7 เมล็ดพันธุ์ 7 ห่อ 7 ชนิด พิชิตปัญหาเด็กออกจากบ้านช่วง COVID-19

7 เมล็ดพันธุ์ 7 ห่อ 7 ชนิด พิชิตปัญหาเด็กออกจากบ้านช่วง COVID-19

 

ริเริ่มเกษตรครัวเรือน มีกิน มีขาย ใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับช่วงเวลาที่การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องหยุดชะงัก แต่บทเรียนการเกษตรของน้องๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 22 คน จากสาขาเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาลัยชุมชนยะลา ก็ไม่ได้หยุดตามไปด้วย เมื่ออาจารย์วรัญญู แก้วทอง ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ได้ผุดไอเดีย ‘7 เมล็ดพันธุ์ 7 ห่อ 7 ชนิดผักสวนครัว’ ให้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำเกษตรในครัวเรือน สำหรับเด็กแต่ละคน

ด้วยแนวคิดให้เด็กได้ค้นหาแนวทางการเพาะปลูกด้วยตัวเอง ผ่านการสร้างสรรค์ดัดแปลงจากสิ่งที่มี บนพื้นที่ที่หาได้ ซึ่งนอกจากจะแฝงกุศโลบายให้ลูกศิษย์รู้จักมีน้ำอดน้ำทนกับการคิดหาวิธีดูแลผักให้เติบโตงอกงามแล้ว ไอเดียผักสวนครัวนี้ ยังทำให้เด็กๆ มีกิจกรรมทำในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ช่วยลดปัญหาการออกจากบ้านไปพบปะกันได้อีกด้วย

 

ความสำเร็จไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่คือ ‘ลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง’

อาจารย์วรัญญู แก้วทอง เล่าว่า 7 เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวเป็นแผนที่ทางวิทยาลัยได้น้อมนำเอา ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาผสานลงในหลักสูตร และเตรียมไว้สำหรับเด็กๆ ในปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมในภาคฤดูร้อนต้องระงับทั้งหมด เด็กๆ ไม่สามารถออกจากบ้านมาดูแลแปลงเกษตรที่วิทยาลัยตามแผนงานที่วางไว้ได้ จึงได้ขยับเอาแผน 7 เมล็ดพันธุ์ฯ มาใช้ในช่วงเวลานี้แทน

“เป้าหมายหลักของโครงงานคือการได้ลงมือทำ ได้มุ่งมั่นกับการเพาะปลูกด้วยตัวเองบนพื้นที่และอุปกรณ์จำกัดของแต่ละคน ตามแนวทางของการเป็นนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่จะต้องมีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ พร้อมอดทนต่อการทดลองหรือความล้มเหลวเพื่อหาวิธีที่เหมาะสม เฉพาะตัว และต้องเป็นการพัฒนาสร้างสรรค์ให้ประโยชน์ ซึ่งพอมาเกิดปัญหาจาก COVID-19 เด็กๆ เขาต้องอยู่บ้านไปไหนไม่ได้ เราจึงมอบเมล็ดพันธุ์ให้เขาไป และเริ่มต้นโครงงานตั้งแต่ช่วงปิดเทอมนี้เลย”

 

จากน้อยไปหามาก …ค้นให้พบสภาพแวดล้อมเหมาะสม แล้วเมล็ดพันธุ์ก็พร้อมจะงอกงาม

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น ‘7’ เรื่องนี้ อาจารย์วรัญญู แก้วทอง บอกว่า จำนวนนี้นับว่าไม่มากและไม่น้อยเกินไปสำหรับการเริ่มต้น เนื่องจากตั้งใจให้การเรียนรู้ไล่ระดับจากน้อยไปหามาก

โดยเมล็ดพันธุ์ชุดแรกที่ได้รับไป 7 เมล็ด 7 ห่อ และ 7 ชนิดนี้ เชื่อว่าทุกคนคงไม่สามารถปลูกได้จนงอกงามทั้ง 7 ชนิด แต่ในบทเรียนที่อยากให้เด็กๆ ได้รู้คือ สภาพแวดล้อมที่เขาปลูกเป็นอย่างไร เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการดิน น้ำ สภาพอากาศ หรือแสงแดดที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะต้องมีบางชนิดที่เติบโตได้ดีเมื่อเจอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือบางชนิดอาจล้มตายไปบ้าง เขาจึงต้องเสาะหาวิธีการปลูกและดูแลให้พบ ผ่านการสังเกตและทดลองไปเรื่อยๆ

ก่อนเมล็ดพันธุ์จะส่งถึงมือ เด็กๆ ต้องวางโครงการมาว่าอยากปลูกอะไร แล้วจะเอาไปทำอะไรต่อ จากนั้นต้องศึกษาว่าพื้นที่ที่ตนมีเหมาะกับการปลูกพืชผักชนิดไหน และเรียนรู้ที่จะนำสิ่งที่มีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รู้จักการดัดแปลงอุปกรณ์รอบตัวให้เอื้อต่อการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งหากใครมีพื้นที่จำกัด ก็ต้องสร้างแปลงขึ้นจากไอเดียที่มี โดยอาจารย์วรัญญูบอกว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เอง ที่จะกระตุ้นให้เด็กได้คิด รู้จักทดลอง ผ่านความล้มเหลว และจะเกิดเป็นองค์ความรู้เฉพาะตัวที่เด็กๆ ต้องบันทึกทุกวิธีขั้นตอนเอาไว้ เพื่อทำรายงานความคืบหน้าทั้งหมดให้ครูรับทราบเป็นระยะ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

อาจารย์วรัญญู แก้วทอง กล่าวถึงจุดประสงค์อีกด้านของกิจกรรม ว่าต้องการให้เด็กได้ใช้การปลูกผักเป็นสื่อใกล้ชิดกับคนในครอบครัว รวมถึงหากได้พืชผลมาแล้วยังสามารถเก็บกินได้ในบ้าน หรืออนาคตหากมีเหลือพอก็ยังนำไปขายได้ด้วย และที่สำคัญคือ ตั้งแต่เด็กๆ เริ่มกิจกรรมปลูกผักกันแล้ว ผลพลอยได้ที่เห็นชัดคือ อัตราการออกจากบ้านของเด็กก็ลดลง หลายคนไม่ยอมไปไหน ใช้เวลาจดจ่อกับแปลงผักทั้งวัน

จากวิชาพื้นฐานที่เพิ่งเรียนในชั้นปี 1 ได้กลายเป็นบทเรียนที่นำมาใช้ได้ในชีวิตจริง ด้วยแนวทางการทดลองผ่านประสบการณ์เฉพาะตัว และในช่วงเวลาของการเก็บตัวอยู่บ้านท่ามกลางวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ เด็กๆ กำลังได้เรียนรู้อีกหนึ่งวิถีทางของศาสตร์การเกษตรโดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัว ตามคำบอกของอาจารย์วรัญญูว่า ปลายทางของบทเรียนนี้ได้สอดแทรกหัวใจของวิถีการทำเกษตรเอาไว้ นั่นคือ ‘ความมุ่งมั่น อดทน และต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้’    

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค