เปลี่ยนความเหลื่อมล้ำให้เสมอภาคได้อย่างไร ถอดความคิดนักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาชั้นนำของโลก

เปลี่ยนความเหลื่อมล้ำให้เสมอภาคได้อย่างไร ถอดความคิดนักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาชั้นนำของโลก

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัยและผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและการออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การลงทุนกับเด็กด้อยโอกาสจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยกัน ยิ่งเราลงทุนเร็วขึ้นเท่าไหร่ผลตอบรับที่เกิดขึ้นก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น หากเราลงทุนในเด็กตอนยังเล็กๆ ผลตอบแทนก็จะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจึงควรพิจารณาในการกำหนดงบประมาณด้านการศึกษาโดยใช้แนวคิดดังกล่าวนี้ไปพัฒนานโยบายด้านการศึกษา 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้จัดทำฐานข้อมูลความพร้อมของโรงเรียนในระดับจังหวัด เพื่อวัดความพร้อมของเด็กนักเรียนอนุบาลในรูปแบบของการสอบ PISA โดยเราต้องการจะรู้ว่าความต้องการของเด็กและปัญหาที่เขาต้องเจอในการเรียนคืออะไร ซึ่งเป็นที่น่าตกใจมากเพราะจากการทดสอบพบว่ามีเด็กมากกว่า 20% ในหลายจังหวัดไม่สามารถบอกได้ว่าสัญลักษณ์ตัวเลขที่เขากำลังทดสอบคือเลขอะไร  นอกจากนี้เด็กหลายคนยังมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์ และกว่า 30% ของเด็ก มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ต่ำกว่าเกณฑ์อีกด้วย ที่สำคัญเด็กในทุกจังหวัดที่เราได้ทำการสำรวจมีช่วงความจำต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งการศึกษาชิ้นนี้บ่งบอกว่าเด็กไทยในชั้นอนุบาลมีทักษะต่ำทั้งในทางคณิตศาสตร์ การอ่านออกเขียนได้ และความจำ

เรายังพบอีกว่า เด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อย หรือ มีฐานะยากจนจะมีความพร้อมเข้าโรงเรียนน้อยกว่าเด็กกลุ่มอื่น  ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องหาวิธีที่จะพัฒนานโยบายการศึกษาที่คุ้มค่าเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ทั้งนี้ความยากจนไม่ได้เป็นต้นกำเนิดของ ปัญหาโดยตรง แต่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้มีผลกระทบต่อการศึกษาแทน เช่น ขาดสารอาหาร การลงทุนต่ำในด้านการศึกษาของครอบครัว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ ทำให้การจะพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ เราจะต้องค้นหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรก่อน 

นอกจากนี้ กสศ.ยังได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษาเด็กเล็กในชนบทของประเทศไทย ภายใต้โครงการ “RIECE” ซึ่งเราส่งเสริมให้ครูในศูนย์เด็กเล็ก 50 ศูนย์ทดลองใช้หลักสูตรที่พัฒนาจากหลักสูตร HighScope ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมากทั่วโลกทำให้เราพบว่าเด็กที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรดังกล่าวทำคะแนนได้สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งผลการศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า การให้การศึกษาเด็กเล็กอย่างมีคุณภาพ ถึงจะเป็นในศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ชนบทก็ตาม ก็จะสามารถช่วยพวกเขาได้

ด้านคุณ Eric Hanushek นักเศรษฐศาสตร์ทางการศึกษาชั้นนำของอเมริกาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากทุกคนยังไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจากสถิติข้อมูลในปี 1960-2000 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบคะแนนสอบ PISA ของเด็กและตัวเลข GDP ของประเทศ พบว่า คุณภาพของแรงงานจะเป็นตัวกำหนดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หากแรงงานมีคุณภาพมากเท่าไหร่เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นหากเราต้องการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ ต้องเริ่มต้นจากความคิดว่า เราจะพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการพัฒนาการศึกษาในอดีตมุ่งไปที่การให้คนเข้าไปเรียนในโรงเรียนให้มากที่สุดและนานที่สุดเพราะวัดผลได้ง่ายกว่า โดยนับว่าคนเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเป็นเวลากี่ปี โดยไม่ได้พิจารณาว่าระหว่างที่เด็กเรียนหนังสือในโรงเรียนนั้นการเรียนการสอนมีคุณภาพดีพอหรือไม่

นอกจากนี้ เราพบว่ามีเด็กประมาณ 20% ในประเทศไทยที่เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ กว่า 43% ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐาน  ซึ่งวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา มีผลกระทบอย่างมากกับเด็กด้อยโอกาส เพราะเด็กกลุ่มนี้ครอบครัวสนับสนุนได้น้อยกว่าและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี  มีเด็กๆ อีกหลายคนที่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ทางไกลได้ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงครูที่มีคุณภาพที่ดีก็ยังมีน้อยกว่าเด็กในกลุ่มอื่นๆ

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเราต้องทำให้มากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ซึ่งวิกฤตครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีความสามารถในการระดมทุนได้น้อยลงและจะมีวิกฤตการเงินที่จะกระทบโรงเรียนด้วย เพื่อที่จะกลับไปในจุดที่เราอยู่ก่อนหน้าวิกฤต COVID-19 เราจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ถ้าเราเพียงแค่จะกลับไปให้เหมือนเดิม เด็กยุคนี้ก็จะได้รับผลกระทบไปตลอดชีวิต และการกลับไปให้เหมือน 4 เดือนที่แล้ว โดยไม่ทำอะไรเพิ่มเติมกับโรงเรียน  เด็กยุคนี้ก็จะมีช่องว่างในการเรียนรู้ และจะมีรายได้ลดลง 3-6% ตลอดชีวิต 

“ในตอนนี้เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมเมื่อ 4 เดือนที่แล้วได้หรือไม่ เมื่อดูจากสถานการณ์แล้ว สำหรับผมเราจะต้องทำให้ดีขึ้นโดยจะต้องช่วยให้เด็กที่มีความต้องการมากที่สุดเข้าถึงครูที่มีคุณภาพสูงขึ้น พร้อมกับการจัดสรรครูที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้เด็กเข้าถึงครูที่เก่ง ถ้าเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้นอกจากเราจะไม่สามารถกลับไปสู่สภาพก่อนหน้านี้ได้แล้ว เรายังจะไม่สามารถลดช่องว่างที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ได้ด้วย การพัฒนาจะนำไปสู่การเติบโต และการเติบโตจะนำไปสู่ทักษะ ถ้าเราไม่พัฒนาคุณภาพของโรงเรียนก็จะไม่มีการเติบโต ดังนั้น คุณค่าของการพัฒนาโรงเรียนจึงสำคัญมาก ซึ่งเด็กที่ขาดโอกาสเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ และผลจากวิกฤต COVID-19 ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ดีขึ้น” คุณ Eric Hanushek  ระบุ

ขณะที่คุณ Harry A. Patrnios หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ผู้ดูแลนโยบายการศึกษาของธนาคารโลก มองว่าภายหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ไม่ใช่ด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่กระทบถึงความสามารถในการหารายได้ด้วย โดยเราได้สำรวจจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่าในช่วงที่โรงเรียนปิด 4 เดือนนั้นทำให้เด็กๆ หารายได้น้อยลง 1,337 เหรียญต่อปีต่อคน ซึ่งตีเป็นมูลค่ากว่า 33,464 เหรียญตลอดชีวิตเด็ก 1 คน ซึ่งจำนวนของนักเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาที่มีมากถึง 76 ล้านคน เท่ากับรายได้ของเด็กๆ จะหายไป 2.5 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้นหากเราไม่มีมีมาตรการอะไรออกมาช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนหนังสือได้ก็จะมีผลกระทบมากขึ้นไปอีก

ขณะที่ผลกระทบกับเด็กๆ ทั่วโลกในช่วงของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ต้องหยุดเรียน ซึ่งเรามีการประเมินว่าหากพวกเขาต้องหยุดเรียนประมาณ 1 ปี จะส่งผลกระทบกับคะแนน PISA ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถเรียนรู้ของเด็กๆ ทั่วโลก ที่ลดลงอย่างมากจาก 440 เหลือ 413 และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะมีเด็กถึง 53 % ที่จะอ่านหนังสือไม่ออก 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ คือ กลุ่มคนที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับ ม.ปลายลงมาจะว่างงานเพิ่มขึ้นมากซึ่งจะทำให้ค่าจ้างของคนกลุ่มนี้ลดลงมากตามไปด้วย และทำให้พวกเขาต้องกลับไปเรียนหนังสือเพิ่มขึ้น ขณะที่คนได้รับการศึกษาสูงกว่าจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤต ซึ่งเราเห็นรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา และไทยในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อว่ารูปแบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกในช่วงวิกฤต COVID-19