วิสาหกิจจากโครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเปิดอบรมทำหน้ากากหลังสินค้าขาดแคลน

วิสาหกิจจากโครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเปิดอบรมทำหน้ากากหลังสินค้าขาดแคลน

ช่วยทั้งป้องกันความเสี่ยงและสร้างรายได้เสริม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นำมาซึ่งความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับประชาชนทั่วโลกที่กำลังพยายามหาทางรับมือและป้องกันการแพร่กระจายของโรคเป็นการเร่งด่วน จนอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนหน้ากาอนามัย

ปัญหาดังกล่าวทำให้ โครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)​​ ได้ปรับหลักสูตรการทำหน้ากากให้กับผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเพื่อนำไปผลิตใช้เองในท้องถิ่นต่อไป

นางรัศมี อืดผา ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกกและผือฯ  กล่าวว่า ภายหลังมีผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีเข้ามาในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ประกอบกับข่าวสารการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระจายตัวจนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากกขึ้น และหน้ากากเริ่มเป็นที่ขาดแคลนทำให้คนในพื้นที่เรียกร้องให้จัดอบรมทำหน้ากาก ทางโครงการจึงได้จัดโครงการอบรมสอนทำหน้ากาก

ทั้งนี้ ในการอบรมไม่ได้รับเฉพาะสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเดิมแต่เปิดให้ บุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้ารับการอบรม ซึ่งการผลิตหน้ากากไม่ได้ยุ่งยากและสามารถหาวัตถุดิบในพื้นที่ได้ง่าย ทั้งผ้าขาวม้าและผ้าสาลูที่ใช้ทำหน้ากาก โดยนำมาตัดตามแบบและเย็บเข้าด้วยกันจากนั้นก็เย็บติดกับยางยืดก็สามารถใช้งานได้ ทั้งหมดผู้เข้ารับการอบรมสามารถทำเป็นและนำกลับไปทำที่บ้านได้

คล้ายกับวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย หนึ่งในสมาชิกทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ​อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมกันคิดพลิกวิกฤตจากโรค COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในช่วงนี้ให้เป็นโอกาสในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ ด้วยการประยุกต์ผ้าทอพื้นเมืองมาทำเป็นหน้ากากอนามัย ชนิดซักทำความสะอาดได้เพื่อออกจำหน่าย

นางอานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย กล่าวว่า เดิมทางวิสาหกิจจัดอบรมให้ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ทำผ้าซิ่นซึ่งเป็นลายประจำท้องถิ่น แต่เมื่อมีเศษผ้าเหลือและกำลังมีการแพร่ระบาดของ COVID-19  และหน้ากากอนามัยหายากทางกลุ่มจึงจัดอบรมสอนผู้ที่เข้าร่วมโครงการจัดทำหน้ากากอนามัย  ซึ่งทำได้ง่ายและใช้อุปกรณ์จากที่มีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่เย็บผ้าเป็นอยู่แล้วทำให้การเย็บหน้ากากไม่ใช่เรื่องยาก เพื่อนำไปใช้ในช่วงที่หน้ากากอนามัยหายาก ซึ่งนอกจากจะตัดเย็บไว้ใช้เองแล้วยังสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้อีกด้วย  โดยปัจจุบันมีผู้สนใจเริ่มสั่งจองหน้ากากจากทางวิสาหกิจเป็นจำนวนมาก และทางวิสาหกิจเตรียมที่จะเปิดอบรมการตัดเย็บหน้ากากให้กับสมาชิกต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค