ก่อนที่วิกฤต COVID-19 จะทำให้เกิดโศกนาฎกรรมในแวดวงการศึกษาโลก

ก่อนที่วิกฤต COVID-19 จะทำให้เกิดโศกนาฎกรรมในแวดวงการศึกษาโลก

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

นาย Gordon Brown ตัวแทนทูตพิเศษของยูเอ็น ออกโรงวิงวอน บรรดารัฐบาลและเอกชนชั้นนำ รวมถึงทุกองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับชั้น ร่วมมือร่วมใจเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูปฎิรูปด้านการศึกษา ก่อนที่วิกฤต COVID-19 จะทำให้เกิดโศกนาฎกรรมในแวดวงการศึกษาโลก

อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษกล่าวเตือนในฐานะทูตพิเศษด้านการศึกษาโลก (Global Education) แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยระบุว่า ภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะมีผลกระทบต่อวงการการศึกษาทั่วโลกอย่างมหาศาลชนิดที่ไม่มีอะไรเทียบเท่าได้ 

นับเป็นความเสียหายที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงเพียงพอที่จะเป็น “โศกนาฎกรรม” ของมนุษยชาติ

ทั้งนี้ นาย Gordon Brown ได้เรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษาเป็นลำดับต้นๆ เพื่อกลบลบช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ขยายกว้างมากขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

“การลงทุนและให้จัดสรรทุนงบประมาณให้แก่การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างจริงจัง” อดีตผู้นำอังกฤษในช่วงปี 2007-2010 ระบุ ก่อนกล่าวเสริมว่า โศกนาฏกรรมของมนุษยชาติจะเกิดขึ้นหากว่าทั่วโลกละเลยที่จะไม่ลงมือทำอันใด และปล่อยให้การศึกษาอยู่ในสภาพขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อฟื้นฟูพัฒนา

โดยความขาดแคลนดังกล่าว เปรียบได้กับการทำลายรากฐานในการพัฒนาประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนจากวิกฤตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และการศึกษา คือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาฟื้นฟูจาก COVID-19 โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศยากจน 

ที่ผ่านมา ทาง UN ย้ำเสมอว่า ภาวะชะงักงันจาก COVID-19 ในด้านการศึกษา ที่หมายรวมถึง การปิดโรงเรียนในหลายประเทศทั่วโลก คือความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ขณะที่ บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างวิตกกังวลว่า วิกฤต COVID-19 จะส่งผลให้ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำตกอยู่ในภาวะอัตคัต เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียนหนังสือของเด็กนักเรียนในประเทศ

ที่มาภาพ : unsplash – Santi Vedrí

“นอกจากชักจูงให้นานาประเทศตระหนักว่า พวกเขาไม่สามารถสร้างอนาคตที่ยาวนานและยั่งยืนได้โดยปราศจากการลงทุนด้านการศึกษา พวกเราจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนให้พวกเขารู้ว่า การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อคโอกาสในการจ้างงานอีกทางหนึ่งด้วย” นาย Gordon Brown กล่าว

ความคิดเห็นของอดีตผู้นำอังกฤษครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ World Innovation Summit for Education (WISE) ที่ทาง UN เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Education Disrupted, Education Reimagined” โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนปฎิรูประบบการศึกษาทั่วโลกหลังยุควิกฤต COVID-19

ในมุมมองของอดีตผู้นำประเทศ นาย Gordon Brown มองว่า นอกเหนือไปจากการที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณลงทุนด้านการศึกษาอย่างจริงจังแล้ว รัฐบาลในประเทศร่ำรวยและองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงการพิจารณาทบทวนปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้ให้กับบรรดาประเทศยากจน เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ มีงบประมาณที่เพียงพอเพื่อนำไปลงทุนด้านการศึกษาและการสาธารณสุข

นาย Gordon Brown อธิบายว่า ด้วยสถานการณ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จนทำให้เศรษฐกิจของแทบจะทุกประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะย่ำแย่หรือถดถอย กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศตกอยู่ในสภาพงบประมาณจำกัด ยิ่งประเทศไหนที่มีภาระหนี้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง 

“ประชากรราว 80,000 ล้านคนใน 76 ประเทศยากจนทั่วโลกต้องเผชิญกับการหาเงินเพื่อจ่ายหนี้อย่างน้อยในช่วง 18 เดือนข้่างหน้า” อดีตผู้นำอังกฤษกล่าว โดยประเทศยากจนเหล่านี้คือประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำซึ่งได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจาก International Development Association (IDA – สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ) อีกทั้ง ยังเป็นบ้านของเด็กวัยเรียน 80% ทั่วโลก

ทั้งนี้ นาย Gordon Brown มองว่า แทนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยจากประเทศเหล่านี้ ก็ปล่อยให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในด้านการศึกษาและสาธารณสุขจะดีกว่า โดยน่าจะเป็นหนทางที่เร็วที่สุดที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในด้านการศึกษาและการสาธารณสุข

แม้จะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อประเทศหรือกลุ่มองค์กรที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบในการจัดสรรมาตรการผ่อนผันชำระหนี้ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทูตพิเศษด้านการศึกษาของ UN เคยแสดงความเห็นระหว่างพูดคุยกับ นาย Larry Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ  เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเอ่ยถึง จีน ในฐานะนักลงทุนและเจ้าหนี้รายใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก ว่าสมควรเป็นแกนนำหลังในการจัดการมาตรการผ่อนผันบรรเทาภาระหนี้ 

ที่มาภาพ : unsplash – kian zhang

“ที่ผ่านมา การตัดสินใจของจีนเพื่อเป็นนักลงทุนระยะยาวให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเร่งลงทุนพัฒนาในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในต่างแดนล้วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี ดังนั้น นี่จึงเป็นเวลาสำคัญสำหรับจีนที่จะยกระดับบทบาทผู้นำ รวมกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ในการผ่อนผันการชำระหนี้ในปีนี้และปีหน้าออกไป” ทูตพิเศษยูเอ็นกล่าว

นอกจากดำรงตำแหน่งในฐานะทูตพิเศษด้านการศึกษาโลกของ UN แล้ว นาย Gordon Brown ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการด้านการศึกษาแห่งอังกฤษ และถือเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญที่อุทิศตัวสนับสนุนการลงทุนเพื่อการปฎิรูปด้านการศึกษา โดยเชื่อว่า การจัดสรรเงินโดยตรงให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านค่าเทอม โครงการอาหารกลางวัน การฝึกอบรมเสริมทักษะครู และการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษาใหม่ๆ จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพลิกโฉมวงการการศึกษาให้ก้าวหน้า ทั่วถึง และเท่าเทียมเสมอภาคกัน 

ความเห็นของนาย Gordon Brown ยังมีขึ้นหลังจากที่บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศชั้นนำ 20 ประเทศ (G20) บรรลุข้อตกลงเห็นชอบให้ระงับการชำระหนี้ให้แก่ประเทศที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ในโครงการ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อระงับการชำระหนี้ให้แก่ประเทศที่มีประวัติดี โดยคาดว่าจะมีถึง 73 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ทำให้ลดภาระที่ต้องแบกรัรบจากผลกระทบทางเศรษฐกิจเพราะการระบาดของ COVID-19

ทาง G20 เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนว่า จนถึงขณะนี้ มีประเทศเข้ายื่นขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 41 แห่ง ในจำนวนนี้ 26 แห่งมาจากภูมิภาคแอฟริกา

 

ที่มา : Potential ‘human tragedy’ unfolding in global education, former UK PM says