ส่งต่อความภูมิใจของเด็กทุนรุ่น 1 สู่รุ่น 2 ‘เราคือผู้ถูกเลือกให้ได้รับโอกาส’

ส่งต่อความภูมิใจของเด็กทุนรุ่น 1 สู่รุ่น 2 ‘เราคือผู้ถูกเลือกให้ได้รับโอกาส’

‘ที’ ธีรเดช นิลนัน ผู้ช่วยครูผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรม
สายอาชีพชั้นสูงที่วิทยาลัยการอาชีพปากช่อง

ต้องหยุดเรียนหนึ่งปีเพื่อรักษาตัว จึงได้รู้ว่าเวลาและโอกาสนั้นสำคัญกว่าสิ่งใด 

ในจำนวนทุนอันหลากหลายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ นับว่าเป็นทุนหนึ่งที่มีขั้นตอนคัดเลือกอันเข้มงวด ด้วยกฎเกณฑ์กติกาและการเฟ้นหาอย่างเข้มข้น โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนคือ ‘ตัวจริง’ ที่พร้อมจะเป็นบุคลากรสายอาชีพคนสำคัญของประเทศในอนาคต กับรุ่นแรกที่ผ่านไป ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ได้มอบโอกาสทางการศึกษา ประสบการณ์ชีวิต และบทเรียนมากมายจากทั้งในและนอกห้องเรียนให้กับเด็กทุนฯ รุ่น 1 ทั้งหมด 2,053 คนทั่วประเทศ

ถึงวันนี้ ขณะที่รุ่นน้องกำลังจะก้าวไปเป็นรุ่นพี่ ‘ที’ ธีรเดช นิลนัน ในฐานะเด็กทุนรุ่น 1 และอีกบทบาทหนึ่งคือผู้ช่วยครูผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่วิทยาลัยการอาชีพปากช่อง มีเรื่องราวเกี่ยวกับความภาคภูมิใจในโอกาสที่เขาได้รับ รวมถึงสิ่งที่เขาทำเพื่อจะส่งต่อโอกาสและความภูมิใจของเขา ให้ไปถึงน้องๆ ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็น ‘เด็กทุนรุ่น 2’ ในปีการศึกษาหน้า

 

ควรทุ่มเท ‘เวลา’ ให้กับสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะ ‘โอกาส’ อาจไม่มีวันย้อนกลับ

ทีเป็นเด็กทุนที่มีเกรดเฉลี่ยระดับท็อป เขาเพิ่งผ่านชั้น ปวส.1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาด้วยเกรด 4.00 ในเทอมแรก และ 3.93 ในเทอมล่าสุด ทีเล่าถึงเทคนิคในการเรียนว่า เขาเป็นคนติดเรียนมาก ตั้งใจกับทุกคาบ ส่งงานครบทุกชิ้นตามเวลาที่กำหนด และพยายามฝึกความรับผิดชอบด้วยการบริหารเวลาที่ได้รับว่าสิ่งไหนควรทำก่อนหรือหลัง ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้ช่วยให้เขาทำความเข้าใจบทเรียนได้เป็นลำดับ

แต่กว่าจะเรียนรู้จนเห็นความสำคัญของการบริหารเวลา ทีต้องใช้เวลาเรียนรู้อยู่ 1 ปีเต็ม เมื่อเขาป่วยจนต้องหยุดเรียนเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลขณะเรียนชั้น ปวช.1  ตอนนั้นเอง ที่ทีต้องเลือกระหว่างการเรียนที่เขาทุ่มเทชีวิตให้ กับการรักษาตัวซึ่งจะส่งผลให้เขาเรียนช้ากว่าเพื่อนๆ ร่วมรุ่น

ทีเผยความรู้สึกช่วงนั้นว่า เขาเสียดายเวลาเรียนมาก ทำให้ในช่วงแรกของการรักษา ทียังคงเอางานไปทำที่โรงพยาบาลและพยายามส่งงานครูจนครบทุกชิ้น แต่ด้วยความห่วงใยและกำลังใจจากครอบครัวรวมถึงแพทย์ผู้ดูแลเขา ที่ช่วยเตือนสติว่า สิ่งที่เขาควรกังวลที่สุดคือเรื่องรักษาตัว ต้องลำดับความสำคัญให้ได้ว่า ‘ถ้ารักษาตัวจนหายแล้ว ยังมีเวลาเรียนและทำอะไรที่อยากทำได้อีกเยอะ แต่สำหรับโอกาสรักษาตัว จะมีแค่ช่วงเวลานี้เท่านั้น’

ทีจึงคิดได้ตอนนั้นเองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาควรทำเป็นลำดับแรก จึงหันมาทุ่มสมาธิไปที่การรักษาตัวให้หาย เพราะเขาไม่อยากสูญเสียโอกาสการรักษาที่มีอยู่ไป

“เหตุการณ์นั้นสอนผมว่าเวลาและโอกาสมีคุณค่ามากๆ มันทำให้ผมตระหนักถึงความรับผิดชอบที่อยู่ตรงหน้า ว่าควรจัดสรรอย่างไร ให้ความสำคัญกับอะไร แล้วมันยังส่งต่อไปถึงตอนที่ผมต้องตัดสินใจกับอนาคตตัวเอง เมื่ออาจารย์แนะนำทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงให้รู้จัก เพราะผมรู้ว่านี่คือ ‘โอกาส’ ที่ไม่ใช่จะได้มาง่าย”

 

‘ประสบการณ์’ ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนทั่วไป และความภูมิใจที่ต้อง ‘ส่งต่อ’

ทีย้อนความให้ฟังว่าตอนที่เรียนจบ ปวช. กิจการร้านขายของที่บ้านเริ่มประสบภาวะขาดทุน ประกอบกับช่วงเวลา 1 ปีในโรงพยาบาลที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาตัว เขาจึงสมัครเข้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นเอง ได้นำความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเข้ามาในชีวิตเขา

“มันไม่ใช่แค่โอกาสในการได้เรียนต่อ แต่ทุนช่วยให้ผมพึ่งพาตัวเองได้ แล้วยังมีส่วนที่ผมสามารถนำไปช่วยครอบครัวด้วย พอเห็นว่าพ่อแม่เหนื่อยน้อยลง ตัวผมเองก็มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น” ทีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง

มีความประทับใจหลายอย่างที่บันทึกอยู่ในช่วงเวลา 1 ปีของการได้เข้ามาอยู่ใน ‘ครอบครัวทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ทีบอกว่า มันเริ่มตั้งแต่การได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับเพื่อนทั้งวิทยาลัยเดียวกันและต่างวิทยาลัย หลายกิจกรรมทำให้เขามองเห็นโลกกว้างขึ้น ได้เติบโตขึ้นภายในตัวเอง ขณะที่หลายกิจกรรมทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการสร้างประโยชน์ให้สังคม ได้ภูมิใจที่ได้เข้าไปมีส่วนในการเป็น ‘ผู้ให้’

โดยเฉพาะ การได้ฝึกงานในฐานะผู้ช่วยครูดูแลโครงการทุนนวัตกรรมฯ ของวิทยาลัย ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้องๆ ‘ว่าที่’ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 2 ที่กำลังจะเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันในอนาคต 

ในความหมายของที เด็กทุนคือผู้ถูกเลือกให้ได้รับโอกาสที่จะเรียน โอกาสที่จะทำกิจกรรม  โอกาสที่จะได้รู้จักผู้คนและสังคมใหม่ๆ มันคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนปกติที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง และสิ่งที่ได้เรียนก็คือสาขาวิชาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ทีจึงเลือกที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับไปแนะแนวให้กับรุ่นน้องในโรงเรียนหรือวิทยาลัยที่กำลังจะเข้าเรียนชั้น ปวช. หรือ ปวส. ให้ได้รู้ว่า การได้รับเลือกให้เป็นเด็กทุน นั่นหมายถึงว่า เขาเป็นคนที่มีความสำคัญเพียงใด

จากจุดพลิกผันที่ทำให้ทีเสียเวลาหนึ่งปีไปกับการรักษาตัว กลับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เขาได้ตระหนักถึงสิ่งสำคัญที่ควรทำในแต่ละช่วงละตอนของชีวิต เก็บเป็นประสบการณ์สอนตนเองถึงการไขว่คว้าหาโอกาสที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้น ทั้งยังมีความตั้งใจที่จะนำบทเรียนประจำใจไปถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องที่กำลังก้าวขึ้นมาตรงจุดที่เขาเคยยืน ด้วยมุ่งหวังว่า ‘ความภาคภูมิใจในตนเอง’ ที่เขาได้รับ จะถูกส่งต่อออกไปอย่างไม่สิ้นสุด

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค