เลี้ยงจิ้งโกร่งสร้างรายได้และคุณค่าในตัวเอง

เลี้ยงจิ้งโกร่งสร้างรายได้และคุณค่าในตัวเอง

เลี้ยง “จิ้งโกร่ง” สร้างรายได้ และ คุณค่าในตัวเอง
ประตูเปิดโอกาส “ผู้พิการ-คนชรา”

ว่ากันว่าแววตาของคนมักสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในใจได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับความภาคภูมิใจที่ปรากฎออกมาบนแววตาและใบหน้าของของสมาชิกในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งโกร่งคุณภาพ ต่อยอดอาชีพที่ยั่งยืน ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

จากผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่อยู่ในสถานะ “ผู้พึ่งพา” คนในบ้านแปรเปลี่ยนเป็นหนึ่งใน “คนที่หาเงินเข้าบ้าน” นับเป็นความสำเร็จก้าวแรก ที่ “สิริพล เพ็งโฉม” ผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงจิ้งโกร่งสัมผัสได้

“การเลี้ยง การดูแลจิ้งโกร่ง มันไม่ต้องไปตากแดดเหมือนงานปกติ คนชรา คนพิการเขาสามารถทำได้  ตอนเราเข้าไปดูในพื้นที่เราเห็น ต่อให้ คนชรา คนพิการที่ไม่สามารถทำงานปกติได้แล้ว แต่เขายังสามารถทำอะไรพวกนี้ได้ มันมีคุณค่ากับการใช้ชีวิตของเขาขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์มากกว่ารายได้”

 

อาชีพยอดนิยมสนใจเกินเป้าเกือบสามเท่าตัว

“การเลี้ยงจิ้งโกร่ง” ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนะทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือ ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  ของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​

จากงบประมาณที่ได้รับถูกนำไปใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งโกร่งจำนวน 141 ชุด ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เพียง 50 ชุดในเบื้องต้น เพราะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายในชุมชนเป็นกว่าที่คาด

“ตอนแรกวางไว้ 50 ชุด  เสร็จปุ๊บสุดท้ายขยายไป 141 คน มีคนสนใจเยอะมาก พอเราแจกของชุดแรกไป ก็มีคนถามเรื่อยๆ เป็นโครงการแรกจริงๆ ที่สนับสนุนอุปกรณ์ทำอาชีพได้เต็มที่ขนาดนี้ มันเห็นผลได้ชัดเจน ชาวบ้านไม่ต้องลงทุนเอง เพราะที่ผ่านมาเขาขาดเรื่องการลงทุนในอุปกรณ์ที่จะสร้างอาชีพเสริม หรือพัฒนาเป็นอาชีพหลัก”

 

จิ้งโกร่งสัตว์เศรษฐกิจ ขายได้ทั้งไข่ทั้งตัว

หลังจากที่สมาชิกเข้าอบรมเพื่อฝึกทักษะ และวิธีการเลี้ยงจิ้งโกร่ง รวมถึงดูงานฟาร์มจิ้งโกร่งในจังหวัดใกล้เคียงแล้ว สมาชิกในโครงการจะได้รับ อุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งโกร่ง ซึ่งประกอบไปด้วย พันธุ์ไข่จิ้งโกร่ง อาหารเลี้ยงจิ้งโกร่ง  บ่อสำเร็จอย่างดี ขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 1.20 เมตร โครงสร้างทำจากเหล็กและสมาร์ทบอร์ด  ต่างจากบ่อทั่วไปที่ใช้โครงสร้างเป็นไม้ โดยบ่อนี้ข้างบนจะมีฝาปิด และมีมุ้งครอบ แผงไข่ และ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ   

การเลี้ยงจิ้งโกร่งนั้น จะใช้ระยะเวลาการเลี้ยงอยู่ที่ 45-90 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเป็นฤดูหนาว เจ้าแมลงชนิดนี้จะกินน้อย ทำให้โตช้า แต่ถ้าหน้าร้อนจะกินอาหารมากทำให้สามารถนำไปขายได้เร็ว

ในการเลี้ยงแต่ละครั้งจะทำเงินได้สองรอบ คือ ขายไข่ โดยในหนึ่งตู้จะให้ไข่ประมาณ  4-6 ขัน  ถ้าคิดในราคาที่ต่ำที่สุดรับซื้อกันที่  ขันละ 100 บาท จะได้เงิน 600 บาท หลังจากนั้นเมื่อได้เวลาขายตัวจิ้งโกร่ง จะสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท

ในหนึ่งบ่อถ้าได้จำนวนน้อยที่สุดจะอยู่ที่ 6-7 กิโลกรัม แต่ถ้าได้มากที่สุดจะได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อบ่อเลยทีเดียว เมื่อหักต้นทุนค่าอาหารปีละ 400 บาทต่อบ่อแล้ว ที่เหลือจะเป็นกำไรที่คนเลี้ยงจะได้รับ

 

ปลูกผักปลอดสารพิษเลี้ยงจิ้งโกร่ง

เมื่อโครงการไปต่อได้ ผลลัพธ์จะย้อนกลับมาที่ “ฐานคิด” ในการส่งเสริมให้ใช้ต้นทุนในชุมชน นั่นก็คือ การปลูกผักปลอดสารพิษ  และผักอินทรีย์ ซึ่งก่อนการเก็บจิ้งโกร่งไปขาย จะต้องให้เจ้าแมลงเหล่านั้นกินพื้นผัก เช่น ใบฝักทอง ใบหม่อน ใบผักบุ้ง ใบมันสำปะหลังก่อน ที่สำคัญพืชผักเหล่านี้จะต้องปลอดจากยาฆ่าแมลงเท่านั้น

“แมลงพวกนี้กินผักจะดีกว่ากินอาหารสำเร็จรูป  ซึ่งผักที่พวกนี้กินจะต้องเป็นผักที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ ยิ่งเป็นอินทรีย์ก็ยิ่งดี ซึ่งของพวกนี้ถ้าคุณไม่ได้ปลูกเอง คุณจะมีความเสี่ยงว่า ผักโดนละอองยาฆ่าหญ้ามาหรือเปล่า หรือ โดนละอองยาฆ่าแมลงหรือเปล่า เพราะถ้าเอามาให้แมลงกินมันจะตายทั้งบ่อเลยนะ พอมีองค์ความรู้ตรงนี้ เขาก็กระตือรือร้นขึ้น มีบางคนโทรมาเล่าให้ฟังแล้วว่า เขาก็ปลูกผักปลอดสารพิษรอแล้ว ผักคนในบ้านกินได้ เป็นผักที่เลี้ยงแมลงได้”

 

เตรียมต่อยอดแตกไลน์ “จิ้งโกร่งอบแห้ง”

แม้ว่าในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการลองผิดลองถูกของสมาชิก ยังไม่ถึงรอบของการเก็บไข่ และตัวจิ้งโกร่งไปขาย  แต่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ เตรียมที่วางแผนต่อยอดเอาไว้แล้ว

โดยนอกจากจะขายผลผลิตผ่านช่องทาง ตลาดสด ตลาดออนไลน์ แล้ว ยังร่วมกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์  ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ “จิ้งโกร่งอบแห้ง” เป็นอาหารกินเล่นวางขายตามร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้จะร่วมกับพัฒนาชุมชนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีโอกาสนำสินค้าของชุมชนไปโรดโชว์เปิดตลาดให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

 

ผลตอบแทนที่ได้ทั้งทาง “เศรษฐกิจ” และ “จิตใจ”

“สิริพล” มั่นใจว่า โครงการนี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนของเขาได้ นอกจากจะเห็นในรูปของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและ ฐานจิตใจของคนในพื้นที่ก็ชัดเจนขึ้น

“เราเพาะเมล็ดพันธุ์ของความจริงใจ อยากเห็นทุกคนเติบโต อยากให้ชุมชนของเรามีความโอบอ้อมอารีให้กัน  โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ริเราเห็นน้ำใจของสมาชิก ที่เลี้ยงจิ้งโกร่งรอดแล้ว แบ่งปันไข่ให้กับคนที่เลี้ยงแล้วไม่รอด ทั้งที่ไข่นั้นเขาจะนำไปขายก็ได้ มันเริ่มเห็นถึงความแบ่งปันที่ชัดเจนขึ้น จากที่เมื่อก่อนทุกคนจะลืมบริหารความสัมพันธ์กันในชุมชน สิ่งนี้สะท้อนได้ชัดว่า เมื่อเรื่องของเศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกันแล้วมันก็จะไปได้อย่างยั่งยืน”