สองทศวรรษการปฏิรูปการศึกษาไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น เมื่อจำแนกอัตราการเข้าเรียนสุทธิของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระดับรายได้ของประชากร

สองทศวรรษการปฏิรูปการศึกษาไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น เมื่อจำแนกอัตราการเข้าเรียนสุทธิของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระดับรายได้ของประชากร

ความเหลื่อมล้ำที่เป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของการศึกษาไทย จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในหัวข้อ “สองทศวรรษการปฏิรูปการศึกษาไทย ความล้มเหลวและความสำเร็จ”  ซึ่งจัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.)​ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการสะท้อนปัญหาเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ​ 

เนื้อหาในรายงาน​ดังกล่าวระบุว่า แม้คุณภาพการศึกษาไทยไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด บุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถและสถาบันที่เพียบพร้อมที่จะให้การฝึกอบรมและให้ความรู้แก่เยาวชนมีอยู่จำนวนไม่น้อย เพียงแต่ ทรัพยากรที่ดี ๆ กระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่และมีเพียงคนบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นใหญ่ที่การปฏิรูปการศึกษาทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ไข  แม้จะดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

หากพิจารณา “อัตราการเข้าเรียนสุทธิ” ของประเทศไทย ในระดับชั้นประถมที่อยู่ที่ร้อยละ 87 นับตั้งแต่  พ.ศ. 2558 และขยับขึ้นเป็นร้อยละ 88 ในปี 2560  ส่วนระดับมัธยมต้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 67-68 มาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2560 เช่นเดียวกับระดับมัธยมปลายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 55-57 ตลอดช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ถือว่ายังคืบหน้าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปลายทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ร้อยละ 90 สะท้อนให้เห็นว่ามีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นออกไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อจำแนกอัตราการเข้าเรียนสุทธิของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระดับรายได้ของประชากร โดยแบ่งเป็น 10 กลุ่ม เท่าๆ กัน เรียงตามลำดับรายได้ตั้งแต่กลุ่ม 10% แรกที่มีรายได้น้อยที่สุด ไปจนถึงกลุ่ม 10% ที่มีรายได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาในแต่ละระดับ เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

อีกทั้งในระดับอนุบาลช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ยังไม่มากนัก โดยผู้มีรายได้ 10% ที่จนสุดมีอัตราการเข้าเรียนสุทธิ 86-87 % ส่วนผู้ที่มีรายได้ 10% ที่รวยที่สุดที่อัตราการเข้าเรียน 91-92%

แต่ช่องว่างดังกล่าวจะสูงขึ้นในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังจะเห็นว่าในระดับมัธยมต้น ผู้มีรายได้ 10% ที่จนสุด มีอัตราการเข้าเรียนสุทธิประมาณ 64-64% ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้ 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีอัตราเข้าเรียน 81%  ส่วนระดับมัธยมปลายรวม ปวช. ผู้มีรายได้ 10% ที่จนสุด มีอัตราเข้าเรียนสุทธิ 42-50 % ในขณะที่ผู้มีรายได้ 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีอัตราการเข้าเรียนสุทธิ 72-78%

และยิ่งมีความต่างกันมากขึ้นเมื่อถึงระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) ซึ่งเป็นระดับการศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถและฐานะความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเพียง  3-4 %ของ ผู้มีรายได้ 10% ที่จนที่สุด​ที่สามารถผลักดันตัวเองให้เข้าถึงระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ได้ ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีโอกาส 58-63%

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาไปยังประชากรระดับรายได้  50% ล่างสุด ของสังคมไทย มีคนที่เข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ปวส. ได้เพียง 48-51% เท่านั้น

อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เชื่อมโยงระหว่างความความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมไทย โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Glabal Database on Intergenerational Mobility ของธนาคารโลก สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่จะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นและยิ่งทำให้ช่องว่างทางสังคมยิ่งกว้างสะสมขึ้น  โดยในรายงานพยากรณ์ไว้ว่า  2 ใน 3 ของคนที่มีระดับฐานะครึ่งล่างของสังคมไทย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะยังคงอยู่ครึ่งล่างเช่นเดิม 

แต่สำหรับกลุ่มเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 25 % แรก จะมีโอกาสหลุดร่วงลงไปสู่ระดับฐานะครึ่งล่างของสังคมเพียง  20 % เท่านั้น  แต่ อีก 48% จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่มีรายได้ในระดับ 25% แรกเหมือนเดิม

กลุ่มนี้ธนาคารโลกเรียกว่า Intergenerational Privilege หรือ กลุ่มที่สืบทอดอภิสิทธิข้ามรุ่น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มผู้มีรายได้จะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีกว่า เข้าถึงหลักสูตรการฝึกอบรม รวมทั้งโอกาสต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวันที่ทำให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ดีกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า

นณริฏ พศลยบุตร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  วิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย พบว่าความแตกต่างด้านสถานศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายความเหลื่อมล้ำมากที่สุด  และความแตกต่างของความพร้อม รวมถึงค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

ครอบครัวที่มีฐานะยิ่งมีความพร้อมที่จะทุ่มทุนติดอาวุธทางปัญญาเพื่อให้ลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีความพร้อมอยู่ในแวดวงเครือข่ายเพื่อนร่วมชั้นที่มีระดับฐานะใกล้เคียงกัน และครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการได้งานที่มีรายได้สูง และมีโอกาสพบรักและสร้างครอบครัวกับคนที่อยู่ในฐานะระดับเดียวกัน  กลายเป็น Intergenerational Privilege ดังที่ธนาคารโลกวิเคราะห์ไว้

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนทั้งสิ้น 30,525 แห่ง ครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่ถึง 120 คน)​ ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และเป็นที่เล่าเรียนของเด็กไทยชั้นอนุบาลถึง ม.6  กว่า 3.2 ล้านคน ซึ่งเมื่อเป็นโรงเรียนขนาดเล็กทำให้ได้รับการการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ ผู้ปกครองต้องรับสภาพให้ได้ว่านี่คือระดับคุณภาพที่รัฐสามารถจะให้ได้ และแม้ว่ารัฐจะช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนแต่อุปกรณ์การเรียนอื่นๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนนับวันจะแพงขึ้น และอาจจะต้องใช้เงินไม่น้อยไปกว่าหรืออาจมากกว่าค่าเล่าเรียนด้วยซ้ำ  การฝ่าฟันให้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายพ่อแม่ในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ระดับฐานพีระมิดของสังคมไทย

โดยไม่คิดฝันที่จะให้ลูกได้เรียนไปไกลกว่านั้น และจบลงด้วยการเรียนอะไรที่จบเร็ว แล้วรีบช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน นักเรียนกลุ่มนี้ซึ่งยากจนและอยู่ห่างไกลความเจริญอยู่แล้วก็ยิ่งได้รับการเตรียมความพร้อมทางสติปัญญาน้อยลงไปและเป็นผู้ด้อยโอกาสข้ามรุ่น (Intergenerational Underprivileged) และยิ่งนานวันจะยิ่งลืมตาอ้าปากได้ช้าลงเมื่อเทียบกับคนที่มีฐานะดีกว่า