“ความยากจน” อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ทำให้เด็กทั่วโลกเข้าไม่ถึงการศึกษา

“ความยากจน” อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ทำให้เด็กทั่วโลกเข้าไม่ถึงการศึกษา

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้ง วิกฤตเศรษฐกิจ หายนะภัยพิบัติทางธรรมชาติ สงครามความขัดแย้ง หรือ โรคระบาด ในท้ายที่สุดแล้ว อุปสรรคกีดขวางชิ้นใหญ่ที่สุด และยังคงเป็นอุปสรรคหนึ่งเดียว ที่ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเข้าไม่ถึงการศึกษาเสียที่ก็คือ “ความยากจน”

World Economic Forum เผยบทความพิเศษ เน้นย้ำให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาความยากจน ที่ยังหยั่งรากฝังลึกอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกว่า เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่แฝงตัวอยู่ในสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน 

เพราะความยากจนคือปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกัน หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทุกคนพึงควรได้รับอย่างการศึกษา 

โดย World Economic Forum มองว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คาดไม่ถึง ที่ทำให้ ปัญหาความยากจน ทวีความเลวร้ายมากขึ้น และเสี่ยงทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะความไม่เสมอภาคทางการศึกษารุนแรงมากขึ้น 

ความวิตกดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน 2020 Global Education Monitoring Report หรือ รายงานการเฝ้าระวังด้านการศึกษาโลกประจำปี 2020 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ความยากจน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 250 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ ขณะที่ภูมิหลังครอบครัว เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และเพศสภาพเป็นเพียงแค่ปัจจัยรองลงมาเท่านั้น 

UNESCO ระบุว่า สถานการณ์การศึกษาทั่วโลกก่อนหน้าการระบาดของโรค COVID-19 แม้จะดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะมีเด็กและเยาวชนมากมายได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี กระนั้น เด็กและเยาวชนอีกหลายร้อยล้านคนกลับเผชิญอุปสรรคที่กีดกันตนเองไม่ให้เข้าถึงการศึกษา

รายงานฉบับนี้ เข้าไปศึกษาสำรวจข้อมูลอัตราการเข้าร่วมด้านการศึกษาในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก จนพบว่า ปัจจัยหลักที่ขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าถึงการศึกษา ก็คือความยากจน แซงหน้าปัจจัยกีดขวางอื่นๆ อย่าง ภูมิหลัง
ครอบครัว อัตลักษณ์ส่วนบุคคล หรือขีดความสามารถอื่นๆ 

ในจำนวนประเทศทั้งหมดที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์พบว่า ในจำนวนนี้มีไม่ถึง 10% ที่มีระบบการศึกษาที่ครอบคลุมเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มของสังคม โดยหากตัดประเทศรายได้สูงในยุโรปและอเมริกาเหนือออกไป มีเด็กยากจนทั่วโลกเพียง 18% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาจนจบระดับมัธยมศึกษา ขณะที่เด็กหญิงที่ยากจนที่สุดในพื้นที่ชนบทอย่างน้อย 20 ประเทศ ทั่วโลก แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมศึกษาเลย

ทั้งนี้ หากประเมินเป็นตัวเลขที่ชัดเจน รายงานของ UNESCO พบว่า เด็กและเยาวชนราว 258 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 17% ของเด็กและเยาวชนทั้งหมด กำลังอยู่นอกระบบการศึกษา โดยสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในเขต ซับ-ซาฮารา ซึ่งมีเด็กและเยาวชนอยู่นอกระบบการศึกษาสูงถึง 31%

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพรวม ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างกลุ่มประเทศยากจน กับ กลุ่มประเทศร่ำรวย ยังคงอยู่ในระดับสูงจนน่าวิตก ขณะที่ภายในประเทศ ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างคนรวยกับคนจนก็เลวร้ายไม่แพ้กัน 

โดยในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ เด็กจากครอบครัวร่ำรวย 20% มีโอกาสทางการศึกษาและสามารถเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมากถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนจากครอบครัวยากจน

นอกจากนี้ รายงานของ UNESCO ยังประเมินว่า ประมาณ 40% ของประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำไม่มีนโยบายสนับสนุนช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสในสังคมให้เรียนหนังสือในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดตัวเพื่อสกัดกั้นการระบาดของ COVID-19 แม้แต่น้อย

ทั้งนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างมองว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหายากจนอย่างยั่งยืนถาวรที่สุดก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชน โดย ศาสตราจารย์ อมาตยะ เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวอินเดีย ได้กล่าวถึง บทบาทสำคัญของการศึกษาว่า เป็นเครื่องมือและอาวุธของผู้คนในสังคมในการนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี มั่นคงและปลอดภัย ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคมของ
ประเทศนั้นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยความยากจนจะเป็นอุปสรรคลำดับต้นๆ ที่ขัดขวางไม่ให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเข้าถึงการศึกษา กระนั้น ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความไม่เสมอภาคทางการศึกษาที่ไม่ควรละเลยเช่นเดียวกัน
ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น หมายรวมถึง เพศสภาพ พื้นที่ เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ความเชื่อ และสถานะไร้สัญชาติ พลัดถิ่น 

World Economic Forum ระบุว่า กลุ่มเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเหล่านี้ เสี่ยงตกอยู่ในสภาพชุมชนหรือสังคมที่แม้แต่ความจำเป็นด้านความเท่าเทียมก็ไม่ได้รับความสนใจหรือเอ่ยถึง หรือหากเลวร้ายกว่านั้น สิทธิความเสมอภาค ยังเป็นสิ่งที่ถูกปฎิเสธและมองข้าม เพราะความอคติ ความลำเอียง และความเกลียดชังจากผู้คน ในสังคม ซึ่งเด็กผู้พิการ เด็กพลัดถิ่น เด็กชนกลุ่มน้อย และเด็กไร้สัญชาติ มักจะตกเป็นเหยือของความเกลียดชังของผู้คนในสังคมได้มากที่สุด

กระนั้น เป็นที่น่าดีใจว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ส่งสัญญาณการปฎิรูปด้านการศึกษาเพื่อคนทุกคนมากขึ้น 

เช่น การจัดตั้งศูนย์จัดหาและกระจายทรัพยากรทางการศึกษา หรือการออกนโยบายของ มาลาวี คิวบา และยูเครน ที่ให้การสนับสนุนโรงเรียนที่อำนวยความสะดวกแก่เด็กนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การนำภาษาถิ่นเข้ามาในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในรัฐโอริศาของอินเดีย หรือ การปรับหลักสูตรโรงเรียนให้สอดคล้องกับปฎิทินของชนเผ่าเร่ร่อนในเคนยา

ขณะที่ การระบาดอาจทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาย่ำแย่มากขึ้น แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั่วโลกต่างให้กำลังใจรัฐบาลและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าให้ถือวิกฤตในครั้งนี้ เป็นโอกาสสุดพิเศษที่จะได้คิดทบทวนหาแนวทางและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ในการปฎิรูปการศึกษาให้มีมิติที่ครอบคลุมมากขึ้น

Manos Antoninis ผู้อำนวยการผู้จัดทำรายงาน Global Education Monitoring Report กล่าวว่า COVID-19 ได้หยิบยื่นโอกาสที่ทำให้เราได้ฉุกคิดต่อระบบการศึกษาในปัจจุบันว่าดีพร้อมเพียงพอเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนและต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่คาดหวังไว้อย่างไร แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไปสู่ระบบที่เห็นคุณค่าและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของคนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในสังคม
ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สิ่งสำคัญการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ก็คือ การมองเห็นในโอกาสนั้น และลงมือทำ

Audrey Azoulay  ผู้อำนวยการทั่วไปของ UNESCO กล่าวว่า เพื่อจัดการความท้าทายทางการศึกษาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเพราะปัญหาการระบาด การปฎิรูปการศึกษาที่รวมทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด 

“การคิดพิจารณาทบทวนอนาคตของการศึกษาคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในเวลานี้ ที่การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความไม่เสมอภาคทางการศึกษารุนแรงขึ้น และหากไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ ของสังคม” ผู้อำนวยการทั่วไปของ UNESCO กล่าว

 

ที่มา : This is why many young people have no access to proper education