ห้องเรียนแนวใหม่ที่เด็กไม่ต้องทำตามสูตรเดิม

ห้องเรียนแนวใหม่ที่เด็กไม่ต้องทำตามสูตรเดิม

ห้องเรียนรูปแบบใหม่
เมื่อสูตรไม่ได้มีไว้ทำตาม ​แต่ต้องคิดค้น​ด้วยตัวเอง

กว่าจะมาเป็นขนม “ทองพับสมุนไพรจากแป้งกล้วยน้ำว้า” ผลผลิตที่นักเรียนโรงเรียนบ้านปางปอย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันคิดค้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ​แต่ต้องผ่านการเรียนรู้ทดลองและพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจก็นำมาสู่ผลลัพธ์ความสำเร็จ แถมได้รางวัลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประเภทกิจกรรมการประกวดแปรรูปอาหารปี 2562 มาช่วยยืนยันความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอีกทางหนึ่งด้วย​

 แต่เหนือสิ่งอื่นใดความสำเร็จที่เกิดขึ้นถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียน แบบครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดค้นสูตร ทดลองทำ ปรับปรุงแก้ไข จนถึงขั้นนำออกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

 

เปลี่ยน “ของเดิม” ในท้องถิ่นให้เป็น “ของใหม่”

กล้วยน้ำว้า ถือเป็นพืชประจำท้องถิ่นที่มีอยู่มากในชุมชน เดิมโรงเรียนมีกิจกรรมฐานฝึกอาชีพแปรรูปกล้วยน้ำว้า ทั้ง กล้วยทอด กล้วยฉาบ กล้วยตาก ที่ครูจะเป็นผู้นำสูตรมาให้นักเรียนทดลองทำ

แต่จุดเปลี่ยนอยู่ตรงที่การได้ “มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม” เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับทางโรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากให้เด็กทำตามสูตรเป็นการคิดค้นทดลองหาสูตรขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง

ครูศิริพร เตชนันท์ กล่าวว่า  หลังจากที่ได้ไปอบรม STEAM Design Prcess ของมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ  ได้นำเอาความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาฐานฝึกอาชีพที่โรงเรียนโดยเปลี่ยนเป็นฐาน “ปางปอยเมกเกอร์”  ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ

 

เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม ฝึกกระบวนการคิด

เมื่อเด็กเข้ามาที่ฐานก็จะได้รับการฝึกให้คิด ตั้งแต่การ “ตั้งคำถาม” ว่าเราจะทำอะไร เช่นหากเราจะทำกล้วยบวดชี ขั้นต่อไปก็จะต้อง “จินตนาการ”  ว่ากล้วยบวดชีจะมีหน้าตาอย่างไร ต่อด้วย “วางแผน” และ “ลงมือสร้างสรรค์ผลงาน” เสร็จแล้วก็จะมาสู่ขั้นตอน “รีเฟล็คท์และรีดีไซน์ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น

 “ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเสร็จออกมาเป็นกล้วยบวดชี เด็กจะฝึกให้รู้จักการคิดวางแผนและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ​โดยที่ครูจะไม่ใช่คนที่ไปบอกว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นผลงานที่ออกมาหน้าตาก็จะไม่เหมือนกัน เช่นบางคนเพิ่มดอกอัญชัน บัวลอย มะพร้าว เข้าไป เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าอันไหนอร่อย ไม่อร่อย แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขสูตรในครั้งต่อไป”

 ทว่าในการเข้าร่วมการแข่งขันแปรรูปอาหารในครั้งแรก ๆ ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ เด็ก ๆ ได้รับคำแนะนำจากกรรมการว่าการแปรรูกล้วยน้ำว้ายังวนอยู่กับสูตรเดิม ทั้ง กล้วยเชื่อม กล้วยฉาบ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ทำให้เด็ก ๆ กลับมาพยายามคิดค้นหาความแปลกใหม่

 

จินตนาการได้ไม่รู้จบ ไม่สำเร็จไม่เป็นไร

จนมาลงตัวที่การคิดทำแป้งจากกล้วยน้ำว้าซึ่งจะนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นผลิตขนมอื่นๆ ได้อีกมากมาย ทั้ง ทองพับ ครองแครง รวมทั้งแตกสูตรตามจินตนาการออกไปได้ไม่รู้จบ  บางคนทำทองพับใส่งา ใส่แมงลัก ใส่งาขี้ม่อนซึ่งเป็นของในชุมชน แม้ครั้งแรกไม่สำเร็จ เราก็ไม่ได้ห้ามหลังนำมาสะท้อนได้ฟังความคิดเห็นเขาก็ปรับสูตรใส่น้อยลงครั้งต่อไปก็ดีขึ้น

“การสอนแบบไม่ต้องบอกสูตร ให้เด็กได้คิดสูตรเองจะยิ่งทำให้เด็กได้พัฒนาความคิด และเขาจะได้เรียนรู้ว่าสูตรนี้เขาชอบไม่ชอบ เขาจะรู้สึกสนุก ตื่นเต้นกับชิ้นงานที่ได้มา เขาต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด บางแป้งไม่สุก ก็ต้องปรับแก้บางทีหน้าตาไม่ให้แต่เด็กๆ บอกว่ารสชาติอร่อย เขาก็ภูมิใจกับชิ้นงานที่ตอนนี้มีทั้ง ทองพับ วอฟเฟิล โดนัทในหลายๆ สูตร”

ครูศิริพร เล่าให้ฟังว่า การทำหน้าที่ของครูคือจะเปลี่ยนจากคนสอน คนบอกสูตร มาเป็นคนที่แค่คอยชี้แนะให้คำแนะนำให้เขารู้จักไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่นการทำแป้งจากกล้วยน้ำว้าเด็กก็ต้องไปหาวิธีทำจากในอินเตอร์เน็ตซึ่งทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จก็ต้องมาปรับแก้ไขตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning

 

แพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้

ตอนนี้เราก็เริ่มสอนให้เด็กรู้จักวิธีคิดเรื่องการขายของซึ่งไม่ใช่ขายแค่ในตลาดเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ต้องรู้จักตลาดใหม่ อย่างออนไลน์ที่เราจะสอนให้เขารู้จักกระบวนการไปคิดต่อยอดในอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็ได้ทำออกมาเป็นแบรนด์ “บานานาปางปอย” ให้เด็กๆ ได้ลองขายกันในเฟสบุ้ค  แต่ก็ยังกล้าถึงขั้นที่จะไลฟ์สดขายเหมือนที่อื่น 

“รางวัลที่เด็กไปได้มาจากเวทีระดับชาติถือเป็นอีกรางวัลความสำเร็จที่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับเด็กบ้านปางปอยที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ เกินครึ่งเป็นเด็กลาหู่ เพราะ​ปกติเด็ก ๆจะใช่คนที่กล้าแสดงออก ​ต่างจากเด็กในเมืองที่มีทั้งโอกาสและทรัพยากรมากกว่าเด็กดอย เราก็พยายามผลักดันให้เข้าได้มีพื้นที่ได้แสดงออก ได้เรียนรู้ส่วนจะแพ้หรือชนะก็ไม่สำคัญขอให้ได้เรียนรู้”​ 

อีกสิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้แบบใหม่นี้คือการที่เด็กจะกล้าแสดงความคิดความเห็นในห้องเรียนวิชาอื่นเพิ่มมากขึ้น จากที่ปกติเด็กไม่ค่อยพูด เขาจะกล้าพูดกล้าตอบ กล้าแสดงความเห็น  สิ่งเหล่านี้ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าการสอนรูปแบบนี้มันดีกว่าแบบเดิม ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค