พลังนักเรียน เปลี่ยนวิธีชุมชนสู่วิถีธรรมชาติ

การเริ่มต้นทำ “ปุ๋ยหมักอัดเม็ด” ของ โรงเรียเชียงสาศิลปสถาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องการลดการพึ่งพิงปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่สามารถผลิตได้ด้วยวัตถุดิบในชุมชน

ทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร และ ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อม รักษาคุณภาพดิน คุณภาพน้ำในพื้นที่ ให้เสียหายจากสารเคมีในระยะยาว ​

สอดรับกับโครงการ “ธนาคารต้นไม้” ของโรงเรียนที่เดินหน้าเพาะพันธุ์กล้าไม้สร้างรายได้ให้นักเรียนคู่ขนานไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างร่มเงาและความชุ่มชื้นให้ชุมชน

 

ส่วนผสมหาได้ง่ายในชุมชน

พิชัย ภูสีเขียว ครูโรงเรียนเชียงสาศิลปสถาน เล่าให้ฟังว่า กระบวนการทำปุ๋ยหมัก ไม่ได้ยุ่งยากวุ่นวายแต่อย่างไร นักเรียนสามารถทำได้ง่าย เริ่มจากการนำส่วนผสมทั้งหมดมาป่นรวมกัน ทั้งขี้วัวขี้ควาย ปุ๋ยหมัก แกลบเผา น้ำหมักพืช 

โดยส่วนผสมทั้งหมดหาได้จากภายในชุมชน ส่วนน้ำหมักพืชทางนักเรียนก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง จากการหมักเศษผัก เศษหญ้าที่ทำได้ไม่ยาก  จะยากก็ตรงการผสมน้ำกับส่วนผสมให้พอดี ก่อนนำเข้าเครื่องอัดเม็ด หากใส่น้ำเยอะไปก็จะเหลว หรือแห้งไปก็จะป่นไม่เป็นเม็ด

 

เริ่มต้น​จากใส่ปุ๋ยต้นไม้ในโรงเรียน

ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนยังไม่มีเครื่องอัดเม็ด ก็จะใช้วิถีป่นส่วนผสมรวมกันและเอาไปใส่ต้นไม้เลย โดยเริ่มจากให้ภารโรงนำไปใส่ต้นไม้ต้นต่างๆ ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งช่วยให้ต้นดูอุดมสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น อีกส่วนนำไปใส่แปลงผักสวนครัวซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการฝึกทักษะอาชีพของโรงเรียน ​ซึ่งทำให้ผักโตไว แข็งแรง ผลผลิตดี

จนกระทั่งต่อมาเมื่อมีเครื่องอัดเม็ดก็ทำให้สะดวกขึ้น ใช้งานได้ง่าย ​สามารถบรรจุถุงเตรียมออกวางจำหน่าย สร้างรายได้ให้นักเรียนอีกทางหนึ่ง

โดยการผลิตปุ๋ยหมักอัดเม็ดของโรงเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “ทุนเสมอภาค”​ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ​​ด้วยเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

ลูกชาวนาแต่บางคนเพิ่งเคยทำการเกษตร

แม้นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นบุตรหลานเกษตรกร เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวหาเลี้ยงชีพ แต่ก็มีเด็กหลายคนที่ไม่เคยได้สัมผัสกับวิถีชีวิตธรรมชาติ หรือเคยปลูกข้าว ทำปุ๋ย ช่วยพ่อแม่ทำนา

“เด็กๆ บอกว่าได้ความรู้ดีมาก บางคนเกิดมาไม่เคยทำเลย เพราะพ่อแม่ไม่ให้ทำ ทั้งที่เป็นเด็กบ้านนอก แต่พอได้มาลองทำเขาก็รู้สึกดี บางคนตื่นเต้น สนุกที่ได้ลองทำอะไรแบบนี้”​ ครูพิชัย กล่าว

 

ผลผลิตดีกว่าเดิม สภาพดินดีกว่าเดิม

ครูพิชัย อธิบายว่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนปลูกข้าวใช้ปุ๋ยเคมีกันทั้งหมด ราคาก็แพงกระสอบละเป็นพัน ใช้ไปก็บ่นไป แต่ก็ไม่เปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยหมักทั้งที่ได้ผลผลิตดีกว่า สภาพดินก็ดีกว่าเดิมเยอะ 

ซึ่งตอนนี้ปุ๋ยที่โรงเรียนทำก็เริ่มทำ แบบเล็กๆ เพราะวัตถุดิบส่วนผสมยังมีน้อย แต่ถ้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นก็จะขยายการผลิตมากขึ้น อาจต้องสั่งซื้อพวกขี้วัวขี้ควายมาจากที่อื่นเพราะในชุมชนเองก็เลี้ยงวัว ควาย กันน้อยลง 

ทั้งหมดที่โรงเรียนทำก็เพื่อให้ชุมชนดีขึ้น ชาวบ้านสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น สุดท้ายสังคมก็จะปลอดภัย คนในสังคมมีความสุขกันมากขึ้น ​

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค