‘อาเซ ธนรุจี’ เด็กหนุ่มที่อยากเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น โดยใช้การศึกษาเป็นแรงผลักดัน

‘อาเซ ธนรุจี’ เด็กหนุ่มที่อยากเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น โดยใช้การศึกษาเป็นแรงผลักดัน

ดอกไม้ ความฝัน ถังน้ำแข็งอันอบอุ่น
‘อาเซ ธนรุจี’ เด็กหนุ่มที่เข้ามาใช้ชีวิตหลับนอน
อยู่ใน ‘กาดดอกไม้’

หลังจากที่เราได้นำเสนอเรื่องราวของ “ครูแมว-นารีรัตน์ ดาวสนั่น” คุณครูผู้ดูแลกลุ่มเด็กเร่ร่อนในตลาดวโรรสหรือกาดหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

และเด็กกลุ่มนั้นก็เปรียบดั่งเมล็ดพันธุ์ที่ครูแมวค่อยๆ รดน้ำ ดูแล ให้ความรักไปพร้อมกับความรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ
‘อาเซ ธนรุจี’ เด็กหนุ่มที่เข้ามาใช้ชีวิตหลับนอนอยู่ใน ‘กาดดอกไม้’ หรือร้านดอกไม้ในตลาดวโรรสแห่งนี้ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

จนถึงวันนี้ในวัยย่าง 21 ปี อาเซยังชีพด้วยการทำงานในร้านดอกไม้ของ “คุณพรพรรณ มโนปัน” หรือ “แม่พรรณ” เพื่อแลกค่าแรงวันละ 150-200 บาท อาหาร 1-2 มื้อ และอาศัยนอนบนถังใส่น้ำแข็งบริเวณหลังร้าน ซึ่งต้องเผชิญทั้งอากาศที่ร้อนจัดในฤดูร้อน และคืนอันหนาวเหน็บในช่วงฤดูหนาวที่บางครั้งอุณหภูมิลดลงเหลือเลขตัวเดียวติดต่อกันเป็นสัปดาห์ แต่อาเซยังยืนยันว่า ที่พักพิงแห่งนี้ทำให้เขารู้สึกถึงความ ‘อบอุ่น’ และ ‘ปลอดภัย’ มากที่สุด

 

รอนแรมมานาน ชีวิตที่พ้นผ่านจนเข้าใจ

ก่อนจะมาอยู่ที่กาดดอกไม้ อาเซเติบโตขึ้นมาในสถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่งที่ให้นามสกุล ‘ธนรุจี’ แก่เขาและเด็กกำพร้าทุกคนที่นั่น เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 เขาก็ตัดสินใจหนีออกมาเผชิญโลกด้วยตัวเอง 

“ผมอยากดิ้นรนด้วยตัวเอง อยากมีอิสระ อยู่ข้างในนั้นกฎเกณฑ์เยอะ” อาเซพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เขาออกมาใช้
ชีวิตด้วยตัวเอง

แม้ว่าอาเซจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกาดดอกไม้ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี แตบางครั้ง โชคชะตาก็ได้นำพาให้เขาได้ออกไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงประสบการณ์การเข้าออกสถานพินิจ ถูกส่งตัวไปไกลถึงจังหวัดขอนแก่น ระยอง หรือสงขลาก็เคยมาแล้ว อย่างไรก็ตาม อาเซจะหาทางพาตัวเองกลับมาที่กาดดอกไม้ได้ทุกครั้ง

“ตอนนั้นอาเซไม่ยอมเรียนเลย เรากับครูเขาเลยต้องช่วยพูดให้เข้าใจ ว่าถ้าได้เรียนหนังสือ เขาจะหางานที่ดีๆ ทำได้ ซึ่งสุดท้ายเขาก็คิดได้ด้วยตัวเองว่าต้องเรียน”

‘แม่พรรณ’ เจ้าของร้านดอกไม้ผู้ให้ความช่วยเหลืออาเซมาตลอดเล่าว่า ตอนแรกที่เขาเข้ามาขออาศัยนอนที่ร้าน
ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่เลย แม่พรรณก็ให้นอน จนเริ่มโตเขาอาสาช่วยงาน ก็ให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ แลกกับค่าแรง พร้อมข้าวไว้ให้กิน ถึงตอนนี้ก็อยู่ด้วยกันมาหลายปีแล้ว บางช่วงอาจจะหายไปบ้าง แต่พอกลับมาเขาก็มาหาแม่พรรณตลอด 

“เขาเหมือนเป็นลูกเป็นหลานของเรา มันมีความสนิท ความผูกพัน ช่วงที่เขายังเด็กหรือวัยรุ่นมีบ้างที่ทำเรื่องอะไรไม่ดี เราก็บอกก็เตือนเขาตลอด แต่เหมือนว่ามันเป็นวัยของเขา ยิ่งในสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่มันมีสิ่งไม่ดีอยู่รอบตัว มันก็มีหลงผิดออกนอกเส้นทางไปบ้าง”

แต่แม่พรรณมองว่าอาเซผ่านชีวิตช่วงนั้นมาแล้วเขาโตขึ้น ตอนนี้ตั้งใจทำงานขยันขันแข็ง พอเลี้ยงตัวได้ แต่เธอก็คิดว่าอยากให้เขาได้ไปทำงานอื่นที่ดีกว่านี้ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ให้เขาตั้งหลักได้ จนวันหนึ่งก็มีคุณครูจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาชวนเด็กๆ ที่ร้านไปเรียน ซึ่งตอนนั้นอาเซไม่ยอมเรียนเลย เรากับครูเขาเลยต้องช่วยพูดให้เข้าใจ ว่าถ้าได้เรียนหนังสือ เขาจะหางานที่ดีๆ ทำได้ ซึ่งสุดท้ายเขาก็คิดได้ด้วยตัวเองว่าต้องเรียน

“แม่เขาเอ็นดูเราเขาให้งานเราทำมาตลอด อายุผมก็เริ่มเพิ่มขึ้น เลิกเกเรแล้ว พยายามทำแต่งาน บางทีอยากมีรายได้มากขึ้นก็ไปดิ้นรนหางานที่อื่นทำ พวกงาน รปภ. งานในปั๊มน้ำมัน หรือเป็นคนสวน ผมทำมาหลายอย่างแล้ว”    อาเซกล่าว

 

‘โลกของการทำงานจะบอกเราเองว่า การศึกษานั้นสำคัญขนาดไหน’
“ครูแมว-นารีรัตน์ ดาวสนั่น” คุณครูผู้ดูแลกลุ่มเด็กเร่ร่อน
ในกาดหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่

“ครูแมว” เล่าว่า เธอต้องใช้เวลามากกว่าสองปีครึ่งในการโน้มน้าวอาเซโดยไม่เคยบังคับ เพียงอดทนรอจนวันที่เขาพร้อมจะเรียนด้วยตนเอง 

“ครูมองว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เขาสามารถทำได้ตลอดชีวิต เมื่อไหร่ที่เขาพร้อมจะเรียนเขาก็สามารถมาหาเราได้เสมอ แต่สิ่งที่เราอยากให้เขาได้รับคือวุฒิการศึกษา รวมถึงประสบการณ์และความคิดที่เขาจะได้เติบโตขึ้นผ่านการเรียน มันจะทำให้เขาเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก มองเห็นสิ่งรอบตัวได้กว้างขึ้น หาทางไปต่อกับชีวิตได้มากขึ้น”

ในส่วนลึก อาเซเป็นคนที่มีความพยายามและพร้อมพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แต่ด้วยช่วงวัยของเขาที่ยังมีความ
พุ่งพล่านแบบวัยรุ่น ประกอบกับปูมหลังในชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผล ทำให้เขาไม่ไว้ใจใครง่ายๆ ทีแรกที่ครูแมวไปชวนมาเรียน เขาก็ปฏิเสธ แต่ครูก็ยังเวียนไปหาเขาเรื่อยๆ ถามเขาตลอดว่า ‘เธอคงไม่คิดจะทำงานยกดอกไม้ทุกวันไปตลอดชีวิตใช่ไหม?’ ซึ่งอาเซก็ยังใจแข็ง แต่ตอนนั้นครูรู้แล้วว่าใจหนึ่งเขาก็อยากเติบโต อยากมีงานที่ดีพอ เหมาะสมกับอายุที่มากขึ้น 

จนวันหนึ่งที่อาเซกลับมาหาครูแมวแล้วบอกว่าอยากได้วุฒิ ม.3 ครูจึงถามเขาว่า “ทำไมถึงเปลี่ยนใจ?” เด็กหนุ่มจึงตอบว่าเขา อยากทำงานที่ได้เงินเยอะขึ้น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพที่สุจริตมั่นคง ไม่อยากให้ใครมาดูถูกว่าเรียนไม่จบอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะถ้าวันหนึ่งที่มีครอบครัว ก็อยากเป็นคนที่ดีพอสำหรับคนอื่น ไม่อยากให้ครอบครัวต้องมาลำบากเหมือนเขา

อาเซเล่าว่าเจอกับครูแมวครั้งแรก ตอนอายุ 12 ปี ซึ่งตอนนั้นเขาคิดว่าคงไม่ต้องไปเรียนอีกแล้ว จนเมื่อชีวิตเติบโตผ่านเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น บทเรียนจากการทำงานได้สอนเขาว่า ‘วุฒิการศึกษา’ จะเป็นดั่งใบเบิกทางให้เขาสามารถเข้าถึงงานดีๆ และจะพาตนเองไปสู่ที่ที่ดีกว่าได้ง่ายขึ้น 

“พออายุ 18 ผมคิดว่าไม่อยากเที่ยวเล่นอีกแล้ว ไม่อยากเป็นอย่างนั้นแล้ว อยากทำงานหาเงิน ผมผูกพันกับกาด กับร้านแม่พรรณ แต่ผมคิดว่าอนาคตไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้ตลอดไป อยากเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น พอไปสมัครงานหลายที่เขาก็ถามถึงแต่วุฒิการศึกษา มันทำให้รู้ว่าถ้าผมไม่ได้เรียน แม้จะมีความพยายามเท่าไหร่ ก็คงไม่มีวันได้รับโอกาส เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นว่าการได้เรียนมันมีสิ่งที่ดีกว่ารอเราอยู่ข้างหน้า” อาเซกล่าว

 

“อาเซ” คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของเด็กที่เข้ารับการศึกษาในระบบ กศน. ด้วยความสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็น 1 ใน 20 จังหวัดที่ร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้ได้กลับเข้าสู่เส้นทาง ด้วยรูปแบบที่สามารถยืดหยุ่น ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของเด็กตามความเหมาะสม เพื่อให้มีองค์ความรู้ไว้เป็นใบเบิกทางสู่การทำงาน หาเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง

ขอบคุณน้องอาเซที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและส่งต่อแรงบันดาลใจที่ใช้การศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมรับโอกาสดีๆ ที่จะเข้ามามากขึ้น ดั่งที่ครูแมวเคยกล่าวว่าเด็กทุกคนจะดีขึ้นได้ด้วยการศึกษา เรื่องราวนี้ได้ยืนยันคำครูแล้วว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ 

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค