กสศ.แถลงครบ 2 ปี ช่วยเด็กมากกว่า 1.1 ล้านคน พร้อมเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง”

กสศ.แถลงครบ 2 ปี ช่วยเด็กมากกว่า 1.1 ล้านคน พร้อมเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง”

กสศ.แถลงครบ 2 ปี ช่วยเด็กมากกว่า 1.1 ล้านคน ครอบคลุมเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส พร้อมเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง”

ชวนทุกภาคส่วนร่วมเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้าน สพฐ.ระบุถือเป็นนวัตกรรมการให้โอกาสทางการศึกษาที่ไม่มุ่งเน้นการสงเคราะห์ด้วยเงิน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563  ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดให้มีการแถลงข่าวครบรอบ 2 ปี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมเปิดโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากการเลื่อนเปิดเทอม เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมมากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

“ผมต้องขอขอบพระคุณหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ  และการสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึง และได้มีโอกาสช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น” ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม  หลายคนอาจคิดว่าการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะวัดความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินการด้วย “จำนวนหัว” ของกลุ่มเป้าหมายที่เราโอนเงินให้เสร็จเพียงเท่านั้น แต่ที่ กสศ. คิดว่าการทำงานของกับน้องๆ มากกว่า 1 ล้านชีวิตนี้พึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

ดร.ประสาร  กล่าวว่า  กสศ. จึงได้มีการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชื่อว่า iSEE ที่จะช่วยติดตามทำงานสนับสนุนนักเรียนทุกคนได้เป็นรายบุคคล ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรับการสนับสนุนจาก กสศ. ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ไปจนถึงการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สูงกว่า ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถหยุดความยากจนไม่ให้ข้ามไปสู่รุ่นลูกหลาน ซึ่งการใช้ระบบดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลติดตามให้ความช่วยเหลือยังได้รับการชื่นชมจากองค์การยูเนสโกอีกด้วย

ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วนรวมถึงระบบการศึกษา เช่น สถานการณ์ล่าสุด เด็กๆ กำลังขาดแคลนอาหารจากการปิดเทอมที่ยาวนานเท่าที่เคยมีมา โดยเลื่อนไปถึง 46 วัน ก็ได้รับความห่วงใย ช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชนและประชาชน

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ครม. มีมติเห็นชอบคืนงบประมาณให้ กสศ. 200 ล้านบาท นำไปรวมกับงบฉุกเฉินเดิมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท) ที่ กสศ.ดูแลทั้งหมด  ตั้งแต่ชั้นประถม 1 – ม. 3 ทั่วประเทศ และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน  โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน ปัจจุบัน กสศ.ได้ทยอยโอนเงินมากกว่า 300 ล้านบาท สำหรับนักเรียน ป.1-ป.5 ไปถึงบัญชีโรงเรียนทั้งสิ้น 25,408 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะโอนส่วนที่เหลือได้ครบ 500 ล้านบาทภายในสัปดาห์นี้ “ ดร.ประสาร กล่าว

นอกจากนั้น กสศ. ยังได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง  โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดก่อน เช่น เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการประมวลผลจากระบบ iSEE เครื่องมือของกสศ.ที่สามารถชี้เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ สพฐ.

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สพฐ.และกสศ. ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนวัตกรรมของการให้โอกาสทางการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสงเคราะห์ด้วยเงิน แต่คือการร่วมกันปฏิรูปวิธีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยเงื่อนไขที่ว่างบประมาณจะต้องไปช่วยให้เด็กๆมาโรงเรียนไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ทำงานบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิตของนักเรียนยากจนหลายล้านคน  ทำให้เราสามารถติดตามและมองเห็นปัญหา และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กๆได้ทันท่วงที

“เช่นผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอม เป็นสิ่งที่สพฐ.ให้ความสำคัญ เพราะโรงเรียนไม่ใช่แค่พื้นที่เรียนรู้แต่เป็นที่พึ่งของเด็กๆ ยากจนในเรื่องอาหารและโภชนาการด้วย ที่ผ่านมาคุณครูและโรงเรียนไม่เคยนิ่งเฉย คอยติดตามความเป็นอยู่นักเรียนอย่างใกล้ชิด ขณะนี้คุณครูของเรากว่า 4 แสนคน กำลังลงพื้นที่สำรวจความต้องการของนักเรียนเพื่อเตรียมการช่วยเหลือแจกอาหารตามสภาพปัญหาของเด็กๆ จากเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่ทางสพฐ.ร่วมมือกับกสศ.ขอให้เชื่อมั่นในระบบการจัดการของโรงเรียนที่จะส่งต่อไปถึงมือเด็ก โดยเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต จะช่วยสร้างความเข้าใจการดำเนินงานแก่โรงเรียนในสังกัดและคอยกำกับดูแล” รอง เลขาธิการ สพฐ. กล่าว

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ
ที่ปรึกษาโครงการ ฯ

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา สมอง  ดังนั้น เราต้องให้อาหารเด็กได้รับสารอาหารที่ครบ ​5 หมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ หากขาดตัวใดตัวหนึ่งหรือกินไม่พอ ก็อาจมีอาการสมองฝ่อ ร่างกายเตี้ย ผอมแคระแกร็น มีผลการเรียนและการพัฒนาสติปัญญาร่างกายด้อยกว่าเด็กปกติ  เหตุผลนี้ ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กยากจนพิเศษ ด้วยการโอนเงินไปให้โรงเรียนซื้อข้าวสาร อาหารแห้งที่เป็นประโยชน์เป็นถุงยังชีพแจกเด็ก  และภายในถุงยังชีพมูลค่า 600 บาท จะประกอบไปด้วย ข้าวสาร 20 กก. ไข่ไก่ 36 ฟอง ปลากระป๋อง 10 กระป๋อง นม  น้ำมันพืชที่ มั่นใจว่าจะลดความหิวโหย ลดการขาดสารอาหารในช่วงนี้พร้อมไปจนถึงเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.

นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน ประธานชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากประสบการณ์จะเห็นว่าภาวะทุพโภชนาการของเด็กจะเกิดขึ้นรุนแรงในช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ และจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงใกล้ปิดเทอม  เพราะเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอระหว่างอยู่ที่บ้านช่วงปิดภาคเรียน แต่จะได้รับอาหารที่ครบถ้วนมากขึ้นเมื่อได้มาโรงเรียนซึ่งจัดอาหารกลางวันให้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร ซึ่งภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนในลักษณะนี้แทบทั้งนั้น นักเรียนจึงไม่ได้รับอาหารที่ครบ 5 หมู่ บางบ้านภาพที่เห็นคือเขากินข้าวกับเกลือด้วยซ้ำ

ครูอรุณศรี หลงชู โรงเรียนบ้านยะบะ (อุปการวิทยา) จ.นราธิวาส กล่าวว่า การเลื่อนเปิดเทอมออกไปนานขึ้นส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนที่ฐานะทางบ้านยากจนหลายครอบครัวไม่มีเงินซื้ออาหาร จากเดิมที่เด็กสามารถมากินอาหารเช้า และอาหารที่โรงเรียนจัดไว้ให้ได้ ดังนั้นช่วงปิดเทอมเด็กบางคนจึงได้กินอาหารน้อยลงหรือต้องอดเป็นบางมื้อ เบื้องต้นทางโรงเรียนได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าด้วยการนำงบของโรงเรียนไปจัดซื้อถุงยังชีพซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำปลา น้ำตาล น้ำมัน ปลากระป๋อง  เพื่อแจกเด็กทั้ง 580 คนของโรงเรียน

ครูปรางค์ทิพย์ สุขมาก โรงเรียนโนนหวาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การเลื่อนเปิดเทอมนานขึ้นมีผลกระทบด้านอาหารกับเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ปกติจะฝากท้องไว้กับโรงเรียนช่วงมื้อเที่ยง เมื่อการเลื่อนเปิดเทอมออกไปพวกเค้าจึงไม่ได้ทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ตอนลงไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียน ยิ่งสลดใจบางคนบอกกับครูว่ากินข้าวต้มกับเกลือ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ผนวกกับสภาพบ้านของเด็กบางคนครอบครัวมีแต่หลังคายังไม่มีฝาบ้าน  เวลาฝนตกก็สาด แล้วอยู่ได้อย่างไร

“วันนั้นครูขออนุญาตไปเปิดตู้กับข้าวเหลือแต่น้ำแกงชามเล็กๆ ต้องยอมรับว่าอัตคัตจริงๆ บางพื้นที่เข้าไม่ถึง สงสารเด็กที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ หากเปรียบเทียบกันเด็กที่มีความพร้อม บางครั้งเราได้ยินว่า  การเรียนอยากได้ผลประเมินแบบนั้น คะแนนแบบนี้  แต่ถ้าเด็กไม่ได้มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ในเรื่องผลการเรียน  ถ้าอาหารการกินอยู่ไม่สมบูรณ์ ถ้าครอบครัวไม่สมบูรณ์ เป็นเรื่องพูดยาก” ครูปรางค์ทิพย์ กล่าว