ทุนมนุษย์ : ยิ่งลงทุนเร็ว ยิ่งคุ้มค่า
โดย : ชลิดา หนูหล้า
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

ทุนมนุษย์ : ยิ่งลงทุนเร็ว ยิ่งคุ้มค่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนใน ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) นั้นจำเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อบุคคลและสังคม งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมนั้นให้ผลลัพธ์ที่ ‘คุ้มค่า’ กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าเงินที่ลงทุน

แม้การลงทุนในทุนมนุษย์จะคุ้มค่าเพียงใด แต่ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด คำถามสำคัญที่ยังคงต้องหาคำตอบคือ เราควรลงทุนในทุนมนุษย์อย่างไรจึงคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด

ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอ้างถึงผลการศึกษาหนึ่งของ เจมส์ เจ. เฮกเมน (James J. Heckman) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลผู้ชี้ว่า “การลงทุน (ในทุนมนุษย์) ที่เร็วกว่านั้น ย่อมให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วย” การลงทุนในการจัดการศึกษาและการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่เด็กปฐมวัยจึงเป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

กราฟแสดงผลตอบแทนของการลงทุนในการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (Prenatal)[1]

ความคุ้มค่าของการลงทุนด้านการศึกษา

แนวความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ อีริก ฮานูเชค (Eric Hanushek) นักเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไม่อาจเติบโตโดยปราศจากการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะคุณภาพของแรงงานในสังคมนั้นๆ ย่อมกำหนดอัตราเร็วของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอย่างน้อย ผู้เรียนทุกคนต้องมี ‘จำนวนปีที่มีคุณภาพ’ อันหมายถึงการมีโอกาสร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในโรงเรียนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

อีริกเสริมอีกด้วยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น ไทย บัลแกเรีย ตุรกี อาร์เจนตินา ฯลฯ นั้นอาจเติบได้กว่าร้อยละ 10 ในอนาคตเพียงเพิ่มทักษะพื้นฐาน อาทิ การรู้หนังสือ แก่ประชากร เพราะเพียงส่งเสริมให้ประชากรซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดทางสังคมรู้หนังสือเท่านั้นก็เป็นก้าวแรกสู่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการศึกษาในระดับสูงขึ้นต่อไป

ความเห็นของไมเคิล คาชิค (Michael CaCich) ยิ่งสอดคล้องกับกราฟข้างต้น โดยผู้แทนจากมูลนิธิ Educate a Child ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กๆ ทั่วโลกกล่าวว่า “หนึ่งในการค้นพบของมูลนิธิ คือการลงทุนในการพัฒนาผู้ปกครองเด็ก โดยเฉพาะแม่ นำมาซึ่งพัฒนาการที่ดีกว่าของลูก และผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าว สูงกว่าปริมาณการลงทุนแน่นอน” เพราะการลงทุนในการพัฒนาผู้ปกครองเด็กช่วยเพิ่มการลงทุนในการศึกษาของลูกโดยผู้ปกครอง จึงมีประสิทธิภาพในการขจัดภาวะโภชนาการต่ำ การขาดแคลนทุนทรัพย์ และนำมาซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก การสรรหาสื่อการเรียนรู้ การมีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เป็นต้น

คอขวดของการลงทุนในทุนมนุษย์ของไทย

อย่างไรก็ตาม วีระชาติชี้ว่า ผลสำรวจการรู้หนังสือ การคิดคำนวณ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กปฐมวัยโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาตลอด 3 ปีนี้แสดงปัญหาการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างชัดเจน โดยขณะนี้ ข้อมูลของเด็กปฐมวัยราว 13,000 คน ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศชี้ว่า เด็กปฐมวัยมากกว่าร้อยละ 30 ในหลายจังหวัดรู้หนังสือน้อยมาก (มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าร้อยละ 25) และในหลายจังหวัดเช่นกันที่เด็กปฐมวัยมากกว่าร้อยละ 20 คิดคำนวณได้น้อยมาก

แผนที่แสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากผลสำรวจดังกล่าว คือจังหวัดที่ประสบปัญหาข้างต้นมักเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ หรือประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการศึกษาจึงอาจไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และเด็กจำนวนมากอาจเข้าไม่ถึงการศึกษาด้วยอุปสรรคทางภาษา และการขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ วีระชาติจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ‘ไรซ์ไทยแลนด์’ หรือโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education in Thailand: REICE Thailand) ซึ่งเน้นทดลองใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท้องถิ่น โดยการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในพื้นที่ห่างไกลหรือเป็นกลุ่มเปราะบางทางการศึกษาผ่านโครงการดังกล่าวมีผลลัพธ์น่าพอใจ นำไปสู่การผลักดันให้เพิ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาแล้วข้างต้น และมีแรงจูงใจในการทำงานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของผู้ร่วมอภิปรายที่ต่างกล่าวว่า หนึ่งในการลงทุนในทุนมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ยั่งยืนที่สุด คือการประกันว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือการจูงใจให้ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำงานเพื่อช่วยเหลือพวกเขานั่นเอง

วิดีโอแนะนำโครงการ และความเห็นของผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลต่างๆ

แต่ละประเทศมีแนวทางจูงใจครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลแตกต่างกัน แม้ยังมีข้อถกเถียงว่าแนวทางใดมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด หนังสือ Improving the conditions of teachers and teaching in rural schools across African countries โดยสถาบันนานาชาติเพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะภูมิภาคแอฟริกาของยูเนสโกก็ได้แนะแนวทางที่เป็นไปได้ในการจูงใจครูและบุคลากรทางการศึกษาให้จัดการเรียนรู้แก่เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลในทวีปแอฟริกา ดังนี้[2]

หนังสือ Improving the conditions of teachers and teaching in rural schools across African countries

ประการแรก หนังสือเล่มนี้ชี้ว่าการพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานของครูในพื้นที่ดังกล่าว สำคัญต่อการสร้างแรงจูงใจอย่างยิ่ง โดยครูควรได้รับค่าตอบแทนโดยคำนึงถึงคุณค่าของการอุทิศตนเพื่อสังคมและวิชาชีพ รวมถึงมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมที่แปรผันตามอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการสอนแก่ครู อาทิ ค่าเดินทาง เพราะในปัจจุบัน ครูจำนวนไม่น้อยเผชิญการเลือกปฏิบัติ และการได้รับความนับถืออย่างไม่เท่าเทียมซึ่งแปรผันตามจำนวนเงินเดือน ครูในเมืองใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มได้รับค่าตอบแทนมากกว่า จึงได้รับการยอมรับมากกว่าครูในชนบท ส่งผลให้ครูผู้เสียสละขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ และมีทัศนคติเชิงลบต่อวิชาชีพ

ค่าตอบแทนแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงควรลดหลั่นโดยคำนึงถึงอุปสรรคที่ครูแต่ละคนต้องเผชิญอย่างยุติธรรม โดยต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากความเสียเปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องประเมินความเสียเปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่อย่างระมัดระวัง เพราะแต่ละโรงเรียนแม้ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ในเมืองเดียวกัน ในมณฑลเดียวกัน ฯลฯ ก็ย่อมมีอุปสรรคที่ครูต้องเผชิญแตกต่างกัน มีความได้เปรียบและเสียเปรียบแตกต่างกันเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ยังชี้ว่า การจัดสรรสวัสดิการและเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ครูผู้เลือกพัฒนาเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมก็สำคัญต่อการจูงใจครูเหล่านั้น โดยหนึ่งในสวัสดิการและเครื่องอำนวยความสะดวกที่จำเป็นคือบ้านพักสำหรับครู โดยเฉพาะครูเพศหญิงที่มีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่จำเป็น การฝึกอบรม ห้องสมุดออนไลน์ การประชุมทางไกล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตนเองของครู อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลต่อไป

สุดท้ายนี้ หนังสือยังเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารและกำหนดทิศทางดำเนินงานของโรงเรียน โดยอาจมีการแต่งตั้งสมาชิกชุมชนให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา สมาชิกชุมชนเหล่านี้ยังสามารถระดมความช่วยเหลือจากชุมชนในกรณีที่จำเป็นอย่างทันท่วงที  อาทิ การซ่อมแซมอุปกรณ์การศึกษา และเป็นผู้ชักชวนครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน จนเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นๆ ในที่สุด แนวทางดังกล่าวจึงไม่เพียงประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพของครูในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นแรงจูงใจประเภทหนึ่งได้เท่านั้น ทว่าส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของครูผู้อุทิศตนเพื่อสังคมได้อีกด้วย

การศึกษาเป็นก้าวแรกในการพัฒนามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาไม่อาจพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยั่งยืนโดยปราศจากการพัฒนาตนเอง การลงทุนในทุนมนุษย์ นอกจากหมายถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนแล้ว จึงหมายถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้มีองค์ความรู้ ทักษะ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาผู้อื่นต่อไปด้วย การลงทุนในทุนมนุษย์จึงไม่เพียงเป็นการจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลโดยคำนึงถึงบทบาทของทรัพยากรมนุษย์ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณจำนวนดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ ‘ทุนมนุษย์’ ผู้มีหน้าที่พัฒนา ‘ทุนมนุษย์’ อย่างครอบคลุม และเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ การลงทุนในทุนมนุษย์ – ที่แม้ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการลงทุนอื่นประเภทอื่น – ก็เช่นกัน

อ้างอิง

[1] ที่มา: The Heckman Curve
[2] ที่มา: Improving the conditions of teachers and teaching in rural schools across African countries

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world