ชุมชนคือ ‘ครอบครัวใหญ่’ ที่ต้องกลับมาดูแล

ชุมชนคือ ‘ครอบครัวใหญ่’ ที่ต้องกลับมาดูแล

“เราเชื่อว่าถ้าครูเข้าถึงจิตใจของเด็ก ๆ ให้ความสนิทสนมใกล้ชิด รู้นิสัยใจคอรู้ความสนใจของเขา ก็จะช่วยเบนความสนใจและสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำได้ มันจะเป็นการดึงเด็กออกจากปัญหาต่างๆ” 

ด้วยฐานะลูกคนโตของครอบครัวที่ต้องคอยดูแลน้องเล็กๆ สองคนมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ ‘น้องมน’ กมล แซ่ม้า จากโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ได้เรียนรู้และซึมซับบทบาทหน้าที่ในการเป็น ‘ครู’ มาโดยตลอด 

จนถึงวันหนึ่งที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต คือการเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เธอก็ได้นำเอาความผูกพันคุ้นชินในบทบาทหน้าที่ดังกล่าว มาใช้เป็นแรงผลักดันเป้าหมายหลักในใจที่ว่า หลังเรียนจบ เธอจะต้องกลับมาทำงานในชุมชนบ้านเกิด เพื่อเป็น ‘เสาหลักดูแลครอบครัว’ แทนพ่อแม่ต่อไป 

และนั่นทำให้น้องมน เลือกเป็นนักศึกษา ‘ครู’ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘ครูรักษ์ถิ่น’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ที่เติมฝันให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีใจมุ่งมั่นอยากเป็นครู ได้ก้าวขึ้นมาเป็นครูรุ่นใหม่ และกลับไปพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในชุมชนของตนเอง

 

เลือก ‘วิชาชีพที่มีงานรองรับเมื่อกลับบ้าน’

น้องมนเล่าว่า ตั้งแต่เรียนชั้น ม.ปลาย เธอก็ตั้งใจไว้ว่าจะต้องดูแลพ่อกับแม่ให้ได้ และด้วยตำแหน่งลูกคนโตของบ้าน เธอคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งเป้าหมายชีวิตว่าจะไปทางไหนต่อ ปีนี้น้องมนอายุ 18 กำลังจะจบ ม.ปลาย ข้อแม้สำคัญคือ เธอจะเลือกเรียนในวิชาชีพที่มีงานรองรับเมื่อกลับบ้านมาหลังเรียนจบ ซึ่ง ‘ครู’ เป็นอาชีพแรกที่เธอนึกถึง

“การเลือกเรียนต่อมีความหมายมากกว่าแค่เปลี่ยนระดับชั้นเรียน แต่มันหมายถึงการเลือกอาชีพในอนาคต เราตัดสินใจแล้วว่าจะต้องดูแลครอบครัวให้ได้ เพราะพ่อแม่ก็แก่แล้ว ส่วนน้องก็ยังเล็กต้องเรียนอีกหลายปี ตอนที่เห็นว่ามีโครงการครูรักษ์ถิ่น ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ทำมาตลอด คือการสอนหนังสือและช่วยน้องทำการบ้าน มันเป็นโอกาสให้เราได้ซึมซับการสอนและการดูแลเข้าไปทุกวัน ๆ เหมือนเป็นสิ่งที่มาปลูกจิตสำนึกให้รักงานสอนโดยไม่รู้ตัว”

 

ครูคือคนสำคัญในการแก้ปัญหาชุมชน

ว่าที่นักศึกษาครูปี 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร อธิบายต่อไปว่า การเป็นครูไม่เพียงแต่จะช่วยต่อเติมเป้าหมายในการดูแลครอบครัวเล็กๆ ของเธอเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชีพที่มีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการพัฒนาชุมชน ซึ่งนั่นเป็นอีกความมาดหมายหนึ่งที่เธอเผยต่อครูผู้สัมภาษณ์ เมื่อครั้งสอบคัดเลือกเข้าโครงการ  

น้องมนคิดว่าการเป็นครูจะมีส่วนสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นได้ เธอเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านชาวม้งที่มีวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดกันมายาวนาน ในช่วงเวลาที่โตขึ้นมา น้องมนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มาพร้อมกับการพัฒนา ในด้านหนึ่งคือทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสในการเรียนหนังสือหรือทำงานมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีปัญหาที่ติดตามมาด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นชั้น ม.ต้น-ม.ปลาย ที่เริ่มใช้เวลาไปกับการขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือมีเด็กที่ท้องก่อนวัยเรียนเพิ่มขึ้น

“เราเชื่อว่าถ้าครูเข้าถึงจิตใจของเด็กๆ ให้ความสนิทสนมใกล้ชิด รู้นิสัยใจคอรู้ความสนใจของเขา ก็จะช่วยเบนความสนใจและสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำได้ มันจะเป็นการดึงเด็กออกจากปัญหาต่างๆ ตอนเรียน ม.3 เรามีครูประจำชั้นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง เป็นครูที่มีเหตุผล แม้เราจะทำอะไรผิดพลาดครูเขาจะไม่ดุว่าด้วยอารมณ์ แต่จะตักเตือนให้กำลังใจ แม้กระทั่งตอนที่เรียน ม.ปลาย เรายังกลับไปปรึกษาครูเขาในหลายๆ เรื่อง รวมถึงตอนจะมาสมัครที่โครงการครูรักษ์ถิ่นด้วย เขาเป็นเหมือนแม่เราอีกคน เป็นครอบครัวที่นึกถึงได้เสมอ ช่วยแก้ปัญหายากๆ ที่เราแก้ไม่ได้ เรามองว่าครูแบบนี้จะช่วยให้เด็กไม่เดินไปในทางผิด หรือแม้ในวันพลาดพลั้งทำเรื่องไม่ดี เด็กจะกล้าคุยกับครู แล้วครูจะเข้าใจ พร้อมให้อภัยและชี้ทางที่ถูกต้อง” 

จากความรักในการสอนที่เริ่มต้นในครอบครัว รวมกับความตั้งใจที่จะกลับมาดูแลบ้าน ได้ก่อเกิดเป็นอุดมการณ์ที่เชื่อมโยงถึงชุมชนที่รัก ซึ่งน้องมนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลือกเรียนครู คือย่างก้าวเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้เธอสามารถบรรลุความฝันของตนเองได้ทุกข้อ “เราคือชาวม้งคนหนึ่ง เข้าใจในสังคมวัฒนธรรมเป็นอย่างดี เราจะนำความรู้กลับมาช่วยเหลือคนในหมู่บ้านของเรา เริ่มจากครอบครัว ญาติพี่น้อง และชุมชนที่ทุกคนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะ ‘ครอบครัว’ ในความหมายของเราไม่ได้ประกอบด้วยคนในบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนเล็กๆ ที่อาศัยอยู่มาตลอดชีวิตด้วย”

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค