‘ครู’ ไม่ได้แค่สอนหนังสือ แต่ต้องเชื่อมโยงการศึกษาเข้าหาชุมชนได้

‘ครู’ ไม่ได้แค่สอนหนังสือ แต่ต้องเชื่อมโยงการศึกษาเข้าหาชุมชนได้

กิจกรรมนอกห้องเรียน จุดแรงบันดาลใจให้เลือกเป็นครู

จากภาพทรงจำวัยเยาว์ที่สร้างความประทับใจทุกครั้งเมื่อย้อนนึกถึง ได้นำพาให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นครู และฝันนั้นเองที่เป็นเสมือนไฟส่องนำทางให้เธอได้เข้าสู่ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มีเป้าหมายเพื่อผลิตครูรุ่นใหม่ที่ผสานสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนบนพื้นที่ห่างไกล กระทั่งวันนี้ที่เธอกำลังจะเป็นนักศึกษาครูคนใหม่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ซึ่งเธอบอกว่า “เมื่อปีการศึกษาใหม่เริ่มขึ้น ก็จะเป็นเวลาของการนับถอยหลังสู่วันที่จะได้เป็นครูจริงๆ แล้ว”

จิตลดา คำมา หรือ ‘น้องทิพย์’ คือหนึ่งในนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการครูรักษ์ถิ่น ซึ่งมีคะแนนกิจกรรมอันโดดเด่น ด้วยความมุ่งมั่นที่แสดงออกชัด ว่าเธอเข้าใจลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นตัวเองเป็นอย่างดี

น้องทิพย์เล่าว่า เธอเติบโตมาในอำเภอที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเลย คือที่อำเภอหนองหิน ซึ่งมีทั้งสวนหินผางาม น้ำตกเพียงดิน หรือภูป่าเปาะ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฟูจิเมืองเลย’ และแม้หัวใจเธอจะบอกให้เดินหน้าสู่การเป็นครู แต่ทิพย์ก็มีความสนใจงานด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้กัน เพราะคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการสร้างอาชีพในชุมชน และเมื่อคนในชุมชนมีอาชีพที่ดี ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กๆ อยากเจริญรอยตาม

 

จาก ‘ครู’ ถึง ‘ครู’
“แม้แต่เด็กๆ ก็ต้องมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน”

สภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันงดงาม ได้หล่อหลอมให้น้องทิพย์รู้สึกผูกพันและหวงแหนพื้นที่บ้านเกิด เธอจึงมองว่าการเป็นครูจะทำให้สามารถถ่ายทอดสำนึกของความ ‘รักษ์ถิ่น’ ออกไปได้ โดยไม่จำกัดว่าเป็นแค่เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ เท่านั้น แต่เธอมองว่าการดูแลรักษาและช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป คือหน้าที่ของทุกคนในชุมชน โดยครูจะต้องเป็นสื่อกลางระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้เด็กได้รับการสนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนตั้งแต่เล็กๆ เช่นที่เธอเคยได้รับโอกาสจากครูเมื่อครั้งยังเรียนชั้นประถม

“ช่วงที่เรียน ป.1 ถึง ป.6 หนูมีครูที่ให้โอกาสเราทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหลายอย่าง ครูพาเราออกไปทัศนศึกษาสถานที่ต่างๆ ให้เราเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน พาเราไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ทำให้หนูเห็นความสำคัญของชุมชนของเรา มันเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน ซึ่งหนูคิดว่าวันที่ได้เป็นครู ก็อยากให้นักเรียนได้มีกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ได้เรียนรู้ท้องถิ่นเพื่อมาแลกเปลี่ยนกันว่าเราควรพัฒนาอะไรบ้างเพื่อยกระดับชุมชน ให้เด็กนักเรียนทุกคนคือส่วนหนึ่งของการพัฒนา หนูเชื่อว่าโรงเรียนกับชุมชนต้องเชื่อมโยงถึงกัน”

 

‘ครูรักษ์ถิ่น เติมฝันให้ (ใกล้) เป็นจริง

ความที่อยากเป็นครู น้องทิพย์จึงตั้งใจเรียนและพยายามพาตัวเองเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างของทางโรงเรียนมาตลอด อาทิการเป็นตัวแทนไปแข่งขันด้านวิชาการ ขณะที่เกรดเฉลี่ยของเธออยู่ที่ระดับ 3.5-3.7 มาตั้งแต่ชั้นประถมถึงวันที่จบ ม.ปลาย โดยน้องทิพย์ยึดถือความคิดว่า ผลการเรียนที่ดีจะทำให้โอกาสที่จะทำตามฝันให้สำเร็จยิ่งเปิดกว้างขึ้น จนวันที่เธอเรียนจบและได้พบกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เธอบอกว่า “โครงการนี้ตอบโจทย์ในทุกสิ่งที่คิดไว้ ทั้งการเป็นครูและความฝันว่าอยากกลับมาพัฒนาบ้านของเรา”

ทิพย์ไม่ลืมที่จะขอบคุณครูอาจารย์ทุกคนที่มีส่วนสนับสนุน คัดเลือก พิจารณา และให้โอกาสได้มีวันนี้ รวมถึงขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจเลือกสมัครเข้าโครงการในวันนั้น จากนี้เธอคิดว่าจะมุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ คือเธอจะต้องเป็นครูที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำพาท้องถิ่นให้พัฒนาไปข้างหน้าต่อไป

เมื่อถูกถามว่า ‘คิดว่าตัวเองจะเป็นครูแบบไหน’ น้องทิพย์บอกว่า เธอจะเป็นครูที่พร้อมเรียนรู้ปรับปรุงตัวเองและสามารถปรับตัวเข้าหาเด็กๆ ได้ เพราะสิ่งที่เธออยากมอบให้ลูกศิษย์มากที่สุดไม่ใช่ความรู้ หรือความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการ แต่คือแรงบันดาลใจในการเรียน และการมองเห็นอาชีพหรืองานที่อยากทำในอนาคต นั่นเพราะทิพย์เชื่อว่าหากเด็กๆ ‘มีเป้าหมายในการเรียน’ พวกเขาจะมีแรงผลักให้อยากเรียนหนังสือให้ดี และมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ซึ่งสิ่งที่เธอคิดจะเป็นจริงได้ก็ต้องอาศัยต้นแบบที่ดีจากคนในชุมชนนั่นเอง 

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค