด 6 ปี จนชุมชนส้มจุกจะนะ ก้าวข้ามการเป็นที่พึ่งของคนในท้องถิ่นสู่ โมเดลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่ถอดบทเรียนได้จริง และต่อยอดสู่ชุมชนอื่นทั่วประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

…และเรื่องราวทั้งหมดนี้ ได้ถูกถ่ายทอดผ่าน เวที Community Talk ‘ส้มจุก…ปลุกชีวิตคนจะนะ’ จากการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพื่อขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมโอกาสเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ส้มจุกต้นสุดท้าย กับแรงบันดาลใจที่เปลี่ยนชีวิตทั้งตำบล

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน ผลไม้ประจำถิ่นที่เคยเป็นหน้าตาของชาวจะนะ มีอยู่แทบทุกบ้าน เหลือเพียงไม่ถึงสิบต้นในตำบลแค

อาหมัด หนิเหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแค เล่าย้อนความหลังว่า “ตอนผมเด็ก ๆ เคยวิ่งเล่นในสวน ไปตรงไหนก็ชนกับต้นส้มจุก เพราะมันมีมากมายไม่หวาดไหว”

แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นและก้าวสู่บทบาทผู้นำท้องถิ่น ภาพที่เห็นกลับตรงกันข้าม สวนส้มที่เคยคึกคักแทบหายไปหมด

ภาพความทรงจำในวัยเยาว์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาและ อบต.แค ไม่ยอมปล่อยให้ส้มจุกหายไปจากชุมชน จึงได้ร่วมมือกับ วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ ช่วยกันคิด หาหนทาง และลงมือฟื้นฟู ตั้งงบประมาณสนับสนุนเกษตรกรที่ยังปลูกอยู่ ชวนคนในชุมชนกลับมาปลูกใหม่แบบคนละไม้คนละมือ และประสานสำนักงานเกษตรอำเภอเข้ามาช่วยผลักดันอย่างจริงจัง

“จะทำยังไงกันดีเพื่อไม่ให้เรื่องราวของส้มจุกหลงเหลือไว้เพียงอดีตที่เล่าสู่กันฟังเท่านั้น”

(ซ้าย) อาหมัด หนิเหม

(อาหมัด หนิเหม นายก อบต.แค คนซ้ายมือจากภาพ)

หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อในปี 2562 พวกเขาพบว่า กสศ. มีโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะประชากรวัยแรงงานนอกระบบ หรือปัจจุบันคือ ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน อบต.แค จึงยื่นข้อเสนอและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตำบลแคก็กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องถึง 6 ปีเต็ม

“เราสามารถถอดบทเรียนจากทุกช่วงไทม์ไลน์ได้ชัดเจน ตั้งแต่ปีแรกที่ส้มจุกดึงดูดผู้สนใจเข้ามาในฐานะสื่อกลางของการเรียนรู้ จากนั้นค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นเป็นนิเวศอาชีพภายใต้บริบทชุมชน”

จากการฟื้นฟูต้นส้มจุก โครงการนี้ได้เติบโตเป็น ‘แหล่งเรียนรู้ชุมชน’ ที่ดึงดูดผู้คนเข้ามาเรียนรู้ในฐานะ ‘สื่อกลางของการเรียนรู้’ ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาเป็น “นิเวศอาชีพ” ที่สร้างรายได้ภายใต้บริบทชุมชน  

และต่อยอดอีกขั้นสู่การทำงานร่วมกับเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ขยายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมคนหลากหลายวัย และเชื่อมโยงเป็น ‘นิเวศครอบครัวตื่นรู้’ ผ่านการทำงานรูปแบบ Family Coach ที่โค้ชชุมชนลงพื้นที่จริง ดูแลกันแบบใกล้ชิด

จากผู้เรียนรู้ สู่โค้ชผู้เปลี่ยนชีวิตในชุมชน

คมสัน หลีขาหรี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านส้มจุกจากสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ เล่าย้อนถึงเส้นทางการเติบโตของผู้คนในโครงการ ตั้งแต่วันที่ทุกคนยังเป็นเพียง ‘ผู้เรียนรู้’ ที่ทำตามแนวทางที่กำหนดไว้ ไปจนถึงวันที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็น ‘คณะทำงาน’ เป็น ‘วิทยากร’ และต่อยอดเป็น ‘โค้ชชุมชน’ ที่ทำหน้าที่ไม่เพียงแค่สอน แต่พาให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ

เขาเน้นย้ำว่า การเติบโตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มาจากการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายชัดเจน ที่สำคัญผู้ที่จะโค้ชคนอื่นได้ต้องมีความรับผิดชอบ และอยู่เคียงข้างผู้เรียนรู้ตลอดกระบวนการ ไม่ปล่อยมือ

คมสัน หลีขาหรี

“ในช่วงปี 2566 เมื่อเป้าหมายของโครงการขยายครอบคลุมไปถึงน้อง ๆ เยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาด้วย คณะทำงานโค้ชชุมชนได้ลงพื้นที่ไปหาครอบครัวต่าง ๆ เราได้พบโจทย์ชีวิตที่หลากหลายขึ้น เช่น มีน้องที่ต้องดูแลผู้ปกครองที่เป็นอัมพฤกษ์ ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 เราก็ลองคุยกับผู้ปกครอง คุยกับตัวเด็ก จนหาทางให้น้องกลับมาเรียนต่อ พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางการประกอบอาชีพไปพร้อมกัน”

