ความคิดเชิงบวก เมล็ดพันธุ์แห่งความเจริญ ปรับโครงสร้างการศึกษาไทย

ความคิดเชิงบวก เมล็ดพันธุ์แห่งความเจริญ ปรับโครงสร้างการศึกษาไทย

ฟินแลนด์ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
ด้วยการเรียนการสอนที่สามารถลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในตัวเด็กแต่ละคน ทั้งยังได้รับการกล่าวถึงในเรื่องการลดเวลาอยู่ในโรงเรียนของเด็กให้น้อยลง ลดการบ้านและการสอบให้เหลือน้อยที่สุด
แต่กลายเป็นว่าระบบการศึกษาลักษณะดังกล่าว กลับทำให้เด็กๆ ในประเทศฟินแลนด์มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีที่สุดในโลก

ไคซา เวอริเนน(Kaisa Vourinen) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก(positive psychology)
และการศึกษาเชิงบวก(positive learning) และเป็นผู้ฝึกอบรมครูที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เผยว่า เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษ ที่ประเทศฟินแลนด์ได้สร้างพื้นฐานระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
และคิดค้นพัฒนาหาแนวทางใหม่ๆ ต่อเนื่องมาตลอด เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับลักษณะผู้เรียนและความเปลี่ยนแปลงของโลก จนส่งผลให้ระบบการศึกษาในประเทศได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รวมถึงถูกนำไปเป็นต้นแบบปรับใช้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวกันว่า ‘ต้องการเรียนรู้จากระบบการศึกษาที่ดีที่สุด เรียนรู้จากประเทศฟินแลนด์’

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของ ‘การใช้ธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็นของเด็กให้เป็นประโยชน์’ และกำหนดเป็นหัวใจหลักของการวางแผนการศึกษาและจัดทำหลักสูตร เพราะเด็ก ๆ จะมีความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกรอบตัว และทดลองทำในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มา ด้วยหลักการนี้ ครูที่มีแรงจูงใจสูงจึงเป็นเสาหลักของระบบการศึกษา โดยครูไม่ใช่เพียงผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ตนสอนเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนอีกด้วย ดังนั้น การฝึกอบรมครูในประเทศฟินแลนด์ จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาหลักการสอน(pedagogy) ซึ่งหมายถึงศาสตร์การออกแบบการสอนให้สอดรับกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างกัน และทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุกสนานสำหรับเด็ก

ไคซา เล่าว่า หลายปีที่เธอทำงานเป็นครูพิเศษสอนนักเรียนที่มีปัญหาต่างๆ กัน ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการสอนแนวใหม่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการช่วยนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น เธอจึงร่วมมือกับ ลอตตา อูสซิทาโล(Lotta Uusitalo) นักวิจัยเรื่องการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ทำการศึกษาวิจัยในสาขาความรู้ที่เรียกว่า ‘การศึกษาเชิงบวก’ และตีพิมพ์หนังสือคู่มือชื่อ See the Good พร้อมกับ
‘การ์ดลักษณะที่เป็นจุดแข็ง’(character strengths cards) เพื่อให้ครูใช้ในการปลูกฝังทักษะทางสังคมและอารมณ์แก่เด็กๆ

“หัวใจหลักของการศึกษาเชิงบวกนี้ก็คือ การค้นหาคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งของนักเรียนแต่ละคน และใช้เครื่องมือในการสอนและประเมินทักษะทางอารมณ์และสังคม(soft skills) ของเด็ก รวมถึงทำการฝึกอบรมครูด้านการสร้างกิจกรรมให้เด็กๆ สนุกสนาน สามารถประเมินเด็กเป็นรายคนได้ และเน้นการลงมือปฏิบัติ หลังจากแบบเรียนเรื่องการศึกษาเชิงบวกถูกนำมาใช้ ก็ปรากฏผลการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้วิธีการเชิงบวกกับสุขภาวะของนักเรียน และพบว่า เด็กๆ มีความผูกพันกับโรงเรียนและมีความสุขมากขึ้น เด็กที่มีความสุขจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ดังนั้นสิ่งดี ๆที่ครูควรทำเป็นอย่างแรก คือช่วยให้นักเรียนค้นพบจุดแข็งของตน และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์” ไคซากล่าวโดยสอดแทรกเข้ากับเนื้อหาทางวิชาการที่มีอยู่

Future of Jobs Report, World Economic Forum ระบุว่า ทักษะสำคัญ 10 อย่างที่เด็ก ๆ ในช่วงทศวรรษ 2020 ต้องมี ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
2.การคิดวิเคราะห์
3.ความคิดสร้างสรรค์
4.การจัดการบุคคล
5.การทำงานร่วมกับผู้อื่น
6.ความฉลาดทางอารมณ์
7.การประเมินและการตัดสินใจ
8.การกำหนดทิศทางการบริการ
9.การเจรจาต่อรอง
10.ความยืดหยุ่นด้านกระบวนการคิด

จะเห็นว่าทักษะที่สำคัญส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงสังคมหรือการทำงานเป็นทีม
ซึ่งตอบสนองด้านความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกัน
สังคมในปัจจุบันกลับทำให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวน้อยลง นั่นทำให้ภารกิจของครูในทุกวันนี้ จึงไม่ได้หมายถึงการถ่ายทอดความรู้เป็นหลักอีกต่อไป แต่ครูต้องเป็นผู้พัฒนาความสามารถของเด็กได้เป็นรายบุคคล ตลอดจนหล่อหลอมให้เด็กมีทักษะสำคัญที่พร้อมสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

“เราเชื่อว่าความคิดเชิงบวก คือเมล็ดพันธุ์แห่งความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ จึงนำ วิธีการเชิงบวก หรือ
Positive Method มาช่วยครูในการสอนและประเมินทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นความสามารถที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์แต่ละคนสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเอง และทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้” ไคซา อธิบาย

ไคซา กล่าวสรุปว่าทักษะทางสังคมและอารมณ์มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสำเร็จของทุกคน ทั้งยังสำคัญต่ออนาคตทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ทักษะดังกล่าวยังสามารถใช้ทำนายความสำเร็จในช่วงตอนสำคัญๆ ของชีวิตที่แม่นยำที่สุดด้วย

“ทักษะเหล่านี้คือรากฐานของการพัฒนาความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์จำเป็นต่อการเรียนรู้ทางด้านวิชาการในขั้นตอนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหลักสูตร และการเรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมณ์นี้ ยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในการเรียนรู้ทั่วโลกในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ OECD และแผนการปฏิรูปหลักสูตรอื่นๆ ทั่วโลกกำหนดให้มี ซึ่งทางประเทศฟินแลนด์ จะร่วมมือกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) นำหลักสูตรมาปรับใช้กับโรงเรียนในประเทศไทย โดยจัดทำคู่มือเป็นภาษาไทยและเริ่มดำเนินการเรียนการสอนผ่านโรงเรียนนำร่องที่สนใจเข้าร่วมอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563” ไคซา กล่าวถึงแผนในอนาคต