กสศ.เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ ผ่านสังคมแห่ง ‘การให้โอกาส’ ช่วยชาติพัฒนา

กสศ.เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ ผ่านสังคมแห่ง ‘การให้โอกาส’ ช่วยชาติพัฒนา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ปัญหาการศึกษาไทย ถือเป็นเรื่องซับซ้อนการคาดหวังผลสำเร็จในทางปฏิบัติถือว่ายาก อย่างปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เป็นสิ่งที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พยายามแก้ไขภายใต้เป้าหมายชัดเจนครอบคลุมทุกมิติ ที่ตอบโจทย์การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาความไม่เท่าเทียมกันทุกมิติถึงผู้เรียน แม้ปัญหาไม่ลดลงทันที แต่อย่างน้อยช่วยย่นระยะความเหลื่อมล้ำลงได้ไม่มากก็น้อย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รณรงค์ โครงการจดหมายลาครู ผ่านข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันมีเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คน มีความเสี่ยงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะ ‘ความยากจน’ เด็กจำนวนมาก ต้อง ‘ลาหยุดเรียน’ ไปช่วยพ่อแม่รับจ้างทำงานหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว
บางคนขาดเรียนกว่าสัปดาห์ บางคนหายไปนานนับเดือน จนส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างหนัก และหลายคนไม่ได้กลับมาเรียนอีกเลย

การรณรงค์ในครั้งนั้นยังนำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ร่วมสะท้อน เสียงของเด็กๆ จากจดหมายลาครูฉบับจริงจากทั่วทุกสารทิศ ผ่านศิลปะกราฟฟิตี้บนกำแพงหลายจุดในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ เพื่อชวนคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

การช่วยเด็กยากจนด้อยโอกาส “จำเป็น เร่งด่วนและรอไม่ได้”

ดร.ประสาร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ได้เดินหน้าช่วยเหลือบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ มากกว่า 7 แสนคน ผ่านโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ด้วยพลังความทุ่มเทของคุณครูกว่า 4 แสนคน จาก 3 สังกัด ได้แก่ สพฐ. ตชด. และอปท. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ค้นหา คัดกรองเด็กๆยากจนด้อยโอกาสเพื่อให้ได้รับทุนเสมอภาคของกสศ. แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอเพราะจากการประเมินของคณะกรรมการอิสระเพื่อกา รปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พบว่ากลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ กสศ. มีมากกว่า 4 ล้านคน และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านงบประมาณมากกว่าปีละ 25,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพียง 2,537 ล้านบาทหรือเพียง 10% ของงบประมาณที่ควรจะได้รับตามภารกิจเท่านั้น

เพราะทุกวินาทีที่หายไป คือโอกาสที่กลับคืนมาไม่ได้ของเด็กหลายล้านคน และของประเทศ

ดร.ประสาร เสริมอีกว่า จากการติดตามเด็กกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Information System for Equitable Education (iSEE) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่สามารถรายงานผลและติดตามเด็กๆกลุ่มนี้ได้รายบุคคล

มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถต้านทานกับปัญหาความยากจนของครอบครัวได้ดัง ที่เราได้เห็นจากข่าวความเดือดร้อนของเด็กๆปรากฏในสื่อทุกแขนง ไม่เว้นแต่ละวัน โดยจากฐานข้อมูลระบบ iSEE ของกสศ. พบว่า ครอบครัวของนักเรียนที่ยากจนที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเพียง 462 บาทต่อคนต่อเดือน นั่นหมายความครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้จะมีรายได้เพียง 5,544 บาทต่อปีหรือราว 15 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น เด็กกลุ่มนี้กว่า 2 แสนคนที่กำพร้าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และกว่า 19,000 คนอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องติดตามสภาวะทุพโภชนาการอย่างใกล้ชิด

จากการสำรวจยังพบว่า ในจำนวนนี้เกือบครึ่งที่ไม่ได้ทานอาหารเช้า สาเหตุมาจากฐานะยากจน และต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนมาเรียน

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยทุกภาคส่วนตระหนักและตื่นตัวว่า เด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน และข้อเท็จจริงชี้ชัดว่าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและพอเพียง พวกเขาและเธอมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรที่ดำมึดของสังคม ที่สำคัญคือ การตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคน” ดร.ประสาร ระบุ

ขณะเดียวกันในปัจจุบัน จำนวนเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษากำลังเพิ่มสูงขึ้นโดยมีมากถึง
430,000 คน (อายุระหว่าง 6-14 ปี/ป.1-ม.3) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปีในอนาคต มีข้อมูลระบุชัดว่าแนวโน้มการออกจากระบบการศึกษาของเด็กไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวเด็กเองและครอบครัว
แต่ยังเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น โอกาสที่สูญเสียไปทางการศึกษาของเด็กๆ กลุ่มนี้ ก็คือโอกาสที่สูญเสียไปของประเทศเช่นกัน

ดร.ประสาร กล่าวว่า ข้อมูลสำคัญจาก อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Dr.Nicholas Burnett
เคยประเมินว่าปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยมากกว่าปีละ 1-3 % ของ GDP หากมองในมิตินี้ การลดความเสี่ยงและรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษา จึงไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสในอนาคตของเด็กๆ แต่ยังสร้างผลกระทบทางบวกในการพัฒนาประเทศในภาพรวม

สอดคล้องกับ 2 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้อย่าง Professor Abhijit Banerjee และ Professor Esther Duflo ได้สรุปบทเรียนจากการศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ จากทุกมุมโลกมาตลอดหลายทศวรรษ ไว้อย่างน่าสนใจใน Foreign Affairs ฉบับล่าสุดว่า “แนวทางหนึ่งที่ดีที่สุด (The Best Bet) ในการพัฒนาประเทศ อาจมิใช่การมุ่งอัดฉีดเงินผ่านการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คือการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทุนในการศึกษาและการสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคต”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปัญหานี้จึง “จำเป็น เร่งด่วนและรอไม่ได้”

ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ลำพังเพียงกสศ.และงบประมาณแผ่นดินที่จำกัดอาจไม่สามารถช่วยเด็กทุกคนได้ทันเวลา การสนับสนุนเพิ่มเติมจากประชาชนคนไทยจะเป็นพลังสำคัญในการทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเหล่านี้ให้มีแนวโน้มลดลงอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ให้ “โอกาส”เป็น “ของขวัญ” ที่มีค่าต่ออนาคตของชาติ

คำเทศนาของ พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต เคยเทศนาไว้ว่า “การทำบุญโดยการบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยากเป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์ยืน ยาว เพราะเด็กถ้าได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น เขาก็จะไม่เพียงแต่เป็นพลเมืองที่ดี มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีชีวิตที่มั่นคง แต่ยังมีความสามารถทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม”

เพราะการศึกษา คือโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตคนเราได้

“ผมของแสดงความชื่นชม และนับถือในความพยายาม และจิตใจที่แน่วแน่ ของน้องๆ นักเรียนทุนเสมอภาคทุกคนที่ยังคงต่อสู้กับอุปสรรคทางการศึกษาของตนอยู่ทุกวัน ด้วยความมุ่งมั่น และยังมีความอุตสาหะในการเดินทางไกลเกือบ 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลาหลายวันเพื่อร่วมงานในวันนี้ และขอขอบคุณคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่านที่ช่วยสนับสนุนน้องๆ ทุกคนตลอดมา” ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว

ดร.ประสาร กล่าวเสริมก่อนจบว่า เด็กจำนวนหลายแสนหลายล้านคนในประเทศ จะได้อานิสงส์จากความพยายามของพวกเรา โดยเชื่อว่าความสำเร็จของการพัฒนาประเทศไทยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า อยู่ที่ความสำเร็จของสังคมไทยในการมอบโอกาสแก่น้องๆ เหล่านี้ทุกคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคในวันนี้

ในเดือนเทศกาลแห่งการให้ และก้าวสู่ปีใหม่เช่นนี้ กสศ.จึงขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมทำบุญครั้งสำคัญกับ กสศ.ในโครงการ “ล้านพลังคนไทยมอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ” โดยร่วมบริจาคกับกสศ.ได้ที่  www.eef.or.th/donate  หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่ บช. 172-0-30021-6ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค

เพราะสังคมไทย จะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง มาช่วยกันทำให้ปี 2563
เป็นปีที่ดีขึ้นของเด็กเยาวชน และของสังคมไทย…