“ผมจะมีร้านตัดผมของตัวเอง แล้วจะเรียนหนังสือไปด้วย” การศึกษาที่มีทางเลือกกำลังช่วยเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เคยก้าวพลาด

“ผมจะมีร้านตัดผมของตัวเอง แล้วจะเรียนหนังสือไปด้วย” การศึกษาที่มีทางเลือกกำลังช่วยเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เคยก้าวพลาด

“เด็กเยาวชนทุกคนเชื่อว่าใครที่ก้าวเท้าผ่านเข้ามาในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน หรือสถานพินิจฯ ความฝันความหวังที่เคยวาดเคยมีจะดับสูญลงทันที”

คำบอกเล่าของ จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีใจความสอดคล้องกับที่ ‘น้องฟิว’ เยาวชนวัย 18 ปี บอกกับเราว่า วินาทีแรกที่ย่างเท้าก้าวเข้ามาในศูนย์ฝึกฯ เขาก็คิดไปแล้วว่าอนาคตคงจบแค่นั้น เพราะสิ่งที่ต้องเจอจากนี้คือช่วงเวลาของการรับโทษจองจำ ซึ่งเขาคงทำได้แค่นับวันคืนให้ค่อย ๆ พ้นผ่าน แล้วเมื่อถึงวันที่กลับออกไป เขาก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า จะยังมีเส้นทางเดินใดที่ดี ๆ เหลืออยู่อีก

แต่ภาพที่คาดไว้กลับไม่เกิดขึ้น และกลายเป็นว่าเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 แห่งนี้ ได้เปลี่ยนแปลง ‘ฟิว’ ทั้งภายนอกและภายใน โดยจากวันที่เข้ามาเขามีเพียงวุฒิการศึกษาชั้น ป.6 กับโทษทัณฑ์ติดตัว มาถึงวันนี้ ที่เหลือเวลาอีกแค่หนึ่งเดือนก็จะได้กลับออกไปในโลกภายนอก ฟิวได้กลายเป็นช่างตัดผมฝีมือดี และกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยหลักสูตร กศน. ทั้งยังเหลืออีกเพียงเทอมเดียวก็จะจบ ม.3 พร้อมรับวุฒิบัตรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว

น้องฟิวสรุปเส้นทางชีวิตสั้น ๆ ให้เราฟังว่า เขาอาศัยอยู่กับปู่ย่าที่เป็นเกษตรกรในจังหวัดมุกดาหาร ตัวเขาเองพอเรียนหนังสือจบชั้น ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อ โดยเลือกออกมาใช้ชีวิตระหกระเหินนอกรั้วโรงเรียน บนกงล้อแห่งความสุ่มเสี่ยงที่วันหนึ่งโชคชะตาก็พัดพาจนเข้ามาอยู่ใน ‘ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี’ แห่งนี้

“ตอนนั้นผมรู้แค่ว่าที่นี่คือสถานที่ที่คนทำผิดต้องมารับโทษ ใครเข้ามาแล้ว พอกลับออกไปก็ยากจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่นอีก ผมจึงไม่มีความหวังอะไรแล้ว …แต่เชื่อไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าผมได้เรียนหนังสือ ได้ฝึกอาชีพ จนผ่านมาเกือบหนึ่งปีเต็ม ผมเริ่มตอบตัวเองได้แล้วว่าเมื่อกลับออกไปจะจัดการชีวิตตัวเองยังไง” ฟิวเล่า

จากความกลัวความกังวลและความคิดที่ว่าจะใช้เวลาอยู่ไปวัน ๆ ให้ผ่านไปในศูนย์ฝึกฯ อย่างไร ความรู้สึกข้างในของฟิวเริ่มเปลี่ยนแปลงช้า ๆ เมื่อเขาพบว่าพื้นที่บริเวณขนาดใหญ่ภายในศูนย์ฝึกฯ มีโรงเรียนให้เลือก ทั้งระบบ กศน. หรือจะเรียนออนไลน์ผ่านระบบศูนย์การเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่งก็ทำได้ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้นที่มีอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้ามาสอน ซึ่งถ้าฝึกอบรมครบชั่วโมงที่กำหนดไว้ เขาก็สามารถรับวุฒิบัตรนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้

“ที่นี่มีกิจกรรมน่าสนใจให้เลือกเยอะครับ โดยเฉพาะหลักสูตรที่วิทยาลัยสารพัดช่างและวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลเข้ามาจัดฝึกอบรมพวกพื้นฐานงานอาชีพเช่น ช่างเชื่อม ช่างไม้ ช้างไฟฟ้า ช่างแอร์ ทักษะการเกษตร งานศิลปะและหัตถกรรม

“ที่ผมชอบคือทุกสัปดาห์จะมีกิจกรรมพัฒนาความรู้ทางธุรกิจ มีครูมาแนะนำ ชี้ทาง สร้างแรงบันดาลใจ เริ่มจากให้เราลองเขียนแผนธุรกิจจากสิ่งที่สนใจ หลายคนจึงได้เห็นภาพสิ่งที่ตัวเองอยากทำชัดขึ้น เห็นความเป็นไปได้ของการเริ่มต้นธุรกิจ ที่บางคนอาจต่อยอดได้จากธุรกิจที่ทางบ้านทำอยู่แล้ว หรือคนที่อยากคิดใหม่ทำใหม่ลองเปิดตลาดใหม่ ๆ ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผน ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก ๆ เพราะเราอยู่ข้างในจะไม่รู้เลยว่าโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง”

ฟิวบอกว่าการ ‘รู้เท่าทันโลก’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวให้พร้อมตั้งรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะถึงแม้ว่าแผนที่ออกแบบเอาไว้จะไม่เป็นไปอย่างใจคิด เขาก็ยังมีทางออกฉุกเฉินไว้รองรับ ไม่ตะหนกท้อแท้จนเสียกำลังใจไป

“ครูเปิดมุมมองให้เห็นว่ามีอาชีพที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย เช่นเกมเมอร์ ช่างสัก หรือพนักงานส่งอาหาร พวกเราจะได้รับคำแนะนำ แล้วครูจะสอบถามความสนใจและความถนัดของแต่ละคน จากนั้นจึงช่วยผลักดัน ดูแลให้ฝึกฝนต่อเนื่องจนมีพื้นฐานแน่นพอสำหรับการทำงานหรือเอาไปต่อยอดได้ ผมมองว่าสิ่งที่เรียนรู้ข้างในสามารถเอาไปใช้ประโยชน์จริงได้ทั้งหมด ทุกครั้งที่ชั่วโมงกิจกรรมจบลง พวกเราจึงรู้สึกมีกำลังใจ อยากพัฒนาตัวเองต่อไป

“แล้วครูไม่ได้เตรียมพร้อมให้เราแค่ทักษะทำงานหรือวิชาความรู้ แต่ยังมีกิจกรรมบำบัดความกดดัน เพื่อเรียนรู้และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ผมคิดว่าทักษะนี้จำเป็น เพราะหลังออกไปแล้วเราต้องคอยบอกคอยเตือนตัวเองไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำอีก”

“เวลานั้นสำคัญ และมันไหลผ่านไปเรื่อย ๆ”

เมื่อน้องฟิวแนะนำกิจกรรมน่าสนใจในศูนย์ฝึกฯ แล้ว เขาย้อนมาเล่าเรื่องราวของตัวเองอีกครั้งว่าในช่วงเวลา ‘แรกเข้า’ เขาต้องเผชิญ 1-2 เดือนแรกอันยากลำบาก ด้วย ‘ทุกการเริ่มต้นมักยากเสมอ’ โดยเขาไม่รู้เลยว่าตัวเองสนใจอะไร ทำได้แค่ตามเพื่อนไปดูกิจกรรมทุกอย่าง

ฟิวเฝ้ามองเพื่อนฝึกฝน จาก ‘ไม่เป็น’ จน ‘พอทำได้’ และในเวลาสั้น ๆ เขาเห็นเพื่อนบางคนมีพัฒนาการก้าวกระโดดในสิ่งที่ทำจนน่าประหลาดใจ

“ตอนเห็นทักษะของเพื่อนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ผมเริ่มเข้าใจเลยว่าเวลานั้นสำคัญ และมันกำลังไหลผ่านไปเรื่อย ๆ จึงตัดสินใจว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็เลือกเอาช่างตัดผมเพราะอยากทำเป็น กลายเป็นว่าผมใช้เวลาไม่นานก็ทำได้ดีจนครูชม มันเหมือนกับพอได้จับอุปกรณ์ ได้ยืนอยู่ตรงนั้น ผมได้พบทักษะที่ตัวเองมี เข้าใจงานได้เร็ว แต่กว่าจะทำจนอยู่มือจริง ๆ ผมใช้เวลาเกือบแปดเดือนเต็มฝึกฝนเกือบทุกวัน ผ่านทั้งช่วงที่ยาก ช่วงที่สนุก ช่วงท้อและช่วงที่มีความสุขมาหมด ตอนนี้ผมกล้าพูดว่าผมทำได้ ภูมิใจในฝีมือตัวเอง แต่ผมรู้ว่าถ้าจะให้เก่งจริง ๆ ก็ต้องฝึกต่อเนื่องไปไม่หยุด แล้วผมยังเรียน กศน. ไปด้วย จากที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนอีกแล้ว จนตอนนี้เหลืออีกเทอมจะจบได้วุฒิ ม.3 ก็ตั้งใจว่าจะทำทั้งสองอย่างต่อไปให้สุดทาง”

ฟิวกล่าวถึงบทสรุปของตัวเขากับศูนย์ฝึกฯ ที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า “ผมตั้งใจว่าอยากเปิดร้านตัดผมเล็ก ๆ ที่บ้านในจังหวัดมุกดาหาร แล้วจะเรียน กศน. ต่อให้จบ ม.ต้น แล้วเอาวุฒิไปต่อ ม.ปลายโดยทำงานไปด้วย

“ผมอยากขอบคุณศูนย์ฝึกฯ ที่ทำให้ผมมีอาชีพติดตัว มีอนาคต ขอบคุณ กสศ. ที่จะสนับสนุนทุนเริ่มต้นค่าอุปกรณ์ทำร้านตัดผม และขอบคุณครูทุกคนที่ช่วยให้ผมได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ได้เดินบนเส้นทางใหม่ ตอนนี้ผมตื่นเต้นมาก ๆ กับเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนที่จะได้กลับออกไป สิ่งหนึ่งที่ผมบอกตัวเองในใจเสมอคือ จะนำประสบการณ์ที่ได้รับในนี้ไปใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และไม่ว่ายังไงก็ตามผมจะไม่กลับมาที่นี่อีกแล้ว”

เส้นทางพลิกผันของเยาวชนคนหนึ่ง ที่กลับพบเส้นทางดำเนินชีวิตได้ด้วยหลักการทำงานของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บนฐานความเชื่อที่ว่า ชีวิตที่หักเห ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับ ทั้งการศึกษา การพัฒนาศักยภาพ และการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดด้วยความรักความเข้าใจ และมูลเหตุเหล่านี้คือต้นทางอันซับซ้อนของปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในโครงการ ‘พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และมูลนิธิปัญญากัลป์ ซึ่งทำให้วันนี้ หลังบานประตูเหล็กที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘กำแพงปิดกั้นโอกาส’ ได้กลายมาเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย’ สำหรับเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่อาจพูดได้ว่า พวกเขาอยู่ใน ‘ห่วงข้อสุดท้ายของสายโซ่แห่งความเหลื่อมล้ำ’ ให้ได้ค้นพบกับโอกาสและพบทางรอดทางสังคม ด้วยการศึกษา การฝึกอบรมอาชีพตามความสนใจและความถนัด และไม่เพียงแค่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา หากยังมีกระบวนการติดตามเมื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถเดินหน้าไปต่อได้ ด้วยวุฒิที่มี มีงานทำ และมีรายได้จากทักษะที่ได้รับการฝึกฝน ซึ่งถือเป็นการ ‘คืนความฝันและความหวังให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ’

อ่าน – กสศ. ร่วมกับกรมพินิจฯ มอบวุฒิบัตรสร้างโอกาสชีวิตใหม่แก่เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม พลิกโฉมการศึกษาเปลี่ยน ‘ศูนย์ฝึกฯ’ เป็น ‘ศูนย์การเรียน’ เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’