“ความรัก” ทำให้ไม่มีเด็กหลังห้อง

“ความรัก” ทำให้ไม่มีเด็กหลังห้อง

นี่คือแนวคิดของ“ครูแอ๊ะ-กมลลักษณ์ นนทะสร”ครูชั้นอนุบาล 3 จากโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ให้พลังงานบวกในการใช้ “ความรัก” สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเราจะใช้หัวใจไปดูแนวคิดของครูพร้อมๆ กัน

“ตอนนี้เราไม่มีเด็กหลังห้องแล้วนะ” – ครูแอ๊ะ

 

ครูแอ๊ะเล่าให้เราฟังว่า แต่ก่อนเคยเบื่อกับวิธีการสอนแบบเดิมๆ ลูกศิษย์ก็จะออกมาเป็นแบบเดิมทุกปี เคยแม้กระทั่งสอนไปวันๆ ก่อนจะกลับมาคิดได้ว่า “มันบาปมั้ย?” ที่ปล่อยปละละเลยเด็กไปแบบนั้น จนเมื่อเวลาผ่านไป พอเราอายุมากขึ้น เลยคิดว่าเขาจะต้องได้คุณค่าอะไรกลับไป  – ครูแอ๊ะเปิดใจ

ครูแอ๊ะเอา “ความรัก” ในตัวลูกศิษย์กลับมาเป็นตัวตั้ง แล้วได้วิธีการสอนแบบ Active Learning จากโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ม.สงขลานครินทร์ มาเป็นตัวคูณ  มุมมองและทิศทางการสอนของครูก็เปลี่ยนไปเป็นเหมือนโลกอีกใบ

ครูแอ๊ะเล่าว่าการนำเทคนิค “จิตศึกษา” ถือเป็น “ทางเลือกใหม่” ในการเรียนการสอน นอกจากจะได้ฉีกกรอบเดิมๆ แล้ว ยังได้สร้าง “ความเท่าเทียม” ทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในชั้นเรียนอนุบาล แต่เราต้องทำจริง ไม่ใช่ทำเพื่อแค่ได้ทำ แต่ต้องมีผล มีเป้าหมาย ต้องทำให้ได้! – ครูย้ำด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น หนักแน่น

ซึ่งการเรียนการสอนแบบจิตศึกษานี้ โดยพื้นฐานแล้วคือ กระบวนการพัฒนาเด็กๆ จาก “ข้างใน” ของจิตใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้และความฉลาดทั้งทางด้านอารมณ์ (EQ) และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ (SQ) เปรียบเสมือนการ “Detox” จิตใจให้โล่ง สบาย ปลอดโปร่ง มีพื้นที่ในใจ มีสมาธิพร้อมก่อนเริ่มเรียนในแต่ละวัน

โดยปกติครูจะทำกิจกรรมง่ายๆ เป็นเวลา 5-10 นาที ก่อนสอน เพื่อให้เด็กๆ นิ่ง พอเขานิ่งเขาจะฟังเราได้ดีขึ้น ห้องไม่วุ่นวาย สงบ ดีขึ้นเยอะ ทำทุกวันซ้ำๆ จนเขาเกิดความเคยชิน ซึ่งเราจะเปลี่ยนกิจกรรมทุกครั้งที่สอน
เช่น ร้องเพลงบ้าง ฟังเพลงบรรเลงบ้าง นั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกบ้าง บางครั้งเด็กๆ ฟังเพลง “ค่าน้ำนม” แล้วก๋คิดตามซึ้งจนร้องไห้ก็มี หรือการฟังนิทานอย่าง “ลูกหมู 3 ตัว” แล้วให้จับใจความว่านิทานเกี่ยวกับอะไร เขาก็จับใจสรุปให้เราได้ แต่เด็กๆ ทุกคนต้องเคารพกติกาเดียวกันคือ “ถ้าครูพูดหนูต้องฟัง ถ้าหนูพูดเพื่อนต้องฟัง ถ้าเพื่อนพูดหนูเองก็ต้องฟัง ถ้าไม่เข้าใจ หรือถ้าต้องการจะตอบให้ยกมือ”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสอนรูปแบบใหม่จะไม่ได้ผลเลย ถ้าปราศจากความรักของครูเป็นพลังขับเคลื่อนในการเข้าถึงนักเรียน ครูแอ๊ะบอกเราต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ครูผู้นำ” มาเป็น “ครูผู้ตาม”  มากขึ้น นั่นคือการให้ความเข้าใจในความแตกต่างของเด็กๆ ไม่ตัดสิน ไม่ปล่อยทิ้ง

“ด้วยความเป็นครู ไม่ว่าเด็กเขาจะเป็นยังไง พร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเรียน เราต้องให้โอกาสเขาบางวันอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่พี่มีความสุข เมื่อเด็กๆ พี่ทำได้ เราคิดแค่ว่าเขาจะต้องได้คุณค่าอะไรกลับไป รักพวกเขาทุกคน”

อย่างครูมีหัวหน้าแก๊งเด็กซนอยู่คนหนึ่งที่เขาจะสมาธิสั้น เล่นแรง ซึ่งเมื่อก่อนถ้าเขาซนแล้วเราจะดุ แต่เดี๋ยวนี้พอเราได้ลองเป็นผู้ตาม ฟังเสียงหัวใจเขาบ้าง ให้เขาได้พูด ได้แสดงความคิดเห็นบ้าง ฝึกสมาธิเขา เขาก็มีสติขึ้น อยู่กับตัวเองได้มากขึ้น  เอาเขามากอด ชื่นชมเขา พอเราเห็นความสำคัญเขามากขึ้น ให้ความใส่ใจเขามากขึ้น เขาก็จะใกล้ชิดกับเรามากขึ้น มีอะไรก็มาเล่าให้เราฟัง ถ้าหัวหน้าแก๊งนิ่ง ลูกน้องก็นิ่งตาม จากแต่ก่อนที่แม่เป็นห่วงถามทางไลน์ว่าเปนไง ตอนนี้ไม่ต้องแล้วค่ะ

แม้กระทั่งเด็กพิเศษที่เป็นออทิสติกที่ครูเคยเล่าให้ฟัง “ถึงทุกวันนี้ เขาก็กล้าถาม กล้าตอบ จากที่ซน ไม่เอาเรื่อง ก็ได้พฤติกรรมเปลี่ยนไปเลย เพราะเราเริ่มให้ความสำคัญเขา ฟังเขามากขึ้น เขาก็จะภาคภูมิใจ อย่างวันก่อนสอนเรื่องดิน น้ำ น้ำมัน เขาก็ตอบเข้าประเด็นนะ 

“ด้วยความเป็นครู ไม่ว่าเด็กเขาจะเป็นยังไง พร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเรียน เราต้องให้โอกาสเขา อย่างของพี่มีเด็กในห้อง 23 คน ไม่ว่าใครจะเป็นยังไงพี่ก็รักหมดนะ ยังไงพี่ก็ต้องเคี่ยวเข็ญให้เขาขึ้น ป.1 เขียนได้ อ่านได้ในระดับปฐมวัย บางวันอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่พี่มีความสุข เมื่อเด็กๆ พี่ทำได้ เราคิดแค่ว่าเขาจะต้องได้คุณค่าอะไรกลับไป รักพวกเขาทุกคน ตอนนี้ไม่มีเด็กหลังห้องแล้วนะ เพราะทุกคนเก่งในแบบของตัวเอง”

“แม้จะเข้าโครงการนี้มาได้แค่ 3 เดือน แต่มันมีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พี่ภูมิใจมาก อย่างวันหยุดที่ต้องไปอบรม แม้จะเหนื่อย แต่ถ้าเด็กๆ เขาทำได้เราก็หายเหนื่อย” ครูแอ๊ะเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ

เหมือนกับวัตถุประสงค์ของ “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP (Teachers & School Quality Program)” ของ กสศ. ที่ต้องการผลักดันการเรียนการสอนให้ครอบคลุมและเข้าถึงเด็กๆ มากขึ้น จนไม่มีใครถูกทิ้งไว้หลังห้องอีกต่อไป!