เตรียมตัวพร้อมรับ-ปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 (ตอนที่ 2)

เตรียมตัวพร้อมรับ-ปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 (ตอนที่ 2)

บทความตอนที่แล้วเราได้แสดงให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในช่วงสถานการณ์ COVID-19 และเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 ตอนที่ 1 

บทความตอนนี้มาดูกันว่า จะมีเทรนด์ด้านการศึกษาอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ติดตาม

อ่านเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 ข้อที่ 1-8 ได้จาก (ตอนที่ 1)
9. ทฤษฎีแมทธิว เอฟเฟกต์ (Matthew Effect) จะยิ่งเห็นชัดและปรากฏมากขึ้น

ทฤษฎีแมทธิว เอฟเฟกต์ (ทฤษฎีที่ใช้อธิบายว่าทำไมคนที่เกิดมารวยก็จะยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่เกิดมาจนก็จะยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความรวยที่คนเรามีอยู่ในตอนแรกนั้นจะช่วยส่งผลทำให้เกิดโอกาสที่ตามมาในการที่จะทำให้พวกเขายิ่งรวยขึ้นเมื่อเทียบกันกับโอกาสที่คนจนจะได้รับในชีวิต) เมื่อว่าด้วยเทคโนโลยีด้านการศึกษาและความเสมอภาค จะพบว่า เด็กนักเรียนที่ได้ประโยชน์จากการเรียนผ่านเทคโนโลยีจริงๆ ก็คือเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษา แวดล้อมด้วยครูที่มีคุณภาพ หรือเติบโตภายในสภาพแวดล้อมของคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด นั่นเพราะคำว่า “การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการศึกษา” เป็นเพียงวาทกรรมที่บอกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนยากจน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงนั้นกลับเป็นตรงกันข้าม

10. สนับสนุนเเล็ปท๊อปและเม้าส์สำหรับเด็กนักเรียนแต่ละคน

แน่นอนว่าการปรับใช้เทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อกับห้องเรียนแห่งอนาคต การสนับสนุนงบประมาณเพื่อซื้อเเล็ปท๊อปสำหรับเด็กทุกคนก็ฟังดูไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป ลองดูตัวอย่างโครงการ ‘One Mouse Per Child’ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Microsoft Research Connections และศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยี Miguel Nussbaum แห่งมหาวิทยาลัย Pontificia Universidad Católica de Chile ประเทศชิลี ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองการเรียนรู้โดยใช้เกมเข้ามาเป็นสื่อ และใช้ซอฟต์แวร์ Single Display Groupware ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน การเรียนรู้แบบร่วมมือกันนี้เป็นการปรับใช้แหล่งข้อมูลการเรียนรู้ที่มีอยู่เเล้วในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กนักเรียนแต่ละคน

11. กระเป๋านักเรียนที่หนักน้อยลง

ตัวอย่างจากประเทศไทยที่เราได้เห็นเด็กนักเรียนถือกระเป๋าหรือสะพายเป้ที่มีหนังสือหลายเล่ม หนักหลายกิโลบรรจุอยู่ภายใน เช่นเดียวกับที่อินเดีย เด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าหนัก 3-8 กิโลกรัมไปโรงเรียนทุกวัน เพราะนอกจากหนังสือและสมุดแล้ว เด็กๆ ต้องแบกกล่องอาหารและขวดน้ำไปด้วย เมื่อปรับมาเป็นการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดภาระสิ่งของในกระเป๋าของเด็กๆ ได้ การทำการบ้านที่สามารถย้ายไปสู่แพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายโรงเรียน โดยหวังว่าจะกลายเป็นมาตรฐานที่ปรับใช้ทั่วไป แม้อาจใช้เวลา แต่รับรองว่าต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

12. การเรียนทางไกลจะกลายเป็นมาตรฐานแห่งอนาคต

องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เปรียบเทียบระบบการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้วและการสอบระดับชาติ PISA (การสอบวัดความรู้ในระดับนานาชาติ สำหรับเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 31 ประเทศ) ผลงานวิจัยพบว่า เด็กนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์นั้นมีทักษะการอ่านและคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ที่ลดลง มูลนิธิ Reboot Foundation เองก็เปิดเผยผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน จัดทำขึ้นเมื่อกรกฎาคม 2019 พบว่า มีการเชื่อมโยงกันในเชิงลบระหว่างคะแนน PISA ของเด็กแต่ละประเทศและการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียน ยิ่งนักเรียนใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนมากเท่าไหร่ ระดับคะแนนสอบ PISA ก็ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น

13. ผสมผสานการเรียนรู้เเละการศึกษาเฉพาะบุคคล

จากวิกฤติก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้พัฒนารูปแบบการศึกษาแบบผสมผสาน เพราะในช่วงเวลาก่อนเกิด COVID-19 เองก็มีความต้องการ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เกิดขึ้นอยู่บ้างเแล้ว เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้คนได้เพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้เรียนวัยผู้ใหญ่ในอนาคตจะยิ่งมีความสนใจในระบบการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสาขาหรือวิชาที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการ เพราะเกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์กับการทำงานในสาขานั้นๆ โดยตรง หรือเส้นทางการเรียนและประสบการณ์จากการเรียนรู้ ที่เตรียมพร้อมให้นักเรียนได้ใช้เทคโนโลยีอย่าง AI, AR, VR, ML, บล็อกเชน (Blockchain), Big Data, Cloud, การวิเคราะห์ข้อมูล การสั่งงานด้วยเสียง และอื่นๆ เราจะได้เห็นการทดลองการเรียนแบบผสมผสานในรูปแบบใหม่

ผู้เรียนวัยผู้ใหญ่นั้นจะทุ่มเทการเรียนจาก “ความหลงใหล” งานอดิเรกหรือทักษะที่พวกเขาต้องการเรียนรู้แต่ไม่เคยมีเวลา จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เดินทางได้น้อยลงหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้น้อยลง การปรับมา work-from-home ก็ทำให้ผู้เรียนมีเวลามากขึ้นที่จะกลับเข้าห้องเรียนใหม่อีกครั้ง

14. วิกฤติหนี้ของเด็กนักเรียน

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นไปทั่วโลก เด็กนักเรียนในหลายพื้นที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  ซึ่งรวมถึงผู้เป็นพ่อแม่ที่อาจกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าหากตลาดการจัดจ้างงานยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น หนี้สินที่เกิดจากกองทุนกู้ยืมสำหรับเด็กนักเรียนจะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐในหลายประเทศต้องแก้ไขอย่างเร่งด้วย

15. จับตามองการพัฒนาทักษะเดิม (Reskilling) และการเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Upskilling)

ในช่วงของการตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 การสมัครเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยจำนวนของผู้ที่ตกงาน หรือแม้แต่คนที่มีงานทำอยู่ก็ตาม ที่เมื่อเห็นสภาพความตกต่ำของเศรษฐกิจก็ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อมากขึ้น คนเหล่านี้ต้องการเข้าเรียนในระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงมากที่สุด (Great Recession) โดยคอร์สที่คนเลือกลงเรียนมากที่สุดคือสาขาเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงหลักสูตรวิชาชีพที่มีคนสนใจไม่น้อยเช่นกัน 

16. หลักสูตรการเรียนที่ออกแบบเฉพาะบุคคลโดย AI

สิ่งที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้มีนัยยะสำคัญต่อการศึกษาในระดับสูง ทุกวันนี้ที่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เผชิญกับความท้าทายใหม่ ทั้งการไม่มีส่วนร่วมของนักศึกษา อัตราการลาออกที่เพิ่มสูงขึ้น หรือแนวคิด “one-size-fits-all (แผนเดียวปรับใช้ได้ทุกอย่าง)” ที่ไม่ได้ผลต่อโลกใหม่ของการศึกษาอีกต่อไป เพราะเมื่อสามารถวิเคราะห์ Big data และใช้งาน AI ได้อย่างถูกต้อง ประสบการณ์การเรียนแบบเฉพาะบุคคลก็จะมีประสิทธิภาพ เด็กนักเรียนทุกคนจะสนุกไปกับหลักสูตรการสอนที่เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของพวกเขาโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นเเละลดอัตราการลาออกจากการเรียน ทั้งยังเป็นโอกาสให้อาจารย์ได้มีความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยปรับการเรียนการสอนในส่วนของอาจารย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปได้เช่นกัน 

17. AI และ Cloud Computing บริการที่พร้อมสำหรับ MOOC

MOOC (Massive Open Online Course) สนับสนุนให้ครูเเละนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเรียนและมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ โดยเป้าหมายของ MOOC คือการปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนจำนวนมาก มีรูปแบบที่หลากหลาย และโครงสร้างบทเรียนที่ขึ้นอยู่กับโปรไฟล์ผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะ การเรียนจากผู้เรียนที่เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้นเท่านั้น AI และ machine learning จะถูกใช้เพื่อสรุปจุดเด่นและจุดอ่อนของผู้เรียน การทดสอบบทเรียนต่างๆ มีเจตนาเพื่อสนับสนุนความมั่นของนักเรียน เพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมและกระตุ้นการเรียนรู้ได้อยู่เสมอ 

18. การสอบและการให้เกรดจะเปลี่ยนไป

AI จะช่วยให้คุณครูสามารถประเมินผลการสอน ประเมินความเข้าใจ จัดการเอกสารสอบและติดตามประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้โดยไม่กลายเป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ในเมื่อการจัดการเอกสารต่างๆ สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ครูผู้สอนจะมีเวลามากขึ้นในการนำไปพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน คุณภาพการสอน เเละการพัฒนาความถนัด กรอบการทำงานของ AI จะช่วยให้เรื่องของการสอบและระบบการให้คะเเนนเป็นรูปแบบดิจิทัล เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาระของครูให้น้อยลง

19. แชทบอท ผู้ช่วยการเรียนรู้

ที่มหาวิทยาลัยมูร์เซีย ประเทศสเปน ได้เริ่มทดลองโปรแกรมแชทบอทที่ประมวลผลโดย AI ในการตอบคำถามจากนักศึกษาเกี่ยวกับแคมปัสเเละพื้นที่สำหรับการเรียน ซึ่งหลังจากเปิดตัว บุคลากรในมหาวิทยาลัยก็ต้องแปลกใจว่าจากคำถาม 38,708 ครั้ง แชทบอทนี้สามารถตอบได้ถูกต้องถึง 91% ซึ่งไม่ใช่แค่แชทบอทจะตอบด้วยข้อมูลพื้นฐานอย่างเรื่องการปรับรูปแบบการเรียนหรือเรื่องเวลาเปิด-ปิดมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่พบว่าแชทบอทยังช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับนักศึกษาได้อีกด้วย ซึ่งข้อดีจากความสำเร็ตของแชทบอตนี้คือการลดภาระการทำงานของบุคลกรมหาวิทยาลัย ซึ่งสำเร็จได้จากการรวบรวมข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากคำถามมากมายของนักศึกษา ที่มากเพียงพอจะนำมาเป็นข้อมูลในการประมวลคำถามและคำจอบได้ ข้อมูลทีไ่ด้รับการวิเคราะห์เเล้วเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมบริการและโปรแกรมใหม่ในอนาคต เพื่อพัฒนาประสบการณ์ด้านการศึกษาให้กับเหล่านักศึกษาต่อไป

20. AR ช่วยเปลี่ยนแนวคิดให้เห็นเป็นภาพและบอกเล่าเรื่องราวให้ดีขึ้น

เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้างภาพจากแนวคิดที่เป็นนามธรรมให้เห็นชัดเจน นำสิ่งของหรือแนวคิดให้เห็นภาพได้ในความจริง ลองดูตัวอย่างจากนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัย Case Western Reserve University (CWRU) และคลินิกเคลฟเวเเลนด์ ที่จำเป็นต้องเรียนจากบ้านในช่วงล็อคดาวน์ เครื่องมือ HoloAnatomy ช่วยให้นักศึกษาเรียนกายวิภาคของคนโดยเข้าถึงในทุกรายละเอียดร่างกายได้แบบสามมิติ โดยสามารถมองเห็นเเละเข้าถึงรายละเอียดจากทุกชิ้นส่วนของร่างกาย การชำแหละ หรือภาพประกอบในหนังสือเรียนด้วยการใช้ AR หรือโรงละครแห่งชาติในลอนดอน ก็ใช้ AR เข้ามาช่วยส่งเสริมการแสดงให้ผู้พิการหูหนวกหรือผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าถึงเเละเข้าใจเนื้อหาของการแสดงได้ ด้วยการสวมใส่อุปกรณ์อย่างแว่นอัจฉริยะ จะทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นซับไตเติ้ลของบทละครในแต่ละฉาก รวมถึงการบรรยายเพลงประกอบด้วยเช่นกัน 

ตัวอย่างเทรนด์ที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา การเรียนรู้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ เดือน หรือใช้เวลาเปลี่ยนแปลงเป็นปี สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนการันตีได้ในตรงนี้เลยคือ การศึกษาจะไม่กลับไปเป็นรูปแบบเดิมแบบก่อนเกิดวิกฤติอย่างแน่นอน เราต้องละทิ้งหลักสูตรการเรียนแบบเก่า และคิดทบทวนการสอนแบบใหม่ เราจะต้องประเมินเวลาที่ใช้ร่วมกันในห้องเรียน และหาหนทางที่จะใช้ช่วงเวลาตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจะต้องหาวิธีการมอบหมายการบ้านและตรวจข้อสอบแบบใหม่ เราจะต้องทำความเข้าใจความต้องการของนักเรียนที่เปลี่ยนไป และแน่นอนว่าเราจะต้องแก้ไขการรับรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีและความสัมพันธ์ของครูของนักเรียนด้วยวิธีเดียวกัน

สิ่งที่จะต้องทำร่วมกัน นักการศึกษาจะต้องดูเเลและใส่ใจผู้เรียนทุกคน บ่มเพาะคอมมูนิตี้ เเละสร้างสัมพันธ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ทำงานเพื่อเข้าใจบริบทของนักเรียนแต่ละคน ร่วมมือกับผู้เรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขา เรียนรู้จากตัวผู้เรียนเองด้วยเช่นกัน ตอบรับความต้องการด้วยความยืดหยุ่น มีส่วนร่วมกับบทสนทนาที่เกี่ยวกับความยากลำบากในช่วงเวลานี้

อนาคตในวันพรุ่งนี้คงเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราสามารถกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเราเอง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นที่ต้องการ ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความเป็นแปลงนั้นเป็นความจริงที่บีบบังคับ ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องใช้ความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นโอกาสและร่วมมือกันเพื่อผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่าด้วยกัน