ลงพื้นที่สัมผัสของจริง กุญแจลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาอินโดนีเซีย

ลงพื้นที่สัมผัสของจริง กุญแจลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาอินโดนีเซีย

ที่มารูป : https://www.idntimes.com

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่บุคคลสำคัญและหัวหอกด้านการศึกษาของประเทศ อย่างกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซียจะมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันแผนปฎิรูปยกระดับโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศให้มีความทันสมัย ด้วยการประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้ 

แต่ในมุมมองของ นิลา ทันซิล (Nila Tanzil) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ทามัน บากาน เปลันกิ (Taman Bacaan Pelangi) หรือ สวนสายรุ้งแห่งการอ่าน (Rainbow Reading Gardens) กลับระบุชัดว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงพอและครอบคลุมพอที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศได้ 

โดยเฉพาะในประเด็นของการมุ่งให้เด็กๆ ชาวอินโดนีเซียทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงทั่วหน้าเสมอภาคกัน

ที่มารูปภาพ : https://nowjakarta.co.id

ทั้งนี้ นิลา เขียนบทความแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อย ที่ข้อเสนอปฎิรูปการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซียฉบับล่าสุดจะถูกปัดลงไป 

เพราะต่อให้ในห้วงเวลานี้มีประชาชนชาวอินโดนีเซียมากกว่าครึ่งจะเริ่มคุ้ยเคยคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่เทคโนโลยีนวัตกรรมทั้งหลายทำให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่เมื่อเอ่ยถึงด้านการศึกษาแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ยังคงมีปัจจัยท้าทายมากมาย

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ยังคงมีเด็กอีกมากในอินโดนีเซีย ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากเป็นไปได้ ก่อนที่จะร่างแผนปฎิรูปการศึกษาของประเทศในครั้งต่อไป นิลา ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สัมผัสของจริงสักครั้ง อย่างน้อยก็ลองไปเยือนบรรดาห้องสมุดของ มูลนิธิ ทามัน บากาน เปลันกิ ซึ่งตั้งอยู่ตามเกาะห่างไกลทางภาคตะวันออกของประเทศ

เพื่อไปดูและสัมผัสว่า เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างในการที่จะได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์การลงพื้นที่ของจริงในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในการคิดประยุกต์หาแนวทางที่เหมาะสมในการลดช่องว่าง ความแตกต่างทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กในพื้นที่ชนบทของประเทศ และเพื่อทำให้ความห่างไกลไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้ต้องได้รับการศึกษาที่อ่อนแอ อ่อนด้อยอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า ทางมูลนิธิไม่ยินดีเกี่ยวกับแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการศึกษาของทางรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเองก็ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ ราสพ์เบอร์รี่ พาย (Raspberry Pi) การร่วมมือสร้าง Literacy Cloud กับทาง กูเกิ้ล  และการใช้ Zoom ประชุมฝึกอบรม 

ทว่า ประสบการณ์จากการลงพื้นที่และคลุกคลีทำงานวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านบนเกาะห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตใช้ ทำให้ตระหนักได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้จริงสำหรับเด็กชาวอินโดนีเซียอีกหลายล้านคน

ดังนั้น ทันทีที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซีย และมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนทั่วประเทศ สิ่งแรกที่ทางมูลนิธิลงมือทำอย่างเร่งด่วนก็คือการบันทึกเนื้อหาข้อมูลการเรียนทั้งหมด แล้วจัดส่งแจกจ่ายไปยังนักเรียน 2,000 คนในพื้นที่เกาะฟอเรส และเกาะปาปัวตะวันตก โดยแบ่งการแจกเนื้อหาออกเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กเหล่านี้จะยังคงได้เรียนหนังสือและเรียนตามทันเพื่อนๆ 

ขณะเดียวกัน ทางมูลนิธิก็แสวงหาพันธมิตร เพื่อขยายพื้นที่แจกจ่ายของโครงการ ให้เด็กๆ ในพื้นที่ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตได้เรียนหนังสือมากที่สุด

ที่มารูปภาพ : https://nowjakarta.co.id

ทั้งนี้ โควิด-19 ทำให้เด็กเรียนระดับปฐมวัยในอินโดนีเซียราว 60 ล้านคน ตกอยู่ในสภาพไร้หนทางเรียนหนังสือ ซึ่งแม้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็จจะก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้ได้เรียนหนังสือในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม แต่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เด็กทุกคนในอินโดนีเซียจะเข้าถึงได้

ข้อมูลล่าสุดพบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอินโดนีเซียอยู่มากกว่า 171 ล้านคนทั่่วประเทศ แต่ในจำนวนมากมายดังกล่าว การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบนเกาะห่างไกลอย่าง เกาะปาปัว เกาะสุลาเวสี เกาะมาลูกู และ เกาะนูสา เทงการา กลับมีเพียง 5-10% เท่านั้น 

เรียกได้ว่า แต่เดิมเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งของเกินเอื้อมอยู่แล้ว และ การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันให้เด็กๆ อินโดนีเซียในชนบทห่างไกลถูกผลักให้ล้าหลังมากขึ้นไปกว่าเดิม เปลี่ยนคุณภาพการศึกษาของอินโดนีเซีย ระหว่างในเมืองกับชนบท ให้เป็นรอยแตกหลุมลึกมากขึ้นกว่าเดิม

การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะผลการศึกษาของสถาบัน Research Triangle Institute ก่อนหน้านี้ในปี 2014 พบว่า เด็กๆ บนเกาะนูสา เทงการา, เกาะปาปัว และเกาะมาลูกู มีกทักษะการอ่านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของประเทศ โดยเด็กๆ ในพื้นที่ อ่านได้เพียง 30 คำต่อนาที เมื่อเทียบกับเด็กบนเกาะชวา และเกาะบาหลี ที่อ่านได้ถึง 60 คำต่อนาที 

และแน่นอนว่า สิ่งที่บกพร่องไม่ใช่ศักยภาพหรือขีดความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเด็ก แต่เป็นบริบทแวดล้อมทางสังคมที่เด็กเหล่านี้ล้วนต้องเผชิญ และเป็นสิ่งที่มูลนิธิ ทามัน บากัน เปลันกิ รู้ซึ้งมากที่สุดหลังจากได้ลงพื้นที่สัมผัสกับของจริงจนนับไม่ถ้วน

นอกจากจะมีอีกหลายหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว บางแห่งไม่มีกระทั่ง สัญญาณโทรศัพท์ บางหมู่บ้านเพียงแค่ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญของเกาะเพียงหนึ่งชั่วโมง กลับไม่มีเด็กสักคนในหมู่บ้านรู้จักดินสอสี 

ดังนั้น ไม่ต้องจินตนาการเลยว่า ทันทีที่ทางมูลนิธิตัดริบบิ้นเปิดห้องสมุดให้กับหมู่บ้าน รอยยิ้มของเด็กเหล่านี้จะกว้างมากเพียงใด

นิลา ตอกย้ำว่า สิ่งที่อินโดนีเซียหลงลืมไปก็คือ สภาพความเป็นจริงของประเทศที่แตกต่างจากนานาประเทศทั่วโลก ในขณะนี้ ชาวอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา และตามหัวเมืองใหญ่กำลังเพลิดเพลินมีความสุขกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมากมาย เด็กๆ ส่วนใหญ่ในพื้นที่ห่างไกลกำลังเรียนหนังสืออยู่ภายใต้แสงรำไรของตะเกียงน้ำมัน 

ที่มารูปภาพ : www.facebook.com/Anak-SMKN-1-Welak

ในหมู่บ้าน วีลัค (Welak) ทางตะวันตกของมังการาอิ (Manggarai) บนเกาะฟลอเรส ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างต้องจัดสรรการใช้ไฟอย่างอัตคัต โดยอนุญาตให้มีหลอดไฟในบ้านเพียง 2 ดวงเท่านั้น ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงการเปิดโทรทัศน์เพื่อดูรายการด้านการศึกษาจากสถานีโทรทัศน์ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการซื้อสมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อปสักเครื่องเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ

แม้ว่าในช่วงนี้ เป็นช่วงที่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง กระนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่หน่วยงานของภาครัฐจะจัดสรรบุคลการเพื่อลงพื้นที่สัมผัสกับความเป็นจริงเป็นที่เกิดขึ้น และการให้ความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์คือการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดในแง่ของเวลาและทรัพยากร

ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ การศึกษายังคงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่ไม่อาจละเลยมากที่สุด เทียบเท่ากับประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะการปิดโรงเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงหยุดเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพรากเด็กออกจากโอกาสในการเติบโตและพัฒนาให้เต็มกำลังความสามารถ ไม่ควรมีเด็กคนไหนในอินโดนีเซียถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของประเทศ นวัตกรรมทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการของอินโดนีเซียจึงไม่ควรมุ่งไปที่การหาทางประยุกต์ใหญ่เทคโนโลยีขั้นสูงล้ำหน้าแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมถึงแนวทางแบบ โลว์เทค (Low-tech) และ โนเทค (No-tech)ด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กอินโดนีเซียทุกคนจะยังสามารถเรียนหนังสือศึกษาหาความรู้ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดเพราะไวรัสโควิด-19 ระบาด รวมถึงอนาคตหลังจากนี้ด้วย

 


นิลา ทันซิล คือ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ทามัน บากาน เปลันกิ ซึ่งอุทิศทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อยกระดับอัตราการอ่านออกเขียนได้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลในภูมิภาคตะวันออกของประเทศอินโดนีเซียในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ทางมูลนิธิได้สร้างห้องสมุดแล้ว 131 แห่ง บน 18 เกาะ และจัดการฝึกอบรมครู อาจารย์ใหญ่ และบรรณารักษ์ เกือบ 2 ,000 คน

 

ที่มา : Minister Nadiem, please visit children in eastern Indonesia