ธนาคารโลก อนุมัติเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้รัฐบาลอินเดีย มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ธนาคารโลก อนุมัติเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้รัฐบาลอินเดีย มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ที่มาภาพ : unsplash – Nikhita S

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ธนาคารโลก (World Bank) อนุมัติเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้รัฐบาลอินเดีย มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพื่อให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม

คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลก (World Bank) ลงมติอนุมัติเงินกู้มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,454 ล้านบาท) ให้แก่รัฐบาลอินเดีย เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนช่วยเหลือในการยกระดับคุณภาพและการบริหารจัดการโรงเรียนและการศึกษาในพื้นที่ 6 รัฐของอินเดีย

แถลงการณ์ของธนาคารโลกระบุว่า คณะกรรมการได้อนุมัติเงินกู้สำหรับโครงการ Strengthening Teaching-Learning and Results for States Program (STARS) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีเด็กนักเรียนราว 250 ล้านคน อายุระหว่าง 6-17 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน 1.5 ล้านแห่งทั่วอินเดีย รวมถึง คุณครูอีกกว่า 10 ล้านคน จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการ STARS นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินเดียกับทางธนาคารโลกที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1994 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษาในโรงเรียนรัฐ และทำหน้าที่สนับสนุนระบบการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอินเดียในการผลักดันให้การศึกษาเข้าถึงและเป็นของทุกคน (Education for All)

โดยเป้าหมายการสร้างการศึกษาเพื่อคนทุกชนชั้นสังคมนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของธนาคารโลก ซึ่งที่ผ่านมา ทางธนาคารโลกได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ The Tribune India สื่อท้องถิ่นของอินเดีย เปิดเผยว่า พื้นที่ 6 รัฐในอินเดียที่จะเข้าร่วมพัฒนากับโครงการ STARS ในครั้งนี้ ประกอบดัวย รัฐหิมาจัลประเทศ รัฐเคราลา รัฐมัธยประเทศ รัฐมหาราษฎระ รัฐโอริศา และรัฐราชสถาน

นอกจากพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนรัฐในอินเดียแล้ว โครงการ STARS ยังจะช่วยยกระดับระบบการประเมินการศึกษา ฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการสอนหนังสือในห้องเรียน พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางระหว่างโรงเรียนและสถานที่ทำงาน และยกระดับระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

Junaid Ahmad ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำอินเดียกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความต้องการของรัฐบาลอินเดียในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียตระหนักดีว่า เป็นความจำเป็นและเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับการศึกษา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของประเทศในอนาคต รวมถึงการสร้างบุคลากรที่จะตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

“การสนับสนุนเพื่อให้อินเดียเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ หมายรวมถึง การเพิ่มขีดความสามารถให้การนำนโยบายหรือแนวทางทางการศึกษามาบังคับใช้ในระดับท้องถิ่น การลงทุนในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของครู และการสร้างหลักประกันว่า จะไม่มีเด็กอินเดียคนใดถูกทอดทิ้งและเมินเฉยจากสิทธิด้านการศึกษา ไม่ว่าจะมาจากภูมิหลังครอบครัวแบบใดก็ตาม” ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำอินเดียกล่าว

ที่มาภาพ : unsplash – Raj Rana

นอกจากนี้ Junaid Ahmad ได้เสริมอีกว่า การเพิ่มการลงทุนให้แก่การศึกษาในระดับปฐมวัยจะเป็นการติดเครื่องมือและทักษะให้แก่เหล่าเด็กและเยาวชนของอินเดียในการเข้าแข่งขันในตลาดงานต่อไปในอนาคต โดยเงินกู้มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้ มีกำหนดระยะเวลาชำระ 14.5 ปี

ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของอินเดีย ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายมากที่สุดเพื่อการพัฒนาประเทศมานานหลายปีของรัฐบาลอินเดีย ที่แม้จะมีความพยายามและทุ่มเทเงินมหาศาล แต่สถานการณ์การศึกษาโดยรวมของประเทศยังไม่อาจเรียกได้ว่า ดีขึ้นสักเท่าไรนัก

โดยจากรายงานของเว็บไซต์ Financial Express ที่อ้างอิงผลการสำรวของ CARE RATINGS ซึ่งพบว่า สถานการณ์การศึกษาของอินเดียในทุกระดับชั้นยังคงมืดหม่น เพราะมีเด็กอีกมากที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ส่วนคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมส่วนใหญ่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถเรียนหนังสือต่อไปในระดับสูงได้  

แถลงการณ์ของ CARE RATINGS ระบุว่า ผลการสำรวจล่าสุดพบ สัดส่วนของคนที่ไม่เคยเข้าเรียนในระบบการศึกษาของอินเดียเลยมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความพยายามที่ไม่เป็นผลของรัฐบาลในการเพิ่มจำนวนเด็กนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงการรักษาเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาจนจบหลักสูตร

ขณะเดียวกัน จำนวนคนที่เดินหน้ามุ่งศึกษาต่อในระดับสูงของอินเดียก็มีน้อยจนน่าผิดหวัง โดยรายงานพบว่า มีชาวอินเดียเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยจำนวนนี้เป็นชาวอินเดียในชนบทเพียง 6% เท่านั้น ขณะที่ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในเมืองอยู่ที่ 22%

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าระดับอัตราความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของอินเดียจะอยู่สูงถึง 78% แต่ภาพรวมของสถานการณ์การศึกษากลับอยู่ในระดับอ่อนด้อยที่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการการพัฒนา โดยสำนักสถิติแห่งชาติอินเดีย (NSO) ระบุว่า ในพื้นที่ชนบท มีชาวอินเดียราว 70% อายุ 15 ปี ขึ้นไป เรียนไม่จบระดับประถมศึกษา ขณะที่ชาวอินเดียในเมืองอยู่ที่ 40% 

สำนักสถิติแห่งชาติอินเดีย เปิดเผยอีกว่า ปัญหาลำดับแรกสุดที่ทำให้ชาวอินเดียตัดใจไม่เรียนหนังสือก็คือภาระเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะภาระค่าเทอมที่คิดเป็นสัดส่วนราว 51% และมีค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ค่าบำรุงการศึกษา และชุดยูนิฟอร์มอยู่อีกราว 20% ขณะที่หากต้องเรียนในระดับสูงขึ้นไป ค่าเทอมก็จะยิ่งสูงขึ้นและ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการเรียนเสริมพิเศษที่ต้องเพิ่มขึ้นมา

 

ที่มา :