ทีมงานไม่ได้หยุดอยู่แค่การรับรู้ แต่ร่วมกันหาทางออก เริ่มจากพูดคุย ทำความเข้าใจ แล้วออกแบบเส้นทางให้เด็กได้กลับมาเรียนควบคู่กับการเรียนรู้อาชีพ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะมี ‘โค้ชชุมชน’ ที่รู้จักพื้นที่ รู้จักผู้คน และรู้ว่าจะเชื่อมโอกาสให้ตรงกับชีวิตแต่ละคนได้อย่างไร

ส้มจุก สู่การสร้างอาชีพที่หลากหลาย

(กลาง) อาหมัด หลีขาหรี

อาหมัด หลีขาหรี แกนนำชุมชนบ้านแคเหนือ เล่าถึงเส้นทางการเติบโตของ ‘วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ’ ว่า หลังจากจัดตั้งสำเร็จได้ราวสองปี ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของ กสศ. เริ่มเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่

เมื่อได้รับทุนสนับสนุน ชุมชนจึงเริ่มพัฒนา ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ รุ่นแรกจำนวน 50 คน โดยมีกำลังคนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อีก 10 คน พอเข้าสู่ปีที่ 2 หลายคนในกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้เริ่มยกระดับขึ้นมาเป็นวิทยากรด้วยตนเอง

ในปี 2567 กสศ. ได้วางโจทย์ให้โครงการขยายผลออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะจากที่เคยโฟกัสแค่ ‘ส้มจุก’ โครงการก็เริ่มนำโมเดล Family Coach เข้ามาใช้ และขยายขอบเขตออกไปสู่หลากหลายอาชีพในชุมชน

มีทั้งโค้ชเกษตรด้านอื่น ๆ และโค้ชอาชีพที่หลากหลาย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเคยเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงประเทศเกาหลี ก็เข้ามาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนด้วย

การทำงานได้ยกระดับเป็นระบบมากยิ่งขึ้น จนเกิดการจัดตั้ง ‘สภาเสมอภาค 3 ตำบล’ พร้อมกับการสร้าง ‘หน่วยพัฒนาการเรียนรู้’ และ ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งหมดนี้เติบโตไปพร้อมกันภายใต้แนวคิดส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการได้จุดประกายอาชีพมากกว่า 15 ประเภท ตั้งแต่การเลี้ยงผึ้ง การซ่อมรถ ไปจนถึงการปลูกผัก ที่สำคัญ เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ บางคนเข้ามาเรียนรู้ ทดลองฝึกอาชีพเพื่อค้นหาสิ่งที่ชอบ และเริ่มมองเห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้นทีละน้อย

คนเล็ก ๆ ในชุมชน กับบทบาทโค้ชที่เปลี่ยนชีวิตคนรอบตัว

ซูจีนา หัสเอียด

ซูจีนา หัสเอียด คือหนึ่งใน ‘ผลผลิต’ ที่เกิดจากการพัฒนาคนของโครงการส้มจุกจะนะ เดิมทีเธอเป็นเกษตรกรในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยความตั้งใจในการเรียนรู้และเปิดใจรับโอกาส เธอค่อย ๆ ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็น ‘วิทยากร’ และต่อยอดไปสู่การเป็น ‘Family Coach’ หรือ ‘โค้ชชุมชน’ อย่างเต็มตัว

ซูจีนาบอกว่า บทบาทของโค้ชไม่ใช่เพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องเป็นคนที่ ‘เสียสละ’ และ ‘มองภาพรวมออก’ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้เห็นปัญหาและทิศทางการเติบโตของตัวเองได้ชัดเจน


“สำหรับเรา ถ้าถามว่าตำแหน่งแห่งที่ของโค้ชอยู่ตรงไหนในการพัฒนาท้องถิ่น ก็ต้องตอบว่าเราคือจุดเล็ก ๆ ที่ประสานระหว่างคนในชุมชนกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การส่งต่อความรู้และการทำงานดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเราดีใจและภูมิใจมากที่มีส่วนช่วยให้ชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น”

(จากซ้าย 2 คนแรก) จารุวรรณ พาหุรัตน์, ภาภัค รักหมัด (คนที่สามจากขวา) จิตกร เดเจะหวัง

จากสถานีตำรวจร้าง สู่แหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมคนทุกช่วงวัย

ในอีกพื้นที่หนึ่ง ภาภัค รักหมัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหมอไทร ก็เห็นความสำคัญของโครงการนี้ตั้งแต่ต้น เขาเล่าว่า ท่าหมอไทรเคยมีต้นส้มจุกจำนวนมาก แต่วันหนึ่งมันก็ค่อย ๆ หายไปจากชุมชน เมื่อเห็นว่าโครงการนี้จะนำพาเยาวชนรุ่นใหม่เข้าสู่โลกกว้าง ผ่านการเรียนรู้อาชีพและทักษะชีวิต เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมโดยไม่ลังเล

อบต.ท่าหมอไทรเริ่มต้นจากการขอใช้พื้นที่สถานีตำรวจร้าง ปรับปรุงให้กลายเป็น ‘แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงส้มจุก’ และเพิ่มเติมกิจกรรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงเข้าไป
ด้วย เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนก็เริ่มสนใจและเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

สิ่งที่ทำ ไม่ได้แค่สร้างพื้นที่ แต่กำลังสร้างโอกาสให้คนในชุมชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ หรือเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีจุดยืนในสังคม และได้เรียนรู้สิ่งที่เหมาะกับเขา
 

ภาภัคกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า
“วันนี้เราสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ที่แข็งแรงและยั่งยืนพร้อมรองรับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าแรงงานนอกระบบ หรือเด็กเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไปที่จะเติบโตขึ้นมาได้แล้ว” 

ส้มจุกกับบทเรียนชีวิต: ครู สกร. และภารกิจพาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษากลับสู่โอกาสการเรียนรู้

จารุวรรณ พาหุรัตน์ ครูจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (สกร.) ตำบลคู เล่าว่าที่ผ่านมา เธอมีความตั้งใจอยากพาเด็กชายขอบ หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้กลับมาเรียนรู้และได้รับวุฒิการศึกษาควบคู่ไปกับการฝึกทักษะอาชีพ

จนวันหนึ่ง ได้รับหนังสือเชิญที่เปิดหัวข้อว่าจะทำเรื่อง ‘ส้มจุก’ จึงมองว่าตรงนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้ ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอาชีพและชีวิตของเยาวชนในระยะยาว จารุวรรณจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยนำต้นทุน ทรัพยากร และศักยภาพที่ สกร. มีอยู่ เข้ามาสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

เมื่อเวลาผ่านไป เธอได้เห็นว่าส้มจุก กลายเป็นมากกว่าผลไม้ที่กลับมามีชีวิต แต่มันได้กลายเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายอาชีพในพื้นที่อย่างจริงจัง จากจุดเล็ก ๆ ค่อย ๆ แผ่ขยายไปถึงกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่

“รู้สึกว่าเดินมาถูกทางแล้ว และจะใช้แนวทางนี้ในการพัฒนาเยาวชนต่อไป” จารุวรรณกล่าว

“เรารู้ว่าเขามีศักยภาพ เพียงแค่ยังไม่มีใครเปิดประตูให้”
เสียงจากผู้ใหญ่บ้านที่กลายเป็นโค้ชของชุมชน

จิตกร เดเจะหวัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลท่าหมอไทร ไม่ได้มีบทบาทแค่ดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ แต่ยังทำหน้าที่ในอีกบทบาทหนึ่งที่ทรงพลัง นั่นคือ ‘โค้ชชุมชน’ ภายใต้แนวทางของ Family Coach

เมื่อโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งเริ่มต้นจากการเลี้ยงส้มจุก ได้ขยายเป้าหมายไปยังการดึงเยาวชนและแรงงานนอกระบบให้กลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต เขาไม่ลังเลที่จะตอบรับและเข้ามามีส่วนร่วมทันที

ด้วยบทบาทผู้ใหญ่บ้านที่รู้จักผู้คนในชุมชนดีอยู่แล้ว จิตกรจึงรับหน้าที่ค้นหา ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ คอยสังเกต ดูแล และชวนให้คนที่ต้องการโอกาสเข้ามาร่วมในโครงการ

“จากที่สัมผัสด้วยตัวเอง เรารู้ว่าคนที่หลุดออกมาจากระบบหรือมีเหตุให้ขาดตอนจากการศึกษาหรือการทำงาน แต่ละคนมีความสามารถในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่รู้จะพาตัวเองไปต่อ หรือจะหาพื้นที่แสดงศักยภาพได้อย่างไร 

“ดังนั้นเราอยากช่วยสร้างโอกาส และอยากบอกเขาว่าทุกคนเข้ามาร่วมงานนี้ด้วยใจจริง ๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขาเปิดใจกลับมา”

จิตกรเชื่อว่า มากกว่าทุนหรือทรัพยากรใด ๆ ‘ต้นทุนที่สำคัญที่สุด คือความตั้งใจ ความจริงใจ และการให้ใจต่อกัน’ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นรากฐานให้การเรียนรู้ทุกกิจกรรม และทุกโครงการประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

และนี่คือเรื่องราวของ ‘ส้มจุกที่เปลี่ยนชีวิตชาวจะนะ’ ซึ่งได้กลายเป็นโมเดลสำคัญที่กำลังขยายต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ในด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส และสร้างความยั่งยืนของการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสู่การได้รับวุฒิการศึกษา หรือการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ

ทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า ‘เมื่อคนทั้งชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน’ แม้แต่ผลไม้ประจำถิ่นที่เคยเกือบสูญพันธุ์ ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นศูนย์กลางของนิเวศอาชีพ
ที่หล่อเลี้ยงคนทั้งชุมชนได้