“ความเสมอภาคทางการศึกษา มีความหมายเพียงใดในโลกที่เปลี่ยนเเปลงจากวิกฤต COVID-19?”

“ความเสมอภาคทางการศึกษา มีความหมายเพียงใดในโลกที่เปลี่ยนเเปลงจากวิกฤต COVID-19?”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้จัดเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา เมื่อวันที่ 10 – 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยภายในงานได้มีการพูดคุยหลากหลายหัวข้อเรื่องการจัดการศึกษา โดย Session แรกคือการพูดคุยภายใต้หัวข้อ “ความเสมอภาคทางการศึกษามีความหมายเพียงใดในโลกที่เปลี่ยนแปลงจากวิกฤต COVID-19?”

โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้กล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในปี 2020 นี้เป็นปีที่มีความสำคัญ เนื่องจากครบรอบ 30 ปี ของการประชุมระดับโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชนหรือปฏิญญาจอมเทียน เเละเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ 10 ปีสุดท้ายของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือตัวย่อว่า SDG4)

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาปฏิญญาจอมเทียนถือเป็นบรรทัดฐานการทำงานขององค์กรด้านการศึกษาทั่วโลกเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมเเละลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้เกิดความท้าทายต่อระบบการศึกษาทั่วโลกเเละทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนเเรงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก็จะดำเนินตามสัญญาที่ว่าด้วยการทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาให้ได้ภายในปี 2030 

โดย กสศ. ใช้ยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ในการสร้างการศึกษาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับเด็กเเละเยาวชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 – มองก้าวหน้ากว่าปัญหาที่เป็นอยู่ ซึ่งก่อนสถานการณ์ของ COVID-19 จะเเพร่ระบาดเป็นวงกว้างเเละโรงเรียนยังเปิดอยู่  ดร.ประสารได้บอกกับทีมบริหารของกสศ.ว่า ต้องทำวิจัยเร่งด่วนเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และจะต้องสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ่้นกับเด็กเเละครอบครัว ซึ่งผลที่ได้คือ หากมีการปิดโรงเรียน จะทำให้เด็กๆ เผชิญกับความอดอยากหิวโหยโดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวยากจนพิเศษ คณะกรรมการ กสศ. จึงทำงานอย่างเร่งด่วน ในการอนุมัติเงินฉุกเฉินเร่งด่วนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ขาดเเคลนด้านอาหารกว่า 7 เเสนคน ซึ่งเงินจำนวนนี้เพียงพอเเค่ 30 วัน จึงได้จัดการระดมทุนขึ้น เพื่อนำเงินมาสมทบช่วยเหลือเด็กๆ เพิ่มเติม ซึ่งเราได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้มากกว่า 16 ล้านบาท
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 – เรื่องปากท้องก็สำคัญ  ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่ต้องอดอาหาร การศึกษาที่เท่าเทียมจึงมากกว่าการสร้างโอกาสทางการศึกษา เเต่ต้องครอบคลุมถึงการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต อาหาร ครอบครัวเเละชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดของโรค COVID-19
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 – ปรับเปลี่ยนให้เร็วตามสถานการณ์ รูปแบบธุรกิจหรือเครือข่ายต่างๆ ความเท่าเทียมการศึกษาไม่ใช้การศึกษาเฉพาะห้องเรียน เเต่ให้หลักประกันทางสังคมให้กับเด็กๆ ในทุกด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือโรงเรียนต้องพร้อมเเละให้การศึกษากับเด็กได้ทุกที่ ทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นนอกบ้านหรือในพื้นที่สาธารณะ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 – มีความอิสระในการนำเเผนยุทธศาสตร์ไปใช้ได้จริง แบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อยด้วยกัน
    4.1 กสศ. เป็นองค์กรที่ต้องการหาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหาข้อมูลในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด การเเบ่งปันข้อมูลกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะสามารถออกนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเเละนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกระดับ
    4.2  ต้องมีทรัพยากรเพียงพอ เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ทันต่อสถานการณ์เเละสภาพปัญหาที่เเตกต่างกัน ซึ่งไม่ต้องจำเป็นต้องผ่าน กสศ. อย่างเดียว เเต่จะเป็นการบูรณาการทำงานกันร่วมกันทุกภาคส่วน
    4.3 ความเท่าเทียมทางการศึกษาต้องอยู่เหนืออำนาจทางการเมืองเเละระบบราชการ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 บอร์ดของ กสศ. มีความเป็นอิสระระดับหนึ่งในการที่จะเลือกหรือตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของทุกฝ่าย เเต่เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนอย่างการระบาด COVID-19 ในครั้งนี้
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 – การศึกษาเพื่อปวงชน เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว
    ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เอกชน หรือครอบครัว ต้องทำงานร่วมกันเพื่อจะเเก้ไขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ หลังจากเปิดองค์กรมาเเล้ว 2 ปี นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ ค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDG4) 

ด้านศาสตราจารย์ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้านการพัฒนาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาเพื่อปวงชนเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ได้รวมถึง COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ครั้งใหญ่ของโลก

ทั้งนี้เราพบว่าการศึกษาจะเข้ามาช่วยควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ เพราะเมื่อคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันเขาก็จะสามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองจากการได้รับการศึกษาได้ และนอกจากนี้แล้วก็ยังจะมาช่วยกันดูแลสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่คุณยัสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการองค์กร Education Cannot Wait กล่าวว่า องค์กรของเราก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ที่มีสงคราม ความขัดเเย้งเเละในพื้นที่ภัยพิบัติ เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน เยเมน อิรัก ซีเรีย คองโก โรฮิงญา ซึ่งมีเด็กกว่า 75 ล้านคน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เเต่การศึกษาไม่สามารถรอให้สงครามหรือภัยพิบัติสงบลงได้ ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งเเสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเเละความไม่เท่าเทียม

ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจน เช่น เด็กในประเทศสวีเดนสามารถเรียนออนไลน์จากที่บ้านโดยใช้อินเทอร์เน็ตได้ เเต่เด็กจากประเทศเเอฟริกา ไนจีเรีย ซูดาน ไม่สามารถเรียนจากอินเทอร์เน็ตได้เพราะเเม้เเต่ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นกว่าเดิม เด็กผู้หญิงหลายคนเเทนที่จะได้ไปโรงเรียน กลับต้องมาทำงานเเละเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์หรือถูกบังคับให้เเต่งงาน เพราะเมื่อไม่มีการศึกษาก็ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้

ด้านคุณอลิส ออร์ไบร์ท ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก (GPE) กล่าวว่า เราต้องมีระบบการศึกษาที่เข้มเเข็งถึงจะทำให้การศึกษามีคุณภาพได้ ดังนั้นเราจึงสนับสนุนในเรื่องงบประมาณให้กับองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาเเละสร้างเครือข่ายทั้งในระดับโลกเเละระดับประเทศ รวมถึง 70 ประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ซึ่งเราสามารถระดมทุนเพื่อการศึกษาได้กว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐเเละช่วยเหลือเด็กได้กว่า 360 ล้านคนทั่วโลก ก่อนจะเกิดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 มีเด็กเเละเยาวชนกว่า 258 ล้านคนหรือ ร้อยละ 17 ของประชากรเด็กทั่วโลกที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้อยู่ในครอบครัวยากจนจากหลากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจ ความรุนเเรงทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ อาหาร

ซึ่งจากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 2020 ของยูเนสโก พบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศที่มีรายได้ระดับกลางเเละล่าง มีสิทธิที่จะได้ไปโรงเรียนเละมีโอกาสที่จะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้น เป็น 3 เท่าของเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด และเด็กยากจนที่สุดมีโอกาส 2 เท่าที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการที่จะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนหนังสือ

ซึ่งการเเพร่ระบาด COVID-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเด็กยากจนเลวร้ายลง เมื่อทั่วโลกตัดสินใจล็อคดาวน์ ส่งผลให้เด็กกว่า 1.6 พันล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน เเละมากกว่าครึ่งของเด็กเหล่านั้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปิดโรงเรียนเพื่อรักษาชีวิตคนไว้ เเต่เมื่อยิ่งปิดนานเท่าไหร่ ผลที่จะเกิดกับสังคมยิ่งรุนเเรงมากขึ้นเท่านั้น การปิดโรงเรียนทำให้ความไม่เท่าเทียมยิ่งรุนเเรงมากขึ้น ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อย่าง เมื่อ 5 ปีที่เเล้วเกิดการระบาดในเเอฟริกา เเละมีการสั่งปิดโรงเรียน สิ่งที่เห็นคือ เด็กผู้หญิงได้รับความรุนเเรงทางเพศสูงขึ้น มีการตั้งครรภ์ของเด็กมากขึ้น มีการใช้เเรงงานเด็กเพิ่มมากขึ้น ความรุนเเรงในบ้าน เด็กถูกบังคับให้เเต่งงาน

อัตราเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ไม่ต่างการผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงอีโบล่า ทั้งนี้มีองค์กรที่น่าสนใจจากองค์กร Malala Fund ที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็กเเละสตรี โดยผลของโควิดทำให้ เด็กผู้หญิง 10 ล้านคนที่อยู่ในชั้นมัธยมต้องออกจากระบบการศึกษาไปตลอดกาล เเม้ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเเล้วก็ตามก็ตาม นอกจากนี้เรายังได้วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลงถึง 5.2% ซึ่งถือเป็นสถาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากที่สุดตั้งเเต่สงครามโลกครั้งที่ 2

“ประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจจะหดตัวลงมากถึง 2.5% ทำให้เกิดความหายนะ ครั้งใหญ่ งบประมาณของรัฐลดลงส่งผลต่อการลดงบประมาณด้านการศึกษาประเทศ นอกจากนี้รายได้เศรษฐกิจครัวเรือนลดลงอย่างรุนเเรง ทำให้ครอบครัวไม่สามารถนำเงินมาส่งบุตรหลานเรียนหนังสือได้ ผู้ปกครองต้องเลือกส่งลูกบางคนไปเรียนหนังสือ ผู้หญิงเเละผู้พิการ จะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เเละงบประมาณการช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำจะหายไป เเละจะขาดรายได้ในการระดมทุนช่วยเหลือประเทศที่ยากจน  เมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เขาจะสูญเสียการเรียนรู้เเละรายได้ การเลี้ยงชีพตัวเองในอนาคต สูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปตลอดชีวิต” คุณอลิส ออร์ไบร์ทย้ำ

ปัจจุบัน GPE เป็นองค์กรที่ให้ทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษากับประเทศที่กำลังพัฒนามากที่สุดในโลก โดยให้ทุนโดยตรงกับรัฐบาลของ 60 ประเทศที่ยากจนที่สุด เพื่อต่อสู้เเละรับมือกับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 รวมเป็นเงินกว่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ เเละยังให้เงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ สมทบกองทุนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เเละนวัตกรรม โดยกองทุนจะให้ทุนตามข้อเสนอของเเต่ละรัฐ เเบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 

  1. การสร้างความต่อเนื่องทางการศึกษา โดยมุ่งไปที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยง
  2. ส่งเสริมทักษะครู
  3. การเตรียมตัวเปิดโรงเรียนเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของเด็กเเละคุณครู
  4. การสร้างความพร้อมของระบบการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“1 ใน 3 ของทุนที่ GPE ช่วยเหลือในช่วง COVID-19 ยังจะสนับสนุนการสร้างความเท่าเทียมโดยตรง เช่น ในประเทศภูฏานเเละอินโดนีเซีย GPE ได้สร้างความต่อเนื่องทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง เเละสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนในชุมชนยากจน ขณะที่กัมพูชา เราช่วยเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย โดยได้ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการพวกเขา ส่วนที่คีร์กิซสถาน เราสร้างเเฟลตฟอร์มการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อช่วยเด็กพิการ” คุณอลิส ออร์ไบร์ทกล่าว