ครูรุ่นใหม่ที่จะมาสอนคนรุ่นใหม่ต้องเป็นยังไง?

ครูรุ่นใหม่ที่จะมาสอนคนรุ่นใหม่ต้องเป็นยังไง?

ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นส่งผลต่อการดำรงชีวิต ครอบครัวและสังคมมีปัญหามากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ทั้งแตกต่างจากเดิม โรงเรียนจึงต้องมีบทบาทกับเด็กมากขึ้น เพราะเป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่เด็กใช้เวลาอยู่มากกว่าหรือพอๆ กับที่บ้าน

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

ทางเราได้โอกาสไปพูดคุยกับ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษากว่า 47 ปี ถึงมุมมองของการ Transform ตัวเองเป็น “ครูยุคใหม่” ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง,,,

อย่างแรก โรงเรียนต้องทำหน้าที่อะไร?

โรงเรียนต้องไม่ใช่แค่สถานที่สอนหนังสือ แต่ต้องถ่ายทอดให้เด็กได้ทั้งวิชาการ และวิชาชีวิต โดยเฉพาะอย่างหลังที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าเดิม เพราะวิชาการทุกวันนี้เด็กสามารถเรียนผ่านสื่ออื่นๆ ได้ แต่เรื่องของชีวิตต้องใช้เวลาอบรม บ่มเพาะประสบการณ์ ดังนั้นครูยุคใหม่ต้องเป็นดังที่ ร.9 ท่านตรัส คือ ต้องรักเด็ก และทำให้เด็กรักตนได้ ต้องเป็นผู้หล่อมหลอมให้เด็กรักตนเอง รักคนอื่น รักประเทศชาติ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง หัวใจสำคัญของการจะทำให้เกิดขึ้นคือพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก

ครูต้องดูแลทุกข์สุขของเด็กได้เป็นอย่างแรก เป็นหลักให้เขายึด หมายถึงถ้าเด็กมีความทุกข์ ไม่สบายใจ เราต้องบำบัดตรงนั้นก่อน คือต้องดูแลอารมณ์ จิตใจ เพราะถ้าเด็กไม่มีความสุขเสียแล้วก็ยากที่เราจะไปใส่เรื่องวิชาการให้เขา ดังนั้นต้องแก้ตรงนี้ก่อน

โรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจ

สิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าการสอนด้านวิชาการ เพราะวิชาการเรามีหลักขั้นตอนการสอนที่ชัดเจน สอนง่ายกว่า แต่การที่ครูคนหนึ่งจะเข้าถึงเด็ก ต้องมีวิธีการพูดคุย เห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินเขาจากความผิดแค่ครั้งเดียว การไม่ทำการบ้านหนึ่งวันไม่ได้จะหมายความว่าต้องถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่รับผิดชอบ ครูต้องเข้าใจเขาให้ได้ก่อน ต้องจำไว้ว่าคำพูดของครูแต่ละคำมีผลทำร้ายเด็กได้ ครูต้องสร้างบรรยากาศระหว่างตนกับเด็ก ให้เด็กเข้ามาถึงมือให้ได้ ด้วยการสื่อสาร ความเข้าใจ ให้เด็กได้รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในห้องเรียน ให้เขารู้ว่าเขาไม่ต้องเรียนเก่ง ให้เขารู้ว่าเขาแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความชอบและถนัดแตกต่างกัน

“ในโลกยุคใหม่ ครูกับโรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็ก เราต้องยอมรับ ตรงนี้อาจไม่ใช่ความเท่าเทียม แต่มันเป็นโอกาสของความเสมอภาค คำว่าเสมอภาคคือเขาได้รับโอกาสในการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน”

ดังนั้น ครูต้องมีสมรรถนะในการรับรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถสื่อสาร เข้าใจความรู้สึกของเด็กได้ นั่นคือสิ่งที่ครูรุ่นใหม่ต้องมี

“เด็กๆ เดี๋ยวนี้เขามีความทุกข์จากความคาดหวังของพ่อแม่ เมื่อเขาเป็นเด็กในห้องที่รวมด้วยเด็กเก่ง ทำให้เกิดความเครียด ความกดดันด้วยพ่อแม่จะคาดหวังให้เขามีผลการเรียนในระดับสูงติดต่อกันอยู่ตลอด นี่คือเรื่องที่ครูต้องเข้าถึง”

ครูยุคใหม่ต้องไม่ใช่ผู้สอน แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนได้ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเรียนรู้โดยเชื่อว่าเขามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ ครูต้องสร้าง growth mindset ต้องเชื่อในการเติบโตทางความคิดของเด็ก

ดังนั้นในโลกยุคใหม่ ครูกับโรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็ก เราต้องยอมรับ ตรงนี้อาจไม่ใช่ความเท่าเทียม แต่มันเป็นโอกาสของความเสมอภาค คำว่าเสมอภาคคือเขาได้รับโอกาสในการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน

“Society Inclusive School” คือการเปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น มีมุมมองที่แตกต่างไปว่าภายใต้ความบกพร่องของเพื่อนที่เราเห็น เขามีความอัจฉริยภาพซึ่งดีกว่าเราอีก ถ้าครูยุคใหม่ไม่เปิดโอกาส แยกเด็กเก่งกับเด็กอ่อนออกจากกัน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น อย่างที่สาธิตเกษตรเราจะให้เด็กเก่งเขาได้หันมาดูเพื่อนที่เรียนรู้ช้ากว่า เพราะขณะที่เด็กเก่งเขาไม่ได้เก่งทุกอย่าง เขาอาจคิดเลขเก่ง แต่เขาทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เก่ง เขาวาดรูปไม่เก่งเท่าเพื่อนที่คิดเลขสู้เขาไม่ได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาเด็กกลุ่มนี้มาเรียนด้วยกัน เขาจะเข้าใจการทำงานร่วมกับคนอื่นที่มีความสามารถต่างกัน นี่คือทักษะในศตวรรษที่ 21 เราจะสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็น ครูยุคใหม่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กค้นหาตัวเองเป็น เข้าใจความแตกต่าง และต้องเชื่อว่าเด็กแต่ละคนเปลี่ยนแปลงได้

แต่ถ้าเราทำงานกับเด็กยากจน มันต้องเป็นอีกแบบ เป้าหมายที่เราจะสร้างให้เกิดในชุมชนหรือในหมู่บ้านคือการเอาตัวรอด เราไม่ได้สร้างให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรที่มากกว่านั้น ถามว่าที่เราทำงานเป็นครู รางวัลของเราอยู่ที่เราได้เห็นเด็กช่วยเหลือตัวเองได้ นั่นคือความสุข และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องมาถามตัวเองว่าที่เราเป็นครูเพื่ออะไร คือ เงินเดือนก็เรื่องหนึ่ง แต่เวลาที่เรามาทำงาน เราต้องให้รางวัลตัวเองด้วยความสุขที่เราได้รับจากเด็ก เราทำให้เขาช่วยตัวเองได้ ทำให้เขาอยากเปลี่ยนแปลง

ครูอยู่ที่ไหนก็มีคุณค่าเพราะว่าความเป็นครูมีหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วจริงๆ ครูต้องไม่ทำงานแค่กับเด็ก ครูต้องทำงานกับผู้ปกครองสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ให้คำแนะนำสร้างสัมพันธภาพที่ดี ครูต้องทำงานกับชุมชน เพื่อให้เด็กอยู่ในชุมชนอย่างปลอดภัย

เนื่องในโอกาสวันครู

“จงมีความสุขให้ตัวเองจากการเป็นครู ผลที่ตามมานั้นเราทำสิ่งใดไว้เราก็ได้รับสิ่งนั้น ถ้าเราสุขกับการเห็นลูกศิษย์เราพัฒนา คนเป็นครูก็คือว่าต้องมีความสุขในงานที่เราทำ อย่าไปยึดผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำความดี ผลกลับมาก็คือความดี เราก็จะมีพลัง

เพราะไม่มีอาชีพไหนที่ให้การตอบแทนทางจิตใจได้เท่าการเป็นครู…”