Pay for Success “จ่ายให้แจ๋ว” โมเดลปฏิบัติการใหม่ทางการศึกษา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคอย่างยั่งยืน

Pay for Success “จ่ายให้แจ๋ว” โมเดลปฏิบัติการใหม่ทางการศึกษา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อคนไทย Disrupt Technology Venture และ สถาบัน ChangeFusion จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมและร่วมออกแบบนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคม ในหัวข้อ “Pay for Success : โมเดลปฏิบัติการใหม่ เพื่อผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ยั่งยืน”

ชวนคนรุ่นใหม่ บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาต่าง ๆ มาร่วมเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ให้เกิดผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ยั่งยืน ภายใต้สภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย พบว่าในปี 2565 มีนักเรียนยากจนและด้อยโอกาสกว่า 1.9 ล้านคนที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา มีเพียงแค่ร้อยละ 12 ของเด็กยากจนและยากจนพิเศษที่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้มีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นราว 300,000 คน และหากไม่สามารถใช้เครื่องมือนวัตกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของเยาวชนกลุ่มยากจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างเสมอภาคกับประชาชนกลุ่มครัวเรือนอื่น ๆ 

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เสนอ 4 เส้นทางของเยาวชนและผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กยากจนที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติให้ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษากับประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. เส้นทางการศึกษาในระบบ เพิ่มโอกาส รักษาการคงอยู่ และส่งต่อให้สำเร็จการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ
2. เส้นทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สู่การมีงานทำอย่างเต็มศักยภาพ
3. เส้นทางช้างเผือก จากเด็กเยาวชนนอกระบบสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา
4. เส้นทางจากในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สู่การมีงานทำ และการเป็นผู้ประกอบการ

และจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อจำกัดด้านงบประมาณภาครัฐมากขึ้น แต่ยังมีโอกาสจากการสนับสนุนของภาคเอกชนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งต้องการนวัตกรรมทางการเงินที่เห็นผลลัพธ์สำคัญด้านการศึกษาในด้านต่าง ๆ มาก เช่น การเข้าถึงการเรียนรู้ ผลลัพธ์การเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก โดยทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ในฐานะของภาคเอกชนที่สนับสนุนการพัฒนาเรื่องเด็กและการศึกษามาอย่างยาวนาน เสนอว่า หน่วยงานภาคปฏิบัติต้องมีการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันกับผู้ลงทุนว่าจุดประสงค์ของหน่วยงานคืออะไร ใครเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการผลักดันและส่งเสริมให้หน่วยงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือนี้ คือ ผู้ปฏิบัติจะเกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืน จวบจนบุคลากรในห่วงโซ่การศึกษา เช่น ครู ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชน เป็นต้น ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจไปด้วย

ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างความเข้าใจระหว่าง ผู้ปฏิบัติและผู้ให้ทุน คือสิ่งสำคัญของโมเดลการ “จ่ายให้แจ๋ว” โดยทั้งสองต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าผลตอบแทนของการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งอาจไม่ได้ถูกชี้วัดด้วยจำนวนเงิน แต่จะเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาลมากกว่านั้น ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างผู้ลงทุนและผู้ปฏิบัติได้ โมเดลการ “จ่ายให้แจ๋ว” ก็จะเกิดขึ้นได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิทัลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จของโมเดล “หุ้นกู้เพื่อการศึกษา” ภายใต้โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ความร่วมมือระหว่างบริษัท แสนสิริ และ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา โดยสามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านบาทภายในไม่กี่นาที โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้โมเดลนี้ประสบความสำเร็จ คือข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “iSEE” ที่ช่วยค้นหาคัดกรองเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนการสร้างกลไกที่ยั่งยืน มีการตั้งเป้าผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่า ให้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีต้องเป็นศูนย์ภายในสามปี ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้หน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ มาร่วมใช้โมเดลนวัตกรรมทางการเงินที่ตั้งเป้าผลลัพธ์ที่ชัดเจนเพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ผู้บริหารจาก แสนสิริ เสนอด้วยว่า ภาคเอกชนไม่ควรแค่ให้เงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามโครงการด้วย เพราะการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ ได้เห็นกระบวนการในการทำงาน มันจะทำให้ภาคเอกชนเกิดความรู้สึกร่วม และรู้สึกว่าการลงทุนในรูปแบบของ Pay for Success เป็นสิ่งที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ด้าน ณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล จาก Disrupt Technology Venture ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารการสร้างผลลัพธ์ของคนทำงาน ให้ต้องมีความชัดเจน เพราะแม้ว่าจะมีความพยายามสร้างสิ่งดี ๆ สู่สังคมออกมามากมาย แต่หากไม่สามารถสื่อสารการสร้างผลลัพธ์ของสิ่งที่สร้างออกมาได้ หรือไม่สามารถบอกได้ว่าเราทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อะไรต่อกลุ่มเป้าหมาย การขอเงินทุนสนับสนุนก็อาจจะยากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ คุณณรัณภัสสร์ ยังได้แนะแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานภาคปฏิบัติมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากยิ่งขึ้นว่า “ในประเทศยังมีนักลงทุนที่พร้อมสนับสนุนอยู่มาก แต่เพราะนักลงทุนมองว่ามันยังไม่มีความพร้อมในการลงทุน ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วจะเกิดอะไรต่อ ฉะนั้นหน่วยงานผู้ปฏิบัติจึงต้องกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและกล้าที่จะปลดล็อกเงินทุน เพื่อสร้างโมเดลการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ”

ด้าน คุณศิรี จงดี จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โมเดล Pay for Success ตอบโจทย์ความต้องการของ กสศ.ทั้งในด้านของการสร้างภาคีการทำงานที่เข้มแข็ง และด้านนวัตกรรมของการทำงานที่ช่วยทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ในการดำเนินโครงการหน่วยงานภาคปฏิบัติจะเป็นตัวกลางสำคัญในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับผู้ให้ทุน เพื่อให้หน่วยงานภาคปฏิบัติและผู้ให้ทุนมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันว่า ดำเนินโครงการไปเพื่ออะไร และหากระหว่างทางเกิดหลุดจากเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ก็จะสามารถปรับตัวและแก้ไขได้ทัน

นอกจากนี้ คุณศิรี ยังคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบ (System change) และสามารถชี้วัดการสร้างผลลัพธ์จากการทำงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในการทำงาน ทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ หน่วยงานที่กำกับ รวมไปถึงหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

ด้าน คุณ Sikai Chen จาก Tri-Sector Associates ได้นำเสนอการทำงานในรูปแบบ Pay for Success ในระดับภูมิภาค พบว่า แนวคิด Pay for Success ช่วยทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านต่าง ๆ ซึ่งหากปราศจากแนวคิดนี้แล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่เยาวชนจะสามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ ซึ่งแนวคิด Pay for Success นับว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาคนไร้บ้านหรือคนว่างงานในอนาคต ด้วยการลงทุนในการศึกษาปฐมวัย หรือลงทุนในการศึกษาในภาพรวม

“โครงการ Pay for Success จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งไม่เพียงเกิดความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่พบเจอระหว่างทางเท่านั้น แต่ยังสามารถหาทางออกร่วมกันหากเกิดปัญหาในอนาคตอีกด้วย”