ปัญหาเด็กที่แตกต่างกัน ที่ครูทุกคนต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม

ปัญหาเด็กที่แตกต่างกัน ที่ครูทุกคนต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม

“พ่อแม่หย่าร้าง ขาดความอบอุ่น ไม่เก่งเท่าเพื่อน เป็นเด็กพิเศษ”

นี่คือความแตกต่างที่ “ครูบ่าว-นัฐพงษ์ ดินนุ้ย” ครูอนุบาล 2 จากโรงเรียนบ้านท่าชะมวง จ.สตูล ต้องคอยมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้ครูต้องเติมความรักความใส่ใจให้เด็กแต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป เพื่อให้พวกเขารู้สึกได้ถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

“อย่างเด็กบางคนมีปัญหาที่บ้านหย่าร้าง ขาดความอบอุ่น หัวใจของเขาก็ขาดการเติมเต็ม บางคนเป็นเด็กพิเศษ เป็นออทิสติก ดาวน์ซินโดรม สมาธิสั้น หรือเป็น LD (Learning Disorder) บกพร่องทางการเรียนรู้ ก็มีเหมือนกัน”

ดังนั้นเมื่อเด็กแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน การเปิดรับในห้องเรียนของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ทำให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความไม่เท่ากันไม่ทันกันในห้องเรียน ซึ่งถ้าเราปล่อยความไม่เท่ากันแบบนี้ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่ไกลจะยิ่งไกลออกไป

เด็กทุกคนมี “ความแตกต่างที่เหมือนกัน”

การรับฟัง ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ไปตัดสินเขาเป็นการดูแลเรื่องจิตใจที่เขาขาดไป สำคัญคือการฟัง “เด็กทุกคน” ฟังทั้ง 15 ชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเรา ต้องให้ความใส่ใจอย่างทั่วถึง

“ถ้าเรามีความจริงใจกับเด็ก เราก็จะทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจทุ่มเท ไม่ได้หวังว่าเด็กต้องรักเรา ผลมันก็จะออกมาเอง”

เช่น เวลาทำงานก็จะให้คละกลุ่มกัน เด็กคนไหนไม่เก่งก็จะได้ดูเด็กเก่งเป็นกรณีศึกษา อย่างเด็กพิเศษที่พอเราให้มาอยู่กับเด็กปกติ พวกเขาก็ได้กระตุ้นพัฒนาการไปในตัว ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ จนกระทั่ง “ไม่มีความแตกต่างในห้องเรียน” การเรียนการสอนก็ไปกันต่อได้ 

ไม่ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเคยมีที่มาอย่างไร แบบไหน แต่ถ้าได้รับความรัก ใส่ใจ และจริงใจกับเขามากพอ เด็กทุกคนก็คือความแตกต่างที่ต้องได้โอกาสเหมือนๆ กัน

เคยเครียดกับหลักสูตรการสอนแบบเดิมๆ

อุปสรรคที่ครูบ่าวต้องเจอไม่ได้มีแค่เรื่องของเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระบบหลักสูตรการสอนแบบเดิมๆ “เมื่อก่อนเราสอนวิทยาศาสตร์ธรรมดา มันยังไม่มีรูปแบบชัดเจนมาก หาทิศทางไม่เจอ หนักไปในทางเรียนอัดๆ เหมือนยัดเยียดข้อมูลใส่หัวเด็ก การเรียนรู้มันก็ไม่เกิดมากเท่าที่ควร” ครูบ่าวย้ำถึงปัญหาที่ฝังรากลึกมานานในระบบการเรียนการสอนไทย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความเสมอภาค

“จุดเปลี่ยนคือครูได้เข้าอบรมหลักสูตรการเรียนแบบบ้านวิทยาศาสตร์ ก่อนจะนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนทุกวันนี้”

เด็กๆ ได้โอกาสทำการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง เพื่อเปิด “พื้นที่เล็กๆ” ให้เด็กๆ ได้ฝึกการสังเกตุ คิด วิเคราะห์ แยกแยะด้วยตนเอง ค่อยๆ พูดคุย ถามกลับเพื่อให้เด็กได้คิดไปเรื่อยๆ ไม่ไปตีกรอบเขามากเกินไป ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้เด็กๆ กระตือรือร้น มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น  มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้นตามลำดับ

“หนึ่งเราจะเตรียมเด็กให้มีสมาธิพร้อมที่จะเรียนรู้ก่อน สองคือเราจะนำเข้าสู่บทเรียนโดยการหา Case Study เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงเข้าการสอน และสามคือให้เด็กคาดคะเนคำตอบว่าถ้าเราทำการทดลองแบบนั้น แบบนี้ มันจะให้ผลออกมายัง”

เช่น ถ้าเราใส่น้ำลงไปในกะละมัง ก็จะตั้งสมมุติฐานให้เด็กๆ คาดเดา >> ทดลองตามขั้นตอน >> วิเคราะห์ผลลัพธ์ เขาก็จะได้สังเกตุว่าผลออกมาเหมือนที่ตัวเองคิดรึเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กมีความกล้าและภูมิใจสิ่งที่เขาได้แสดงความเห็นออกมา ทำให้เด็กมีทักษะทางการสื่อสารมากขึ้น เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น 

ถ้าเขาวิเคราะห์คำตอบออกมาผิด ครูก็จะถามกลับว่า “ทำไมลูกคิดแบบนั้น?” แล้วให้เขาค่อยๆ คิดต่อ เพื่อนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องได้ใกล้เคียงขึ้นเรื่อยๆ  เพราะถ้าเราให้คำตอบเขาเลยก็จะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์เขา

“ดีใจมากครับที่มีโครงการนี้ ได้รับหลักการ แนวทาง ขั้นตอนการจัดกิจกรรมจาก กสศ.  รวมถึงการนิเทศติดตามจากท่านอาจารย์จาก ม.สงขลานครินทร์ที่มาอบรม ในโครงการ “พัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP (Teachers & School Quality Program)” ของ กสศ.  ตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เราได้เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมๆ ที่ไม่มีรูปแบบชัดเจนมาก ให้มีทิศทางขึ้นมา ตอนนี้เราเลยก็ไม่เครียดด้วย เพราะการเรียนรู้มันออกมาจากเด็กจริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปยัดเยียดเขา”

และนี่คือเส้นทางกว่า 20 ปีของ “ครูบ่าว” ที่ฝ่าฟันจนมาถึงวันนี้…วันที่ไม่มีความแตกต่างในห้องเรียนของครูอีกต่อไป