ผลสำรวจเผยนักเรียนและนักศึกษาอินเดียต่างวิตกกังวลที่จะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ

ผลสำรวจเผยนักเรียนและนักศึกษาอินเดียต่างวิตกกังวลที่จะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ

ที่มาภาพ : unsplash-Dollar Gill

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ผลสำรวจเผยนักเรียนอินเดียในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ต่างตกอยู่ในอาการวิตกกังวลที่จะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้มีปัญหาในการหาเงินเพื่อจ่ายค่าเทอม

เว็บไซต์ข่าว The Hundustan Times สื่อท้องถิ่นของอินเดีย รายงาน อ้างผลการสำรวจของศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยี-บอมเบย์ แห่งอินเดีย (The Indian Institute of Technology-Bombay : IIT-B) พบว่า มีนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากกำลังประสบกับความยากลำบากในการหารายได้มาจ่ายให้กับการศึกษาของตนเอง

ผลการสำรวจนักเรียนและนักศึกษาจำนวน 38,108 คน พบว่าเกือบ 82% ยอมรับกำลังเผชิญกับปัญหาในเรื่องของการจัดสรรเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนของตนเอง ขณะที่ 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุ โอกาสในการเดินหน้าเรียนต่อตามที่ตั้งใจไว้ในปีการศึกษา 2020-2021 อยู่ในระดับที่ต่ำถึงต่ำมาก

ศาสตราจารย์ BN Jagtap จากแผนกฟิสิกส์ ของสถาบัน IIT-B และ นาย Anand Mapuskar นักการศึกษา ซึ่งทำงานให้กับกรมการศึกษาขั้นสูง และเทคนิคแห่งรัฐมหาราษฏระ ผู้ทำการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า เป้าหมายของการสำรวจเป็นไปเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบต่อโรค COVID-19 ที่มีต่อระบบการศึกษาในระดับสูง

ที่มาภาพ : unsplash-jaikishan patel

ทั้งนี้ นอกจากจะพบว่า วิกฤตการระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงแต่ทำให้การศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาหยุดชะงักเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระเทือนรายได้ของครอบครัวของนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ โดย 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า จำเป็นต้องช่วยหาช่องทางสนับสนุนรายได้ของครอบครัว ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าว แบ่งเป็นนักเรียนชาย 75% และนักเรียนหญิงอีก 70%

ขณะเดียวกัน ความจำเป็นในการช่วยเหลือทางการเงินต่อครอบครัว ยังมีมากขึ้นในหมู่นักเรียนนักศึกษาที่มาจากชนบทห่างไกล โดยนักเรียนจากชนบทถึง 79% กล่าวว่า จำเป็นต้องหาหนทางหารายได้เพื่อจุนเจือสถานะทางการเงินของครอบครัว เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนที่ครอบครัวอาศัยอยู่ในเมืองที่ต้องหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวอยู่ที่ 71%

ผลสำรวจในครั้งนี้ สอดคล้องและสนับสนุนการตัดสินใจก่อนหน้าของคณะกรรมาธิการให้ทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา (The University Grants Commission : UGC) ซึ่งเป็นคณะทำงานสูงสุดในการกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบปฎิบัติของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้ออกหนังสือเวียนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ขอร้องให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งผ่อนผันเรื่องการจ่ายค่าเทอมของนักเรียนนักศึกษา

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยแห่งมุมไบ (University of Mumbai : MU) ยังได้ร่วมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั่วอินเดีย ระงับการขึ้นค่าเทอมในปีการศึกษาหน้า รวมถึงยินยอมให้นักเรียนนักศึกษาสามารถชำระค่าเล่าเรียนโดยแบ่งจ่ายเป็นงวดได้

โดยทาง MU ระบุชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปภายใต้แนวทางของคณะกรรมาธิการ UGC ที่เล็งเห็นว่า บรรดาครอบครัวของนักเรียนนักศึกษามีแนวโน้มจะสูญรายได้อย่างมหาศาลจากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

ที่มาภาพ : unsplash-Nikhita S

สำหรับนักเรียนนักศึกษาทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามนี้ 19,495 คน เป็นนักเรียนนักศึกษาหญิง ขณะที่ 18,602 คน เป็นนักศึกษาชาย ส่วนอีก 4 คนเป็นนักศึกษาข้ามเพศ โดยการสำรวจเป็นการสอบถามความเห็นของนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ต่อการเรียน ประกอบด้วย

1) ความลำบากต่อสถานะการเงินของนักเรียน
2) การเรียนการสอนออนไลน์
3) การเปิดเรียนของสถาบันการศึกษาและปีการศึกษาใหม่
4) มุมมองของนักเรียนนักศึกษาที่มีต่อการเรียนในวิชาตามหลักสูตรของตนเอง

นอกจากความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเงินของตนเองแล้ว การสำรวจยังพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเข้าถึง การเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสถาบันจัดหาให้ผ่านโลกออนไลน์ โดย 91% ของนักเรียนนักศึกษาอาศัยสมาร์ทโฟน 32% ใช้แล็ปท็อบหรือคอมพิวเตอร์ และมีเพียง 6% เท่านั้น ที่ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ เลย 

โดยในช่วงล็อคดาวน์ 66% ของนักเรียนนักศึกษาในรัฐมหาราษฏระ กำลังศึกษาวิชาตามหลักสูตรผ่านระบบออนไลน์อย่างน้อย 1 วิชา ซึ่งพื้นที่อาศัยของนักเรียนนักศึกษาก็มีผลต่อการเข้าถึงการเรียนการสอนบนโลกออนไลน์เช่นกัน โดยนักเรียนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ สามารถเรียนออนไลน์ได้ถึง 67-70% ขณะที่นักเรียนในพื้นที่ชนบทเข้าถึงการเรียนออนไลน์เพียง 62% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนออนไลน์จะอยู่ในสัดส่วนการเข้าถึงที่ค่อนข้างดี กระนั้น ความเห็นของนักศึกษาส่วนใหญ่กลับมองว่า การเรียนออนไลน์ไม่ได้รับประโยชน์มากนักเมื่อเทียบกับการเรียนในชั้นเรียน โดยมีเพียง 33% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าเรียนออนไลน์มีประโยชน์ และอีก 26% มองว่า ชั้นเรียนออนไลน์ไม่สามารถแทนที่การเรียนในชั้นเรียนได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สถาบันการศึกษา จัดชั้นเรียนออนไลน์ควบคู่สลับกับการมาเรียนที่ห้องเรียน ในช่วงที่สถาบันการศึกษายังต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

 

ที่มา : Students struggle to fund education: Survey