ความยากจนด้อยโอกาสของเด็กๆ “น่ากลัวยิ่งกว่า” ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ความยากจนด้อยโอกาสของเด็กๆ “น่ากลัวยิ่งกว่า” ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

“ดีใจมากทุกครั้งที่มีคนมาโรงเรียนของเรา
ไม่มีใครลงมาหาพวกเรานานแล้ว
เพราะเขาฝังใจว่าแถวนี้เป็นพื้นที่อันตราย”

ครูสุนิดา อุมา หรือ ‘ครูนี’ ครูโรงเรียนบ้านคอลอกาเว อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส  กล่าวทักทาย ด้วยสีหน้า รอยยิ้ม และแววตาที่เป็นประกาย ตั้งแต่เริ่มบทสนทนา ก่อนเล่าว่าในอดีตนั้น ที่ตั้งของโรงเรียนคือพื้นที่สีแดงที่ห่างออกไปแค่ไม่กี่กิโลฯ เคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาของปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่กินเวลานานนับสิบปี

“สิบกว่าปีที่จากบ้านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เราพบว่าไม่เปลี่ยนไปเลยคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นยังไง ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น”

 

โดยเฉพาะข่าวที่ถูกเสนอออกไปนั้นสั่งสมยาวนานพอจะทำให้ภาพลักษณ์ของ อ.ศรีสาคร ดูน่ากลัวสำหรับคนภายนอก แต่ในฐานะครูคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นจากการเป็นนักเรียนที่นี่ เธอมองว่า ความยากจนด้อยโอกาสของเด็กๆ คือสิ่งที่ “น่ากลัวยิ่งกว่า” และนั่นคืออุปสรรคของการพัฒนาชุมชนที่แท้จริง

“ทุกวันนี้เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เงียบเสียงลงไปแล้ว แต่มันเหมือนเป็นภาพจำว่าชุมชนของเราไม่ปลอดภัย นานครั้งจึงจะมีคนจากพื้นที่อื่นๆ มาที่นี่ ครูส่วนหนึ่งที่บรรจุเข้ามาแล้วเขาก็อยู่กันไม่นาน จะมีก็แต่คนในพื้นที่เราเองที่พร้อมจะปักหลักทำงาน เพราะเรามองว่าชุมชนนี้คือบ้าน คือครอบครัวของพวกเรา” ครูนี เผยภาพปัญหาในท้องถิ่นจากมุมมองที่เธอเห็น

 

กว่าจะมาเป็นครูรักษ์ถิ่น

ครูนีบอกว่าเธอเป็นคนที่นี่ตั้งแต่เกิด เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเวแห่งนี้ พอจบ ป.6 จึงย้ายไปเรียนที่ยะลาจนจบเอกครูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จากนั้นได้งานเป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.รามัน จ.ยะลา เป็นเวลา 3 ปี พอถึงเวลาสอบบรรจุ เธอก็ตัดสินใจกลับมาสอนที่นี่

“สิบกว่าปีที่จากบ้านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ตอนเราเรียนมีอาคารไม่กี่หลัง เด็กไม่ถึงร้อยคน มีต้นไม้ใหญ่รกครึ้มอยู่รอบโรงเรียน แต่พอกลับมาอีกครั้ง มีตึกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาคารไม้เปลี่ยนเป็นปูน มีนักเรียนเพิ่มเป็นหลักพัน รอบโรงเรียนมีร้านค้าบ้านคนมากขึ้น แต่สิ่งที่เราพบว่าไม่เปลี่ยนไปเลยคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นยังไง ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น”

เพราะนักเรียนของเราส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น ทิ้งเด็กไว้ให้ตายายเลี้ยง ส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่ก็ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงไม่เพียงพอจะดูแลให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ เด็กๆ ต้องผลัดกันเรียน ผลัดกันอยู่บ้าน หลายคนต้องหยุดเรียนไปทำงานหาเงินช่วยพ่อแม่ พอขาดเรียนบ่อยเข้าก็เรียนไม่ทันเพื่อน เด็กก็เริ่มไม่อยากมาโรงเรียนหรือเลิกเรียนไปเลย ทำให้เรามองว่าสิ่งหนึ่งคือพวกเขาขาดแรงจูงใจให้มองเห็นความสำคัญของการเรียน

“ตอนเราเรียนที่นี่ครูเขาทำให้เรามองเห็นเป้าหมายชีวิต ทำให้เรามีแรงพยายามเรียนจนสำเร็จ จากวันนั้นเราเลยรู้สึกว่าไม่มีอาชีพไหนที่เปลี่ยนแปลงผู้คนได้เท่ากับการเป็นครู เพราะที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีครูที่ดีมาก่อน”

ซึ่งปัญหาที่พบมันสะท้อนให้เราย้อนมองที่ตัวเอง ว่าครั้งที่เราเป็นเด็กเคยผ่านมาได้อย่างไร มันคือแรงบันดาลใจให้กลับมาสอนที่โรงเรียนนี้ เพราะเราเป็นเด็กคนหนึ่งที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไร แต่การที่เราได้รับความเอาใจใส่ดูแลจากครูที่ดี มันทำให้ทัศนคติเราเปลี่ยน เรารับมือกับช่วงวัยต่างๆ ได้ก็เพราะการปูพื้นฐานจากครูในช่วงนั้น 

ตอนเราเรียนที่นี่ครูเขาทำให้เรามองเห็นเป้าหมายชีวิต ทำให้เรามีแรงพยายามเรียนจนสำเร็จ จากวันนั้นเราเลยรู้สึกว่าไม่มีอาชีพไหนที่เปลี่ยนแปลงผู้คนได้เท่ากับการเป็นครู เพราะที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีครูที่ดีมาก่อน

“พอมาเป็นครู เราก็นำสิ่งที่เราเคยได้รับและซึมซับมาถ่ายทอดสู่เด็กๆ พยายามสร้างแรงจูงใจให้เขามีเป้าหมายในการเรียน รวมถึงการเข้าไปจัดการปัญหาต่าง ๆ

“เราเป็นคนท้องถิ่นเลยใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เพราะรู้ว่าเด็กและผู้ปกครองเขามีพื้นฐานเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาเราจะเข้าไปทำตั้งแต่ที่บ้านของเด็ก ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ส่วนผลที่ออกมาจะเป็นยังไงก็ขึ้นกับความร่วมมือของผู้ปกครองและคนในท้องถิ่นด้วย ความที่เราอยู่กันเป็นชุมชนใกล้ชิดมาตั้งแต่เมื่อก่อนก็ช่วยได้มาก และการเป็นคนในพื้นที่ทำให้ผู้ปกครองเขาเชื่อใจฝากลูกหลานกับเรา ส่วนใหญ่จะยอมรับฟังในสิ่งที่เราพูด เพราะเขารู้ว่าเราหวังดีกับเขาจริงๆ

 

สิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ในเรื่องความยากไร้ขาดแคลนที่ทำให้เด็กต้องหยุดเรียน ช่วงหลังมาก็ดีขึ้นเนื่องจากมีเงินทุนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะ “โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข” หรือ “ทุนเสมอภาคของ กสศ.” (ทุนเสมอภาคของ กสศ. สามารถบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และยังนำไปพัฒนาเสริมทักษะอาชีพ ซึ่งทำให้เด็กหลายคนสามารถมาโรงเรียนได้ไม่ต้องเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา) ช่วยให้นักเรียนไม่ต้องขาดเรียนไปทำงานบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน พอเด็กมาเรียนสม่ำเสมอ ผลการเรียนเขาก็ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายกับการเรียนหนังสือได้มากขึ้น” ครูนีเล่าถึงข้อดีของการเป็นครูที่เป็นผลผลิตของชุมชน

ด้าน ครูนุรนี อารง หรือ “ครูยู” ที่แม้จะไม่ใช่คนศรีสาครแต่กำเนิด แต่เธอก็เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเว และเลือกกลับมาที่นี่อีกครั้ง ช่วยเสริมว่า เราเกิดที่ จ.ยะลา แล้วย้ายมาที่ศรีสาครตั้งแต่เด็ก เริ่มเรียนที่นี่จนจบก็ไปเรียนมัธยมโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มีทั้งภาคสามัญและภาคศาสนา) จากนั้นย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับบ้าน  

“ทีแรกเราได้ไปบรรจุอยู่ที่อื่นก่อน แล้วจึงขอย้ายกลับมาเพื่อสอนที่โรงเรียนนี้ คือมันเป็นความตั้งใจของเราเลย เพราะว่ามันมีความรู้สึก “รักถิ่นฐาน” ที่คอยบอกเราว่าต้องกลับมาพัฒนาโรงเรียนของเรา เพราะเราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือ มีความผูกพัน ก็อยากเห็นที่นี่พัฒนา โดยเฉพาะจากข่าวคราวความเป็นไปของพื้นที่แถวนี้ มันก็ยากที่จะมีคนนอกเขายอมเข้ามาอยู่นานๆ เราก็คิดว่าถ้าไม่มีคนทำงานอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาก็ไม่เกิด แล้วเราเองเป็นคนพื้นที่แท้ๆ ถ้าเราไม่กลับมาทำงานที่บ้านของเรา แล้วจะหวังให้คนอื่นเข้ามาทำก็คงเป็นไปไม่ได้”

 

การทำงานที่อื่นมาก่อน มีส่วนช่วยยังไงบ้าง?

ทำให้เราเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น ได้เห็นว่าเด็กๆ ในเมืองใหญ่เขามีโอกาสในชีวิตมากกว่า ได้เรียนรู้การจัดการศึกษาที่เป็นระบบมากกว่า เราก็นำสิ่งเหล่านั้นกลับมาปรับใช้กับโรงเรียนของเรา สำหรับเด็กที่นี่บางคนเขาอยากมาเรียนแต่ไม่มีเงิน แต่อีกส่วนหนึ่งคือเขาไม่มีต้นแบบ โลกของเขามีแค่ภาพชีวิตในชุมชน เราก็นำประสบการณ์ของเรามาถ่ายทอดให้เขารู้ว่าข้างนอกนั้นมีอะไรอีกมากที่ควรต้องออกไปเห็นไปสัมผัส เขาจะต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องออกไปใช้ชีวิต ต้องเชื่อมั่นว่าถ้าได้เรียนจบสูงๆ แล้วจะมีอาชีพที่ดี ซึ่งมันจะช่วยครอบครัวให้ดีขึ้นได้

“นักเรียนที่นี่คือเด็กในชุมชนของเรา นัยยะหนึ่งเขาก็คือญาติพี่น้องของเรา ดังนั้น เราจะต้องเป็นคนพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพราะถ้าเป็นคนอื่นเขาก็ไม่ได้รู้จักที่นี่ดีเท่าเรา มันจึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งในฐานะครูและคนในพื้นที่ที่จะต้องสร้างพวกเขาให้มีความรู้ และต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองที่ทัดเทียมกับเด็กๆ ในพื้นที่อื่นๆ” ครูยูกล่าวปิดท้ายด้วยแพสชั่นเต็มเปี่ยม

(จากซ้ายไปขวา) “ครูนี” และ “ครูยู” ผู้อุทิศตนเพื่อให้เด็กๆ ในพื้นที่
ได้กลับมามีโอกาสที่ดีอีกครั้ง

ความรักษ์ถิ่นของครูทั้งสองคนนี้ จะเป็นพลังดีๆ ที่ส่งต่อให้คุณครูคนอื่นๆ
ในการนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค