“การเรียนออนไลน์นั้นเปิดเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีที่กว้างมากขึ้น” มุมมองจากบิล เกสต์ถึงระบบการศึกษาในช่วง COVID-19

“การเรียนออนไลน์นั้นเปิดเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีที่กว้างมากขึ้น” มุมมองจากบิล เกสต์ถึงระบบการศึกษาในช่วง COVID-19

บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชันและนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ได้แสดงความคิดเห็นไว้กับสำนักข่าว CNN ว่า การเรียนทางไกลนั้นนับเป็นสิ่งที่แย่กว่าการเรียนในห้องเรียนสำหรับเด็กเล็ก “โดยเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนจากกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้น้อย การเรียนออนไลน์นั้นกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เพราะพวกเขาไม่มีแม้แต่อุปกรณ์หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ครูผู้สอนและโรงเรียนเองก็ไม่ได้เตรียมพร้อมส่วนนี้เอาไว้ ความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษานี้จึงยิ่งกว้างมากขึ้นไปอีก” 

ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษานั้นกลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับกลุ่มครอบครัว โรงเรียน และเด็กนักเรียนในทุกระดับชั้น สำหรับในสหรัฐอเมริกา Federal Communications Commission เคยประมาณไว้เมื่อปี 2019 ว่าพลเมืองชาวอเมริกันมากกว่า 21 ล้านคน (จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 328 ล้านคน) ไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  ส่วนใหญ่มีพื้นที่อยู่อาศัยในส่วนชานเมือง รายงานจากศูนย์วิจัยพิวเองก็ระบุว่า การขาดแคลนการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับความสามารถในการทำการบ้านของเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากในนักเรียนครอบครัวกลุ่มคนผิวดำ กลุ่มฮิสแปนิก และกลุ่มครอบครัวรายได้ต่ำ ทั้งรายงานจากพิวยังกล่าวอีกว่า 17% ของเด็กวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 13-17 ปีนั้นไม่สามารถทำการบ้านตามที่ถูกมอบหมายได้ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต

ทางฝั่งโรงเรียนเองก็เผชิญกับอุปสรรคด้านการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน เพราะใช่ว่าทุกโรงเรียนจะมีอุปกรณ์เพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับนักเรียนสามารถนำกลับไปเรียนทางไกลจากที่บ้านได้ ส่วนของโรงเรียนรัฐบาลในเมืองนิวยอร์กได้ให้นักเรียนยืม iPad ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวนกว่า 300,000 เครื่อง ซึ่งทางฝั่งผู้ปกครองเองก็สามารถกรอกแบบฟอร์มการยืมอุปกรณ์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน เจ้าหน้าที่จากโรงเรียนในนิวยอร์กกล่าวว่า เมืองได้รับ iPad จำนวน 50,000 เครื่องต่อสัปดาห์จาก Apple พร้อมกับที่ IBM เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุปกรณ์ iPad นั้นถูกส่งให้กับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ สัปดาห์ที่สองจะถูกมอบให้กับนักเรียนที่อยู่ในที่พักชั่วคราว ที่พักพิงฉุกเฉิน และศูนย์รับเลี้ยง ในขณะที่เริ่มเพิ่มจำนวนการส่งอุปกรณ์ให้กับเด็กนักเรียนระดับมัธยมปลายที่กลุ่มนักเรียนหลายภาษา นักเรียนผู้พิการ และนักเรียนที่อาศัยอยู่ในบ้านการเคหะแห่งชาติ

กลุ่มครอบครัวยากจนนั้นเป็นเพียงหนึ่งในปัญหามากมายของนักการศึกษาที่จะต้องเจอในช่วงสถานการณ์นี้ การพยายามปรับให้เข้ากับความเป็นจริง ที่ว่าเด็กนักเรียนระดับ K-12 ในโรงเรียนทั่วประเทศนั้นหยุดเรียนไปนานนับเดือน ทั้งยังต้องเจอกับเรื่องของความแตกต่างในการเชื่อมโยงระหว่างเด็กยากจนและเด็กที่บ้านมีฐานะ เช่นเดียวกับครอบครัวในเมืองและครอบครัวชานเมือง ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำถูกขยายออกมากขึ้นสำหรับมิติด้านการศึกษานี้

ในขณะเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเองก็มีประเด็นความกังวลในเกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่มีรายได้น้อย ว่าไม่อาจจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ออนไลน์ได้ ก็ย่อมถูกทิ้งรั้งท้ายเพื่อนร่วมชั้น หรือไม่สามารถเชื่อมต่อออนไลน์กับคุณครูได้ ไม่อาจทำการบ้านหรือมีส่วนร่วมกับเพื่อโครงงานร่วมกับเพื่อนร่วมห้อง และยิ่งในโลกใหม่ที่เป็นรูปแบบสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) การเปลี่ยนผ่านของรูปแบบห้องเรียนมาสู่การเรียนทางไกลนั้นขยายขอบเขตจากย่านสู่เมือง จากเมืองสู่ระดับประเทศ ยึดโยงอยู่กับงบประมาณที่นักเรียนแต่ละคนและแต่ละครอบครัวมีอยู่

ส่วนตัวบิล เกสต์นั้นสนับสนุนให้เด็กนักเรียนใช้ “ต้นทุน” การเรียนในรูปแบบของตัวเอง ถ้าหากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็เลือกแพลทฟอร์มเรียนออนไลน์ที่มีอยู่มากมาย แต่ถ้าหากไม่ เด็กก็มีสิทธิ์เลือกในรูปแบบการเรียนร่วมกับเพื่อนคนเก่งในละแวกบ้านได้เช่นเดียวกัน เกตส์แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนนั้นจำเป็นต้องเข้าใจเด็กทุกคนที่มีความแตกต่างกัน และยังย้ำอีกว่าการที่เด็กนักเรียนได้ใช้เวลานอกบ้านเท่าที่สามารถทำได้นั้นก็เป็นเรื่องสำคัญพอกับการเรียนในห้องเรียน (ออนไลน์)

บ๊อบ ฮัคเฮส (Bob Hughes) เป็นผู้อำนวยการด้านการศึกษา K-12 ของมูลนิธิ บิลและเมลินดา เกตส์ หรือมูลนิธิเกตส์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่บริจาคเงินนับพันล้านเหรียญเพื่อด้านการสาธารณสุขและการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งในฐานะตัวแทนของมูลนิธิ บ๊อบมีความเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสนั้นส่งผลอย่างมากต่อระบบการศึกษา ซึ่งบิล เกตส์เองก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้นขึ้น

ในส่วนของภาคการศึกษา มูลนิธิเกตส์ก็ได้โฟกัสไปที่การให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกับกลุ่มนักเรียน K-12 และกลุ่มนักเรียนระดับหลังมัธยมศึกษา ช่วยเหลือร่วมกับพันธมิตรระดับชาติในการทำงานร่วมกับเหล่าสมาชิกที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เร่งด่วนที่เกิดขึ้น ทำงานร่วมกับ Council of Chief State School Officers เพื่อช่วยหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐและโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ สนับสนุนด้านการเงินรองรับกับความต้องการฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ทั้งยังช่วยเหลือพันธมิตรที่ต้องการขยายฐานการเรียนออนไลน์และช่วยเหลือด้านอาหารให้กับนักเรียน K-12 ตลอดจนช่วยเหลือด้วยการบรรเทาด้านการเงินให้กับนักศึกษาที่รายได้น้อย เนื่องจากการสูญเสียบ้าน อาหาร และสวัสดิการต่างๆ

ในอนาคต มูลนิธิเกตส์มุ่งเน้นไปที่กลุ่มครูผู้สอนและครอบครัว เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอย่างเช่น WideOpenSchool และ LearningKeepsGoing เพื่อสร้างสรรค์คู่มือสำหรับโรงเรียนและหน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่จะช่วยให้นักเรียนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมปลายสู่อุดมศึกษานั้นสามารถเรียนต่อได้โดยไม่ติดขัด โดยอาจจะเริ่มต้นจากบางรัฐให้เป็นรัฐต้นแบบก่อนในช่วงเวลานี้

แต่เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก คำถามสำคัญคือการที่มูลนิธิใช้จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษานั้นมีการจัดลำดับความสำคัญอย่างไร? บ๊อบกล่าวว่า มูลนิธิเกตส์เองนั้นต้องใช้เวลาอย่างมากในการพูดคุยร่วมกับพันธมิตรที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ และได้รับข้อมูลจากเครือข่ายนักการศึกษาแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับความต้องการที่เกิดขึ้น โดยมูลนิธิเองยกระดับกลยุทธ์มานานนับปีในการมุ่งให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มนักเรียนผิวดำ ละติน และนักเรียนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งในตอนนี้ก็ได้เน้นที่ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเกิดขึ้นของ COVID-19 นั้นส่งผลอย่างมากต่อเด็กนักเรียน ทั้งการไม่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ช่องว่างนี้จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น บ๊อบกล่าวว่าทางมูลนิธินั้นยืนยันว่าจะทำทุกทางเพื่อให้เหตุการณ์นี้ดีขึ้น

มูลนิธิเกตส์ได้สนับสนุนเงินทุนด้านการศึกษาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตัวอย่างเช่นในแคลิฟอร์เนีย องค์กร CORE districts ที่ก่อตั้งเพื่อพัฒนาการศึกษาและเรื่องทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning Skills: SEL) โดยเฉพาะ มูลนิธิเองได้เข้าไปช่วยพัฒนาเครื่องมือสำหรับครู ให้สามารถใช้งานได้ในระดับท้องถิ่น รัฐ และสร้างฐานข้อมูล SEL สำหรับนักเรียนเพื่อใช้ในการหาความต้องการของนักเรียนคนอื่นๆ โดยเฉพาะ รวมถึงการประเมินการสูญเสียทักษะการเรียนรู้ และในช่วงที่เหล่านักเรียนกำลังกลับเข้าเรียนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวงจรของการเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ความเป็นปกติในรูปแบบใหม่นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่านักเรียนมีความรู้สึกอย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะวัดว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีความชอกช้ำหรือการพัฒนาเชิงอารมณ์และสังคมเป็นอย่างไรในช่วงที่อยู่บ้านหรือได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มูลนิธิจึงเข้ามาช่วยสนับสนุนครูในส่วนนี้

ความคิดและทัศนคติของบิล เกตส์และมูลนิธิเกตส์นี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายความเป็นไปได้ในการพยายามแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 นั้นยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนมีความสามารถในการเข้าถึงการเรียนรู้เเละได้มีโอกาสในการเชื่อมต่อกับโลกทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างเท่าเทียมกันต่อไป

 

ที่มาข้อมูล : As schools close due to the coronavirus, some U.S. students face a digital ‘homework gap’