UNESCO ออกโรงให้หน่วยในแวดวงการศึกษานอกจากมุ่งดูแลเด็กแล้ว อย่าลืมสนับสนุนบรรดาคุณครู

UNESCO ออกโรงให้หน่วยในแวดวงการศึกษานอกจากมุ่งดูแลเด็กแล้ว อย่าลืมสนับสนุนบรรดาคุณครู

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ออกโรงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์การอิสระทั่วโลกในแวดวงการศึกษา นอกจากมุ่งดูแลให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนแล้ว อย่าลืมเอาใจใส่และให้การสนับสนุนบรรดาคุณครู ผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็กโดยตรงอย่างใกล้ชิดด้วย

การเรียกร้องครั้งนี้มีขึ้น ท่ามกลางความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนานาประเทศในการจัดวางระบบระเบียบเพื่อเปิดประตูรั้วโรงเรียนอีกครั้งรับการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์

โดยรายงานระบุว่า ขณะที่ โรงเรียนทั้งหลายร่างกฎระเบียบข้อบังคับมากมายเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเด็กในการกลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง กลับเป็นที่น่าเสียดายว่า ข้อควรปฎิบัติเหล่านี้ กลับละเลยความสำคัญของบทบาทครูเข้าไปด้วย

งานนี้ The Teacher Task Force, UNESCO และ องค์กรแรงงานสากลระหว่างประเทศ (ILO) จึงได้ร่วมมือกันจัดทำคู่มือแนะนำวิธีการที่ดีที่สุดที่จะให้การสนับสนุนคุณครูและคณาจารย์ในการวางแผนกลับมาสอนในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความเสี่ยงและเป็นภัยคุกคามผู้คนอยู่ในห้วงเวลานี้

ทั้งนี้ UNESCO ระบุว่า นับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คุณครูคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างความมั่นคงและต่อเนื่องทางการศึกษาของเด็กนักเรียนแทบทุกประเทศทั่วโลกที่ต้องหันมาเรียนหนังสือทางไกล

ไม่เพียงเท่านั้น คุณครูยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของเหล่าลูกศิษย์ของตนได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เมื่อโรงเรียนสามารถกลับมาเปิดเรียนได้อีกครั้ง คุณครูและผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือให้แก่เด็กนักเรียน จึงยังคงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนหนังสือ การปรับหลักสูตร การประเมินการสอน และการให้การสนับสนุนเด็กนักเรียนในการเรียน 

รายงานระบุว่า คู่มือเพื่อคุณครูของ UNESCO และเครือข่ายพันธมิตร ฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่กระบวนการและวิธีการที่จะเป็นหลักประกันรับรองให้แก่บรรดาคุณครูทั้งหลายว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในแผนการเปิดเทอมครั้งใหม่รับยุคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก

ในส่วนของรายละเอียดของคู่มือ ประกอบด้วย 7 แนวทางหลักๆ ด้วยกันคือ

  1. การให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนการเปิดโรงเรียน 
  2. การรับประกันความปลอดภัยของคุณครูในการมาสอนที่โรงเรียน 
  3. การให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางร่างกายและจิตใจของคุณครู 
  4. การให้ความช่วยเหลือคุณครูในการปรับตัวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการสอนแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดการฝึกอบรม การยกระดับปรับหลักสูตร และการเปลี่ยนการประเมินผลการเรียนการสอน
  5. การรับรองสภาพเงื่อนไขการทำงานของคุณครูจะไม่เลวร้ายรุนแรง กล่าวคือ คุณครูสามารถปฎฺิบัติงานตามเวลาที่กำหนด ไม่ต้องรับมือกับการทำงานล่วงเวลา หรือแบกรับภาระที่หนักหนาเกินไป รวมถึง มีจำนวนครูที่เพียงพอเหมาะสมกับการเรียนการสอนภายใต้สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ต้องบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด
  6. การรักษาหรือเพิ่มเงินเดือนหรือแหล่งทุนสนับสนุนทางการเงินอย่างเหมาะสม โดยในที่นี้ ไม่ได้หมายรวมถึงเพียงแค่เงินเดือน หรือค่าล่วงเวลาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ทางโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในแง่ของการยกระดับทักษะความรู้ความสามารถของคุณครูอีกด้วย 
  7. การให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอกับคุณครูและเจ้าหน้าที่่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งภายใต้การบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การรายงานผลการประเมิน ความคืบหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พบในช่วงการเวลานี้ จะทำให้คุณครูสามารถรับทราบและจัดการรับมือกับสภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวของทาง UNESCO และเครือข่ายพันธมิตรในครั้งนี้มีขึ้น ในห้วงเวลาที่คุณครูในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของตนเอง โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกสหภาพครูในอังกฤษ ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการเปิดโรงเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในประเด็นด้านความปลอดภัย 

ขณะที่ในสหรัฐฯ ผลสำรวจของ Ipsos ซึ่งจัดทำร่วมมือกับ สื่อท้องถิ่นชื่อดังอย่าง USA Today เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พบว่า 1 ใน 5 ของคุณครูผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ ยอมรับว่า อาจถอดใจและลาออกจากอาชีพครู ไม่กลับไปสอนในช่วงที่สหรัฐฯจะเปิดโรงเรียนในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง เหตุผลหลักก็เพราะกังวลในความปลอดภัย รองลงมาก็คือ ภาระงานที่ล้นเกินไป เพราะต้องเอาเวลาไปใส่ใจดูแลลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า 83% ของคุณครูในสหรัฐฯ กำลังเผชิญความยากลำบากในการสอนทางไกล เพราะความไม่พร้อมในหลายๆ ประการ และ 2 ใน 3 ของคุณครูยอมรับว่าต้องทำงานมากกว่าปกติหลายเท่า โดยเฉพาะในกลุ่มครูจบใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสอน เนื่องจากขาดประสบการณ์ในการเรียนการสอนออนไลน์ 

แม้กว่า 90% ของคุณครูจะตอบตรงกันว่า ยังคงรักในสายงานอาชีพของคน แต่เกือบครึ่ง หรือราว 48% ยอมรับว่า กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเลิกอาชีพครู เพื่อหันไปทำอาชีพอย่างอื่นที่ปลอดภัยกว่า และมีภาระผูกพันน้อยกว่า

 

ที่มา :
Back-to-school efforts must include teachers
Back to school? 1 in 5 teachers are unlikely to return to reopened classrooms this fall, poll says