“ความคิดเปลี่ยนไป เมื่อได้กลับมาเรียนหนังสือ” เส้นทางของเด็กหนุ่มแห่งกาดหลวง

“ความคิดเปลี่ยนไป เมื่อได้กลับมาเรียนหนังสือ” เส้นทางของเด็กหนุ่มแห่งกาดหลวง

รางวัลแด่คนช่างฝัน
คือความมุ่งมั่นที่อยากเรียนให้ได้สูงๆ

“ความฝันของผมคืออยากเรียนให้ถึงระดับปริญญา อยากทำงานเป็นช่างในบริษัทใหญ่ๆ และการได้เรียนก็ทำให้ผมกล้าฝันต่อ

เรื่องราวแรงบันดาลใจแห่งการศึกษาของกลุ่มนักเรียน กศน. ในกาดหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีมาเล่าสู่กันฟัง เพราะทุกวันนี้มีกลุ่มเด็กเร่ร่อนทั้งชายหญิงราว 80-100 คนที่เข้ามาอาศัยนอน ทำงาน และรวมกลุ่มกันอยู่ในย่านนี้

“จิตบุญย์ ปานห้อย” หรือ แจ็ค’ ก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในกาดหลวงแห่งนี้มาแล้วมากกว่าสิบปี เขาเล่าว่า “อยู่ที่นี่ต้องเจอความเสี่ยงทุกชนิด กว่าจะเรียนรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ต้องผ่านประสบการณ์หลายอย่าง มีหลายคนที่อยู่ในตลาดมานานพอๆ กับผม ทุกวันนี้เราต่างพยายามหาทางออกไป แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ยังอยู่ที่นี่เพราะเรามีที่นอน มีข้าวกิน บางคนก็พอมีงานทำ แต่ผมรู้ว่าถ้าจะออกไปเอาตัวรอดให้ได้จริงๆ ข้างนอกนั้น เราต้องเรียนหนังสือ”

พื้นเพแจ็คเป็นคนพิจิตรมีพี่น้องหลายคนจนครอบครัวดูแลไม่ไหว แจ็คจึงต้องมาอยู่ที่สถานสงเคราะห์มาอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กชายจังหวัดเชียงใหม่ แล้วพอเรียนจบ ป.6 ก็ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกกับเพื่อน ผ่านร้อนผ่านหนาวอยู่หลายที่  จนได้มาเจอกับ แม่หมู’ คุณสุฤทัย จันทรวงษ์ เจ้าของร้านข้าวแกงที่กาดหลวง ผู้เปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มวัย 21  ปี ได้มีที่พักพิง ได้ช่วยทำงานที่ร้านในแต่ละวัน  

โดยความหวังของแจ็คในตอนนั้นมีเพียงสิ่งเดียว คือใช้ “การศึกษา” นำพาตัวเองไปให้ไกลกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ เขาก็อยากกลับมาเรียนอีกครั้ง ทั้งที่ลึกๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสไหม เมื่อมองผ่านรอยสักของตัวเอง ก็ชวนให้คิดถึงอดีตที่แม้จะผ่านไปนานแล้ว ก็ยังทิ้งร่องรอยไว้อยู่

“คุณครู” ผู้เปลี่ยนความฝัน
ให้เป็นความจริง

ครูแมว นารีรัตน์ ดาวสนั่น คุณครูผู้ดูแลเด็กเร่ร่อนในกาดหลวง

แต่ความกังวลนั้นก็ค่อยๆ จางหายไป เมื่อแจ็คได้พบกับ ครูแมว’ นารีรัตน์ ดาวสนั่น คุณครูผู้ดูแลเด็กเร่ร่อนที่กาดหลวงแห่งนี้ เข้ามาชวน ยื่นมือให้โอกาสเด็กหนุ่มช่างฝันได้เข้าเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ครูแมวเล่าว่า “วันแรกที่ชวนแจ็คไปเรียน เขาไม่เคยมั่นใจในตัวตนที่เขาเป็น ทำให้กลัวว่าจะไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครให้โอกาส แต่พอเราถามว่าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม อยากเรียนหนังสือไหม เขาบอกว่าอยาก เดิมทีเราพยายามพาเขามาเรียนให้ได้วุฒิ ม.3 เป็นอย่างน้อย วันหนึ่งเขามาบอกเราว่าอยากไปไกลกว่านั้น อยากเรียนต่อให้ได้วุฒิ ม.6 แล้วจากนั้นแจ็คก็เริ่มคิดถึงการเรียนปริญญาตรี ครูก็แปลกใจว่าจากคนที่เคยกลัว วันนี้เขาเริ่มวางแผนการศึกษาของตัวเองไว้ไกลขึ้น

แจ็ค จิตบุญย์ ปานห้อย หนึ่งในเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในกาดหลวง

แจ็คบอกว่าความคิดเขาเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อกลับมาเรียนหนังสือ เพราะเชื่อว่าหากมีวุฒิการศึกษา เขาอาจได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น

“ผมตั้งใจจะจบ ม.3 ให้ได้เทอมนี้ แล้วเอาวุฒิไปทำงาน แต่ตั้งใจแล้วว่าจะเรียนไปด้วย เรียนต่อให้ได้วุฒิ ม.6 จากนั้นค่อยคิดอีกที ใจผมอยากเรียนให้ถึงระดับปริญญา เรียนพวกสายอาชีพที่พอจบมาแล้วเอาไปใช้ทำงานได้เลย ผมอยากทำงานเป็นช่างในบริษัทใหญ่ๆ และการได้เรียนก็ทำให้ผมกล้าฝันต่อ” แจ็คเล่าถึงแผนอนาคตที่วาดไว้

แม่หมู คุณสุฤทัย จันทรวงษ์ เจ้าของร้านข้าวแกงที่กาดหลวง
ผู้เปิดโอกาสให้แจ็คได้มีที่พักพิง

‘แม่หมู’  ช่วยเสริมว่า “ตอนนั้นเขายังตัวเล็กๆ เข้ามาขออาศัยนอนที่ร้าน เราก็ให้เขานอน ให้ข้าวกิน ให้เงินบ้าง แลกกับให้ช่วยขายของ ล้างจาน เฝ้าร้าน หยิบจับนู่นนี่ ก็อยู่ด้วยกันมาหลายปี แต่เรามองว่าถึงวันหนึ่งเขาต้องได้เริ่มชีวิตของตัวเอง มีการมีงานทำ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เขาต้องกลับไปเรียนให้จบ ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของเขา ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดูแลจนได้กลับไปเรียนอีกครั้ง

เด็กทุกคนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าได้รับโอกาสดีๆ

ทางด้านครูแมว เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของแจ็คนับตั้งแต่วันแรกที่เจอ โดยมองว่า “เราทำงานกับเด็กมานานจนเข้าใจ เด็กส่วนใหญ่เขาจะเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่ได้รับ ถ้าได้เจอคนดี สิ่งแวดล้อมดี ได้รับอะไรดีๆ เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  ครั้งหนึ่งเขาเคยมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว เศร้า แต่เมื่อเขาได้เจอจุดเปลี่ยน ได้เจอคนที่ให้ความเมตตาอย่างแม่หมู หรือได้พบเพื่อนๆ ที่มีเป้าหมายอย่างเดียวกันที่ศูนย์ กศน. มันก็ทำให้ความคิดข้างในเขาเปลี่ยน อย่างน้อยเมื่อได้รับการดูแลที่ดีเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงสักอย่าง ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราช่วยเหลือเขาได้เหมาะสมตรงจุดแค่ไหน”

‘แจ็ค’ คือ 1 ใน 26 คน จากกลุ่มเด็กนอกระบบในกาดหลวง ที่เข้ารับการศึกษาในระบบ กศน. ด้วยพลังสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  จนถึงวันนี้ที่เขากำลังจะได้รับวุฒิ ม.3 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขอบคุณแจ็คที่ทำให้รู้ว่าการเป็น “คนช่างฝัน” คือ การลงมือทำ ใช้โอกาสที่ได้มาอย่างสร้างสรรค์และมีความหมาย ไม่ว่าเส้นทางจะอีกไกลแค่ไหน แต่อย่างน้อยการได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ มันก็คือ “รางวัล” ที่รู้สึกได้ด้วยตนเอง

 

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค