โทรตื๊อ! สานฝันน้องกลับสู่การศึกษา มุมเล็กๆ ช่วยเด็กนอกระบบมีอนาคต

โทรตื๊อ! สานฝันน้องกลับสู่การศึกษา มุมเล็กๆ ช่วยเด็กนอกระบบมีอนาคต

ต.เมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในการค้นหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟู เพื่อนำเด็กนอกระบบเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะที่ครูผู้ดูแลเด็กนอกระบบได้ลงพื้นที่สำรวจและนำเด็กเข้าสู่การดูแล ในเบื้องต้นได้เป็นจำนวน 30 คน พร้อมส่งเด็กชุดแรกเข้าสู่ระบบการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ไปแล้ว 17 คน ในรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ซึ่งทาง อบต. เมืองลีงจะเน้นที่การจัดการศึกษาพิเศษและกิจกรรมส่งเสริมด้านอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัดของเด็กแต่ละคน

พัชราภรณ์ จุฑาจันทร์ ครูผู้ดูแลและลงพื้นที่ค้นหาเด็กนอกระบบเปิดเผยว่า สาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคันในแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นเรื่องของการขาดโอกาส ขาดทุนทรัพย์ ทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานบ้าง หรือเสียสละให้น้องๆ ได้เรียนบ้าง แต่สำหรับในพื้นที่ ต. เมืองลีง ปัญหาเด็กนอกระบบเกิดจากหลายสาเหตุ จากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเองพบว่านอกจากเรื่องของการขาดแคลนทุนทรัพย์แล้ว ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ออกจากโรงเรียนด้วยปัญหาส่วนตัว หรือด้วยปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในพื้นที่

ปัญหาส่วนตัวหรือปัจจัยจากสภาพแวดล้อมในที่นี้ สามารถแบ่งออกได้เป็ 2 ประเภท 1.คือกลุ่มที่อยู่ในวัยติดเพื่อน ทำอะไรตามๆ กัน พวกนี้เวลาเขามีปัญหาจะไม่ปรึกษาผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน บางคนอยู่กับตายายขาดการดูแลใกล้ชิด พอเด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน ไม่ส่งงาน เขาจะไม่มีใครคอยตามจี้ เมื่อติดค้างไม่ส่งงานหรือสอบไม่ผ่านต้องตามแก้หลายวิชา ถึงจุดหนึ่งเขาตัดสินใจหยุดเรียนไป

ส่วนอีกประเภทหนึ่งที่อาจมีน้อยกว่า แต่การลงพื้นที่สำรวจทำให้เราได้พบ คือเด็กกลุ่มที่เขาอาจจะไม่ถนัดเรียนในห้องเรียน หรือไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนในโรงเรียนได้ กลุ่มนี้จะเป็นพวกที่เรียนรู้ในห้องเรียนได้ช้า ตามเพื่อนไม่ทัน ผลการเรียนจึงออกมาไม่ดี หรือบางครั้งเด็กอาจทนไม่ได้กับการถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่มเพื่อน สาเหตุเหล่านี้ทำให้เขาไม่ชอบโรงเรียนและหยุดเรียนไป แต่เด็กในกลุ่มหลังนี้เองที่เขาจะมีความสนใจเฉพาะทางที่ชัดเจน บางคนชอบทำงานด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้
ซึ่งเมื่อเขาออกจากโรงเรียนไปเขาก็กลับไปทำในสิ่งที่สนใจอยู่ที่บ้าน และทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

“หลังจากที่เราเข้าไปหาเขาแล้วได้พูดคุยสอบถาม ก็ได้คำตอบว่าหลายคนยังอยากเรียน อยากได้วุฒิการศึกษา แต่เขาไม่พร้อมที่จะกลับเข้าสู่โรงเรียน ไม่อยากกลับไปเรียนในห้อง
กรณีแบบนี้ ทาง อบต. จึงหาทางออกให้พวกเขาโดยออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้
โดยเริ่มจากให้เรียน กศน. และในระหว่างนั้นก็จะมีการจัดฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อต่อยอดสิ่งที่เขาสนใจไปพร้อมกัน” ครูพัชราภรณ์ ระบุ

วรวรรณ ฉิมรัมย์ ครูผู้ดูแลและลงพื้นที่ค้นหาเด็กนอกระบบ ได้ยกตัวอย่างเคสหนึ่งของเด็กนอกระบบที่ไม่สามารถปรับตัวกับชีวิตใน โรงเรียนได้ จึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนไปช่วยงานที่บ้าน จนกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว

แต่เมื่อครูผู้สำรวจเด็กนอกระบบลงไปพบ ก็ได้ทราบว่าเด็กยังมีความประสงค์อยากเรียน และอยากได้วุฒิการศึกษาเพื่อต่อยอดสิ่งที่ตนสนใจในอนาคต

เคสที่น่าสนใจของเด็กกลุ่มนี้ คือ ‘น้องบิ๊ก’ อายุ 18 ปี เขาเรียนหนังสือในโรงเรียนถึงชั้น ม.2 แล้วตัดสินใจออกกลางคัน บิ๊กให้เหตุผลว่าเขาไม่ชอบเรียนในห้องเรียน ปัญหาของเขาคือเรียนรู้ได้ช้า ทำความเข้าใจบทเรียนไม่ได้ บิ๊กติดค้างงานที่โรงเรียนหลายวิชา ประกอบกับสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนที่บิ๊กมักจะถูกเพื่อนหยอกเล่นแรงๆ เป็นประจำ ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียนและที่สุดก็ไม่กลับไปเรียนอีกเลย

เมื่อออกมาแล้ว บิ๊กหันมาช่วยแม่กับยายทำนาเต็มเวลา พร้อมดูแลงานบ้านในส่วนอื่นๆ เขาค้นพบว่าตนเองชอบทำงานด้านการเกษตรมากกว่าอยู่ในห้องเรียน นอกจากทำนา ปลูกต้นไม้ดูแลแปรงผักในละแวกบ้าน บิ๊กยังมีอีกความสนใจคือการเลี้ยงไก่ ซึ่งถึงแม้ว่าเขายังทำได้ไม่นานนัก แต่ไก่ที่เขาเลี้ยงก็เริ่มสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ คืนกลับมาได้บ้างแล้ว

“ตอนที่เราลงพื้นที่ไปพบบิ๊ก เขาทำงานอยู่ในทุ่งนา เขาให้เวลาเต็มที่กับงานตรงนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ คืองานด้านการเกษตร ทำนา เลี้ยงไก่ เป้าหมายของเขาชัดเจนว่าอยากทำอะไร จะต่อยอดตัวเองไปทางไหน ครั้งแรกที่เราเข้าไปบอกเขาว่าจะตามกลับมาเรียน บิ๊กปฏิเสธทันที เขาบอกว่าไม่อยากเรียน เข้าใจว่าเราจะชวนเขากลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนอีก แต่เมื่อถามว่าเขามีแผนจะต่อยอดชีวิตไปทางไหน เขาตอบว่าอยากได้วุฒิการศึกษา เอาไว้เรียนต่อในด้านที่เขาสนใจ หรือเผื่อไปถึงการทำงานในอนาคต กรณีนี้เราจึงไม่ปล่อยผ่านไป ต้องลงไปหาเขาเป็นรอบที่สอง เราเข้าไปขอคำตอบที่แน่ชัดจากเขาอีกที อธิบายให้ฟังถึงรูปแบบการศึกษาที่มีหลากหลาย ทั้ง กศน. หรือการฝึกอาชีพ ในที่สุดเขาก็เปลี่ยนใจกลับมาเรียน” ครูวรวรรณ เล่ากระบวนการติดตามช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับ สำเนตร์ มั่นยืน แม่ของบิ๊ก เสริมขึ้นว่า บิ๊กหยุดเรียนมาแล้ว 5 ปี เขาบอกว่าไม่ชอบเรียน ประกอบกับเรื่องสังคมในโรงเรียน เขาเป็นเด็กที่อารมณ์ร้อน เมื่อมีเพื่อนมาแกล้งมาหยอกแรงๆ เขาก็ไม่ชอบ ช่วงนั้นเราก็คิดหนักเรื่องที่เขามีปัญหาที่โรงเรียน จนวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจไม่ไปโรงเรียนอีก
พอไม่ได้ไปเรียนเขาก็บอกว่าอยากมาทำนาช่วยแม่ เราก็ให้เขาทำ ผ่านมา 5 ปีเขาก็กลายมาเป็นเสาหลักของบ้านทั้งเรื่องทำนาและช่วยแม่ดูแลบ้าน ดูแลยาย บ้านเราทำนาอยู่แล้ว เมื่อก่อนแม่กับยายก็ช่วยกันทำสองคน พอเขาโตขึ้นก็รับผิดชอบงานได้มากขึ้น ช่วงปีหลังมานี้เขาก็เริ่มเลี้ยงไก่ ว่างจากนาก็ขลุกอยู่กับไก่ทั้งวัน จนสามารถนำไปขายได้เงินกลับมาบ้าง

ปัจจุบันบิ๊กงานทุกอย่างก็มีเขาเป็นหัวเรือใหญ่ แต่เราก็ยังคิดว่าอยากให้เขาได้เรียนหนังสือ จนวันที่มีครูเขาเข้ามาคุยว่ามีโครงการส่งเสริมและช่วยเหลือให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับเข้าไปเรียน ของ กสศ. เราก็ดีใจ วันที่บิ๊กพูดว่าเขาจะกลับไปเรียน เรายังคิดว่าถ้าเขาต้องกลับไปโรงเรียนอีกเขาจะอยู่ได้ไหม แล้วงานทางบ้านจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อครูเขาแนะนำให้เรียน กศน. และฝึกอาชีพไปด้วย ก็คิดว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม ส่วนตัวอยากให้บิ๊กได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน สามารถประกอบอาชีพอย่างที่เขาสนใจ เรารู้ว่าทุกวันนี้แม้จะเป็นเรื่องของการเกษตรก็ต้องมีความรู้มากๆ เพราะว่ามันเป็นยุคของเทคโนโลยี การได้เรียนมีวุฒิการศึกษาจะทำให้เขาเอาตัวรอดได้ในอนาคต

ส่วน ‘น้องบิ๊ก’ เปิดใจเล่าสั้นๆถึงการได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งว่า เป็นความตั้งใจของตัวเองเช่นกัน
เนื่องจากอยากได้วุฒิการศึกษาสำหรับการเรียนต่อในสาขาวิชาชีพที่ตัว เองสนใจ ซึ่งตอนที่ครูมาหาที่บ้านบอกว่าจะช่วยให้กลับไปเรียน ตอนแรกได้ปฏิเสธ เพราะไม่ชอบไปโรงเรียน แต่ครูเขาก็ยังโทรมาหาและกลับมาอีกเรื่อยๆ พร้อมแนะนำว่ามีการเรียนแบบ กศน. ที่ไม่ต้องไปเรียนทุกวัน จึงคิดเปลี่ยนใจกลับมาเรียน คิดว่าอยากได้วุฒิ ม.3 และจะเรียนต่อให้จบ ม.6 เพราะอยากเรียนด้านการเกษตร อยากมีความรู้เพิ่มขึ้น เพื่อจะเอามาต่อยอดงานที่บ้าน แล้วการเรียนยังทำให้ได้ออกไปเจอเพื่อนๆ เจอคนอื่นที่เขามีความสนใจคล้ายกัน ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ด้วยอีก