เตรียมตัวพร้อมรับ-ปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 (ตอนที่ 1)

เตรียมตัวพร้อมรับ-ปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับเทรนด์การศึกษายุคหลัง COVID-19 (ตอนที่ 1)

เทรนด์การศึกษาแห่งอนาคตหลังยุค COVID-19

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าในวันนี้รัฐบาลทั่วโลกได้ตัดสินใจออกนโยบายในการปิดสถาบันการศึกษา เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของโรคระบาด COVID-19 มีจำนวนเด็กนักเรียนกว่า 1.3-1.5 พันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกได้ในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดโรงเรียน โดยเฉพาะกับในพื้นที่ด้อยโอกาส ด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาสำหรับการเรียนทางไกล

การปิดโรงเรียนนั้นมีต้นทุนในทางสังคมเเละเศรษฐกิจที่ต้องจ่าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นครอบคลุมไปในหลายมิติ การทำให้เด็กขาดความสัมพันธ์และครอบครัวของพวกเขา การหยุดชะงักของโรงเรียนนั้นส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วในระบบการศึกษายิ่งขยายมากขึ้น UNESCO ได้นำเสนอรายละเอียด เอกสารการเรียนรู้มากมายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ การปิดโรงเรียนได้สร้างผลกระทบรุนเเรงต่อสังคม โดยผลการศึกษาของ UNESCO ได้สรุปมาเป็น 13 ข้อดังนี้

  • การเรียนรู้ที่ถูกระงับ: ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือเมื่อปิดโรงเรียน ทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นต่างขาดแคลนโอกาสในการเรียนรู้เเละพัฒนาทักษะที่จำเป็นในทันที ผลกระทบนี้ยิ่งส่งผลอย่างรุนเเรงต่อกลุ่มผู้เรียนรู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มเด็กที่ถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว
  • ขาดแคลนโภชนาการ: เด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นหลายคนได้รับอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนจากมื้ออาหารในโรงเรียน ที่มีโภชนาการครบถ้วน แต่เมื่อโรงเรียนปิด เด็กๆ จึงขาดสารอาหารที่เหมาะสมไปด้วยเลยทันที เพราะบางบ้านนั้นไม่อาจมีอาหารครบถ้วน 5 หมู่ให้กับเด็กๆ ได้
  • คุณครูที่เครียดและสับสน: เมื่อโรงเรียนปิดโดยที่ไม่มีกำหนดเปิดอย่างชัดเจน นอกจากนักเรียนแล้วก็คือคุณครูที่ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับเด็กๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างไร การเปลี่ยนจากห้องเรียนมาเป็นเรียนออนไลน์ ก็อาจะสร้างความยุ่งยากและความไม่มีประสิทธิภาพได้แม้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเเล้วก็ตาม ในหลายพื้นที่ การปิดโรงเรียนจึงเป็นการนำไปสู่การพักงานหรือการลดจำนวนครูในโรงเรียน
  • ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์: การปิดโรงเรียนทำให้พ่อแม่ต้องกลายเป็นคุณครูจำเป็น โดยที่บางครอบครัวไม่อาจจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พร้อมรับต่อการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ 
  • ความท้าทายในการสร้าง การรักษา เเละการพัฒนาการเรียนทางไกล: ความต้องการในการเรียนทางไกลนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลับเมื่อโรงเรียนปิด มาพร้อมกับปัญหาเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การย้ายจากห้องเรียนไปเรียนที่บ้านจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งในฐานะผู้ใช้งานและเทคโนโลยีที่รองรับ
  • ช่องว่างระหว่างเด็ก: ในช่วงเวลาที่อยู่บ้านตามนโยบายรัฐในการปิดโรงเรียน ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่พ่อแม่จะพร้อมรับหน้าที่หรือมีเวลาให้กับการสอนลูกอย่างเต็มกำลัง บางครอบครัวพ่อแม่ประกอบอาชีพที่ไม่อาจหยุดการทำงานได้ อย่างเช่นแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการปล่อยให้ลูกอยู่บ้านแต่ลำพังอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลจากคนรอบข้างหรือการใช้สารเสพติด
  • ต้นทุนทางค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น: ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานและจำเป็นต้องขาดงานเพื่อมาดูเเลเรื่องการเรียนให้กับลูก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการสูญเสียรายได้ให้กับครอบครัวหรือนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานในเชิงลบ
  • ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระบบดูเเลสุขภาพ: บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการดูเเลสุขภาพของเด็กในโรงเรียนนั้นไม่อาจทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม เพราะการปิดโรงเรียนทำให้หน่วยงานที่ดูเเลสุขภาพเด็กไม่อาจเข้าถึงเด็กๆ ทั้งหมดได้  ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ก็ไม่อาจอำนวยความสะดวกได้ทันท่วงทีต่อวิกฤตทางสุขภาพที่เกิดขึ้น
  • เพิ่มแรงกดดันให้กับโรงเรียนและระบบการศึกษาในการกลับมาเปิดอีกครั้ง: โรงเรียนระดับท้องถิ่นที่ต้องกลายเป็นภาระสำหรับรัฐบาลหรือครอบครัวในการนำเด็กนักเรียนกลับมาสู่ระบบการเรียนรู้อีกครั้งหลังจากปิดไป
  • เกิดอัตราการหยุดเรียนถาวร: หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่จะทำให้แน่ใจว่าทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นจะกลับสู่ระบบการเรียนและเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลาหลายเดือน ควบคู่กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเด็ก และรายได้ที่ลดลงของผู้ปกครอง
  • การเพิ่มขึ้นของความรุนเเรงและการทำร้ายร่างกาย: ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดพบว่ามีเด็กนักเรียนหลายคนเลือกออกจากการศึกษา มีอัตราการค้าบริการทางเพศในเด็กผู้หญิงและกลุ่มผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการใช้แรงงานเด็กที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
  • การแยกตัวทางสังคม: โรงเรียนที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางสังคมเเละการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิด เด็กเล็กและวัยรุ่นหลายคนจึงขาดการเชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับทักษะการเรียนรู้เเละการพัฒนา
  • การเปลี่ยนแปลงด้านการวัดผลการเรียนรู้: ด้วยระยะเวลาตามรอบเทอมที่เปลี่ยนไป ส่งผลโดยตรงต่อช่วงเวลาในการสอบวัดความรู้ ทั้งในระดับภายในโรงเรียนหรือระดับชาติ สร้างความสับสนและไม่ลงตัวให้กับโรงเรียนเกือบทุกพื้นที่ กลยุทธ์ในการเลื่อนวันสอบ งดเว้น หรือจัดวิธีการสอบแบบทางไกล ได้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหาข้อสรุป เพราะความขัดข้องในการวัดผลการเรียนรู้จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคตในการเรียนต่อและความกังวลที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง

และในฐานะที่ Sandeep Goyal เป็นทั้งนักเขียนเเละผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการสื่อสารมากกว่าสี่ทศวรรษ เขาได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับโลกหลัง COID-19 ว่าความธรรมดานิยามใหม่ได้หยิบยื่นรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตลอดกาล จากห้องเรียนในฝันสู่ห้องเรียนอยู่บนความเป็นจริง กลุ่มเด็กนักเรียนจากชนชั้นกลางจะต้องเผชิญภาวะข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน สัญญาณอินเทอร์เน็ต กลุ่มเด็กด้อยโอกาสไม่อาจเข้าถึงการเรียนได้อีกต่อไป ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของทักษะการเรียนรู้ที่ชะงักไปเท่านั้น แต่หมายถึงอนาคตของเด็กจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจไปต่อได้ตามปกติ

 

และนี่คือ เทรนด์การศึกษาแห่งอนาคตหลังยุค COVID-19 (ตอนที่ 1)

 

1. เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง จะมีจำนวนเด็กในเรียนกลับไปเรียนตามระบบโรงเรียนน้อยลง

ตัวอย่างจากประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อ COVID-19 น้อยลงอย่างมาก และล็อคดาวน์ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน โดยได้ตัดสินใจกลับมาเปิดเรียนตามปกติอีกครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการหวาดระแวงต่อการติดเชื้อระลอกที่สอง ทำให้ครอบครัวนับพันรายเลือกที่จะให้ลูกของตัวเองอยู่บ้านมากกว่า ฝ่ายพ่อแม่มีการเกิดคำถามจำเป็นอย่าง “ทำไมลูกๆ ของพวกเราจึงต้องออกไปข้างนอก?” โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดีย ที่กลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากเลือกที่จะไม่ให้ลูกกลับไปเรียนตามปกติ รวมถึงย่านที่มีรายได้ต่ำ ครอบครัวยากจน หรือกรณีที่อื่นๆ ที่ไม่อาจนำเด็กกลับสู่โรงเรียนได้อีกครั้ง

2. เด็กหลายคนต้องเดินทางไกลเพื่อเข้าเรียน

หนึ่งในฝันร้ายของเด็กๆ ที่ติดอยู่ในเมืองโคตา รัฐราชาสถาน อินเดีย จะต้องได้รับการช่วยเหลือและนำกลับบ้านจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ครอบครัวส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานใหม่ที่ใกล้บ้าน ในส่วนของการสอบวัดระดับก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ความปลอดภัยของเด็กๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่า อย่างน้อยที่สุดคือจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ COVID-19 จะมีทิศทางดียิ่งขึ้น

3. กลุ่มเด็กนักเรียนในต่างประเทศ

อีกหนึ่งปัจจัยในระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง ทั้งกลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนต่างประเทศ กลุ่มบุคลากรด้านการศึกษาที่แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กลุ่มนักศึกษาฝึกงานที่เข้าร่วมกับบริษัทต่างประเทศ การที่มหาวิทยาลัยต้องปิดหรือเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ตลอดจนเวทีสัมมนาต่างๆ สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่า ที่ต้องยกเลิกและเปลี่ยนรูปแบบเป็นเว็บมินาร์ แม้ว่ารัฐบาลในแต่ละพื้นที่จะมีความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูสังคมเเละทำให้ธุรกิจกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เช่นเดียวกับนโยบายที่มีต่อมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่มีแผนให้กลับมาเปิดแคมปัสต่างๆ ถึงอย่างนั้น ข้อปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคมก็ยังเป็นข้อปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อบางรายวิชาที่ต้องใช้พื้นที่หรือมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างเด็กนักเรียน อย่างเช่นห้องเรียนที่มีเด็กนานาชาติหรือห้องสมุด ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องของวีซ่าสำหรับเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาจากต่างประเทศ ปัญหานี้ยังรวมถึงกลุ่มอาจารย์ต่างประเทศที่จะต้องสอนออนไลน์ โดยมีแผนการนำเสนอ “เรียนนานาชาติได้ที่บ้าน” อีกด้วย

4. รักษาระยะห่างทางสังคม ไม่มีวิชาพละศึกษา

ท่าทางอย่างการชนกำปั้น การไฮไฟว์ การจับมือ การกอด กิริยาท่าทางที่ไม่อาจทำได้อีกต่อไป การทักทายอย่างใกล้ชิด การยิ้ม การสนิทสนม ความมีมิตรไมตรีต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกลบล้างออกไปจากห้องเรียนในอนาคต คลาสเรียนวิชาพละศึกษา อย่างเช่นโรงพละ สระว่ายน้ำ บางแห่งอาจรวมถึงลู่วิ่งและสนามหญ้า ที่อาจมีการออกข้อบังคับงดใช้งานไปอีกระยะ จนถึงเมื่อการกลับมาเปิดอีกครั้ง การแข่งขันกีฬาก็ยังคงเป็นรูปแบบที่ไม่อาจเกิดขึ้นอีก

5. เข้าเรียนแบบ 2-3 กะ

ผลเนื่องจากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม จำนวนนักเรียนต่อห้องจึงต้องปรับให้ลดน้อยลง โรงเรียนบางแห่งจึงได้ปรับการเรียนแบบเป็นกะ ราวๆ 2-3 กะต่อวัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน ที่จะต้องเพิ่มกำลังในการสอนมากขึ้น โรงเรียนและวิทยาลัยหลายแห่งในอินเดียเลือกที่จะรวมกลุ่มเด็กนักเรียนเข้าห้องเรียนขนาดเล็ก เพื่อหวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนเเละการมีปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียน

 

6. ระยะห่างทางสังคมอาจนำไปสู่ “สังคมที่ไกลห่าง”

ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับห้องเรียนยิ่งขยายกว้างอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยแวดล้อมหลากหลาย ทั้งพื้นฐานครอบครัว สถานะทางสังคม สภาพการเงิน ประเภทของโรงเรียนที่มีส่วนโดยตรงกับการประกอบสร้างอนาคตและความมั่นใจของเด็กนักเรียน ดังนั้นเเล้ว เด็กด้อยโอกาสจึงมีแนวโน้มที่จะขาดความมั่นใจในการสื่อสารหรือแสดงความคิดเห็น หรือกลัวที่จะพูดผิดในชั้นเรียน จึงเลือกที่จะเงียบหรือไม่มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสภาพห้องเรียนที่สะสมมาก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 จนถึงในวันนี้ ที่คนส่วนใหญ่ต่างพูดกันว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ แต่นั่นก็รวมถึงห้องที่มีแอร์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในขณะที่เด็กกลุ่มด้อยโอกาสไม่อาจแม้เเต่จะมีอุปกรณ์ที่รองรับต่อการเรียนรู้ หรือเข้าถึงสัญญาณวายฟาย ดังนั้น ห้องเรียนออนไลน์จึงอาจเป็นอีกชื่อเรียกของความเหลื่อมล้ำที่นำพาไปสู่สังคมที่ไกลห่างกันมากขึ้นกว่าเดิม

7. คิดใหม่ว่า “สอน” หรือ “เรียนรู้”

ครั้งหนึ่ง ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เคยกล่าวไว้ว่า “การศึกษาเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่สิ่งที่ต้องจดจำไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรคุ้มค่าไปกว่าการเรียนรู้ที่สามารถสอนได้” บทบาทของครูจะต้องได้รับการทบทวนใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักการศึกษาในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กนักเรียนรูปแบบเดิมจะไม่ลงตัวกับอนาคตอันใกล้นี้อีกต่อไป เด็กนักเรียนจะมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งความรู้หรือแม้แต่การเรียนในเชิงเทคนิค เพียงแค่ไม่กี่คลิ้กจากลิ้งก์ในมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เหมือนเป้นเช่นนี้บทบาทการสอนของครูจึงต้องได้รับการคิดใหม่ พัฒนาให้เท่าทันต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียน เป็นให้ได้มากกว่าผู้ทำหน้าที่บรรยายเนื้อหาที่พวกเขาเข้าถึงได้เร็วกว่าการสอนทั่วไป 

8. การสอนกับเทคโนโลยี

ช่วงเวลาที่เป็นก้าวการปรับตัวครั้งใหญ่ของการเรียนการสอน รูปแบบและหลักสูตรออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ยึดโยงอยู่กับบริการอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและอุปกรณ์การเรียนอย่างเเท็บเล็ตหรือโน้ตบุ้ค นักศึกษาศาสตร์ได้พัฒนารูปแบบการเรียนใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่นวิชาวิทยาศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ ที่สามารถแสดงตัวอย่างบทเรียนได้แบบสามมิติ รายละเอียดของแผนที่ ปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือการสอนให้กับครูและนักการศึกษาที่มีความต้องการในการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ยังมีเทรนด์การศึกษาแห่งอนาคตหลังยุค COVID-19 ที่น่าสนใจอีกมากมาย ติดตามได้ในบทความ ตอนที่ 2

 

ที่มาข้อมูล : FUTURE SHOCK: 25 Education trends post COVID-19