ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนการศึกษาให้เสมอภาคสำหรับเด็กทุกคนได้อย่างไร?

ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนการศึกษาให้เสมอภาคสำหรับเด็กทุกคนได้อย่างไร?

คุณ Marjo Vesalainen Senior Ministerial Adviser, Ministry of Education and Culture, Finland  กล่าวว่า อาชีพครูในประเทศฟินแลนด์เป็นอาชีพในสาขางานวิชาการ ปริญญาครูจึงเป็นเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถเก่งให้มาเรียนในสาขานี้ เราจึงสามารถเลือกนักเรียนที่ดีที่สุดมาเป็นครูได้

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ทำการสอนครูในประเทศฟินแลนด์มีประสิทธิภาพในการสอนมากเลยทำให้เราได้บุคลากรด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการสอนมาก  อีกทั้งนี้เรายังไม่มีการสอบในการศึกษาภาคบังคับ ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม นี่จึงเป็นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อความสามารถครูในการตัดสินใจพัฒนางานและวัดผลนักเรียนของตัวเอง

ครูในประเทศฟินแลนด์จึงมีอิสระมากและเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพ ได้ความเชื่อถือจากสังคม  การเปลี่ยนอาชีพจากครูไปทำอาชีพอื่นจึงค่อนข้างเห็นได้น้อย พูดได้ว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่นิยมในประเทศเรา 

นอกจากนี้ครูในประเทศยังใช้เวลาทั้งหมดไปที่การเรียนการสอน ได้ทำงานเอกสารที่น้อยและต่ำที่สุดในประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ดังนั้นครูจึงมีเวลาที่จะออกแบบกระบวนการการเรียนการสอนได้เต็มที่ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ก็มีอิสรภาพในการออกแบบหลักสูตรของตัวเองอย่างมาก ดังนั้นแม้ว่าหลักสูตรครูในแต่ละมหาวิทยาลัยจะต่างกัน แต่ก็มีแนวคิดที่อยู่ในกรอบเดียวกันที่มุ่งหวังเรื่องความสำเร็จและความสุขในการเรียนของเด็กเป็นหลัก

“ครูของประเทศเรามีความเป็นมือโปรที่คอยพัฒนาความสามารถตลอดชีวิตการทำงาน การพัฒนาอาชีพครูจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม และการปฏิรูปการศึกษานั้นมาจากความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่นและโรงเรียนจึงมีอิสระอย่างมากในการจัดการศึกษารวมทั้งตัดสินใจในเรื่องการจัดการคุณภาพของการเรียนการสอนในท้องถิ่นของตนเองได้” คุณ Marjo Vesalainen เสริม

ด้านคุณ Sanna Vahtivuori-Hanninen Secretary General, Finland กล่าวว่า ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงเริ่มต้นสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพของครู ผู้ซึ่งต้องมาถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะให้กับนักเรียน อาชีพครูในฟินแลนด์จึงเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่การเป็นครูในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ครูจึงไม่สามารถหยุดเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองได้

ปัจจุบันฟินแลนด์ได้ปฏิรูปการศึกษาโดยได้รับความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาของครูและการเป็นครูที่มีคุณภาพ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดความตระหนักว่า นอกจากจะพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพแล้ว ครูจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีพื้นฐานและความสามารถแตกต่างกัน ขณะเดียวกันรัฐบาลฟินแลนด์ก็ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ “The Right to Learn” เพื่อเสริมสร้างคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้ตรงกับความถนัดที่แต่ละคนมี จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นนำไปสนับสนุนโรงเรียนในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19  รวมถึงจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการเฉพาะอีกด้วย

มาที่คุณ Sadat B. Minandang ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2019 จากประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า TulaKaalaman เป็นโครงการที่เขาเริ่มขึ้นเองในปี 2017 เพื่อส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม โดยนำความรู้จากโรงเรียนเข้าสู่ชุมชน เพื่อช่วยให้เด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากโรงเรียน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษา  โดยในช่วงแรกของโครงการ จัดทำแบบเล็กๆ ด้วยความที่เป็นโครงการน้องใหม่ เขาจึงต้องจ่ายเงินเองทุกอย่าง แต่หลังจากที่โครงการเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับจากชุมชนดีมากทำให้สามารถขยายโครงการได้ใหญ่ขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนหน่วยงานราชการและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

“ความท้าทายอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการนี้คือ เรามีเวลาและทรัพยากรที่จำกัด แต่สำหรับผมกลับมองว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เด็กและครอบครัวได้เห็นความงดงามและความสำคัญของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน หนึ่งในความสำเร็จของโครงการนี้คือ เมื่อตอนที่ผมเริ่มโครงการเด็กที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดอยู่นอกระบบโรงเรียน แต่ปัจจุบันเด็กเหล่านี้ได้เข้ามาเรียนเป็นประจำและเป็นนักเรียนในระบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน” คุณ Sadat B. Minandang กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ส่วนคุณ Chua-Lim Yen Ching  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เชี่ยวชาญและอำนวยการบริหารของสถาบันครูแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ยกตัวอย่างโรงเรียน NorthLight School ในประเทศของเธอ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในระบบปกติ การเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างและยากกว่าโรงเรียนทั่วไป 

“ช่วงที่จัดตั้งโรงเรียน เราแจ้งกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ต้องส่งครูมาประจำที่โรงเรียน แต่จะให้ครูเป็นคนเดินเข้ามาสมัครเอง เพราะการเลือกครูเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่ครูที่มีความรักต่ออาชีพและมีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็นครูที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย เรามองว่าหากมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาจะทำให้นักเรียนสนุก มีความสุขและมาสนใจกับการเรียน นั่นคือเป้าหมายของการมีโรงเรียนแห่งนี้

การทำงานของเราจึงตั้งอยู่บนหลักคิดที่ว่า เวลาที่ต้องการจะพัฒนาสิ่งใด จะหันกลับมาดูทรัพยากรที่มีอยู่และจะจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการจริง เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของตนสูงสุด ขณะเดียวกันเป้าหมายของโรงเรียน ไม่ได้มีไว้เพื่อเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้และมีความสุขกับการเข้ามาทำงาน นำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง”  คุณ Chua-Lim Yen Ching ระบุ