มุมมอง “ตวง อันทะไชย” คนต้นทางปฏิรูปการศึกษามองก้าวต่อไปของ “กสศ.”

มุมมอง “ตวง อันทะไชย” คนต้นทางปฏิรูปการศึกษามองก้าวต่อไปของ “กสศ.”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ

ผ่านมาถึงวันนี้ กสศ. ดำเนินงานมาได้สองปีและกำลังก้าวสู่ปีที่สาม

ในมุมมองของ ตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา และ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาของวุฒิสภา เสนอแนะการทำงาน กสศ. ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ 

“ตอนที่เราเริ่มคิดรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ผมเป็นคนเขียนเองเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องกำหนดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นั่นคือ เติมเต็มในส่วนที่ขาด ให้โอกาสในส่วนที่ไม่มี

หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาท่านนี้ เป็นบุคคลแรกๆ ในการผลักดัน กสศ. เริ่มต้นสนทนา ด้วยการให้คอนเซ็ปต์การจัดตั้ง กสศ.

เติมในส่วนที่ขาดให้โอกาสในส่วนไม่มี

ตวง บอกว่า คนไทยมักเข้าใจ ความเสมอภาคคือเท่ากันหมดทุกคนทั้งคนรวยคนจนซึ่งไม่ใช่ ความเสมอภาคคือการที่จะทำให้คนยากจนมีโอกาสเท่ากับคนรวย คนที่ไม่มีที่อยู่ที่ยืนทั้งโอกาส เศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้มีโอกาสเท่ากับคนรวย  มีภาพหนึ่งที่มักส่งกันใน Facebook อธิบายได้ดีมาก เป็น ภาพคนเกาะรั้วดูกีฬา คนที่เห็นก็เห็นอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณทำให้เท่ากันหมดนะ ก็จะไม่เท่ากัน 

“concept กองทุนนี้ คือ คนที่เขามีโอกาสอยู่แล้วอย่าไปยุ่งกับเขาเลย อย่าไปแสดงว่าต้องเท่ากัน มันคนละเรื่องกัน  แต่ต้องไปเติมในส่วนที่ขาดและให้โอกาสในส่วนที่ไม่มีสำหรับผู้คนที่อยู่ในซอกหลืบ ในป่าในเขาลำเนาไพร ทั้งครูบาอาจารย์ที่เราพูดถึงมีแค่นี้ และไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์นะ”  

“ประหนึ่งเหมือนปรัชญารัชกาลที่เก้า ท่านบอกว่า ต้องให้เบ็ดคนพวกนี้เพื่อไปสร้างความเท่าเทียมกับเขา ไม่ใช่ให้เงินให้อะไรไป ชาติหน้าก็ไม่เท่าเทียมกัน และคุณเชื่อผมสิไม่มีทาง จะเห็นภาพตัวอย่างคือคนที่อยู่ในชนบทที่เขาไม่มีอาหาร ไม่มีค่ารถค่ารา อันนี้คือส่วนที่ขาดให้ได้ แต่อย่าไปให้ซ้ำกับคนอื่นที่เขาให้อยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้เราต้องค้นหาเหมือนอย่างเช่น รายการทีวีที่มีการค้นหาเด็กเก่ง เด็กที่มีความสามารถ เราจึงนำออกมาให้โอกาสเขา”

 

ยึดหลักพหุปัญญา

ผู้คว่ำหวอดแวดวงทางการศึกษาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมข้าราชการพลเรือนและบุคลากรทางการศึกษา สนับสนุนให้ กสศ. มีหน้าที่ ไปให้โอกาสกับคนเหล่านี้เพื่อให้ลุกขึ้นมาต่อยอดสิ่งที่เป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัว 

“ภาษาวิชาการ เรียกว่า ระบบการศึกษาคือการค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวผู้เรียน และดึงศักยภาพนั้นมาพัฒนาผู้เรียนเป็นตัวตนของเขาก็คือทฤษฎีพหุปัญญา ว่าด้วยการจัดการศึกษาที่ค้นพบสมรรถนะความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนซึ่งมีไม่เท่ากัน”

ตวง เล่าว่า เมื่อปี 2556 การ์ดเนอร์ บอกว่า นักการศึกษาหลังจากนี้ ห้ามนำศักยภาพของผู้เรียนมาเทียบกันเหมือนในอดีต คือ ใครเก่งวิทย์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะเป็นชั้นหนึ่งไปเลย เป็นหมอเป็นแพทย์อะไรพวกนี้ แต่พอปี 2556 ซึ่งกาดเนอร์ค้นพบทฤษฎีนี้มันทลายหลักการจัดการศึกษาแบบเดิมหมด  การ์ดเนอร์ บอกว่า เด็กแต่ละคนจะเก่งไม่เท่ากันห้ามมาเทียบกัน บางคนเก่งฟุตบอล ตะกร้อ วอลเลย์บอล บางคนเก่งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ”

ตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา และ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาของวุฒิสภา

นักปฏิรูปการศึกษาท่านนี้ ฉายภาพ กสศ.ว่า เมื่อครั้งที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษายกร่าง ไม่ได้คิดออกแบบให้เป็นประชาสงเคราะห์ 

“เวลาพูดในสภา ผมจะย้ำเสมอว่าเด็กคนนึงมีคนให้เยอะนะ คุณจะให้อีกก็ไม่เป็นไร แต่คุณอย่าลืมว่ามีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่มันอยู่ตามซอกหลืบที่มันเก่ง มีศักยภาพแต่ยังไม่มีคนไปต่อยอดให้สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวตน เป็นชีวิต เป็นอาชีพ เป็นงาน พึ่งพาตัวเองได้ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศอย่างกอล์ฟ  ฟุตบอล หรือตะกร้อ ฉนั้นกองทุนฯ ต้องมาช่วยกันดูในเรื่องของพหุปัญญา  

“หรือแม้แต่การจะทำวิจัย อย่าไปทำวิจัยแบบที่ว่าอันไหนที่มีคำตอบอยู่แล้ว ต้องทำที่ยังไม่มีคำตอบ เช่น เราเห็นว่าระบบการศึกษาไม่เอื้อต่อหลักการพหุปัญญา ทั้งที่หลักการพหุปัญญานี้ รัฐบาลประกาศเลยนะว่ามีในยุทธศาสตร์ชาติ มีในแผนการศึกษามีหมด แต่ถ้า กสศ. จับจุดนี้ไปทำไม่ได้ก็จะตกร่องกันทันที” 

“ถ้าคุณอยากจะลดความเหลื่อมล้ำ  กสศ.ต้องทำเป็นแพลตฟอร์มให้คนเหล่านี้ มีที่อยู่ที่ยืนแล้วก็เรียนจบ ทำแพลตฟอร์มว่าด้วยคนนี้เก่งกีฬาจะต้องเรียนวิชาการเท่าไหร่ เรียนสามัญเท่าไหร่” ตวง เสนอไว้อย่างน่าสนใจ 

 

โมเดล อสม.การศึกษา

อย่างไรก็ดีการทำงานเหล่านี้ กองทุนฯทำโดยลำพังไม่ได้หรอก ต้องมีเครือข่ายและไม่ใช่ไปสร้างเครือข่าย แต่ต้องค้นหาเครือข่ายที่ทำกับพวกนี้ซึ่งมีอยู่แล้วทุกที่แล้วชวนมาเป็นภาคี

“เครือข่ายที่ผมพูดถึงคือเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม.เพราะจะเป็นคนบอกคุณจะไปวิจัยทำอะไร ถ้ามีอสม.เป็นเครือข่ายที่คุณทำทุกหมู่บ้านเขาจะบอกคุณเลยว่าเด็กคนนี้ยากจนแค่ไหนจริงหรือเปล่า ลูกใคร อยู่ที่ไหน ขณะที่ กองทุนฯ มีหน้าที่สนับสนุนเขาเดินทางไปหาร่วมทำกิจกรรม ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ไม่ไปติดกับระบบราชการและลดความเหลื่อมล้ำ”

เขาขยายความ อสม.การศึกษาต่อไปว่า  อาจจะไม่ใช่ อสม. เพราะชื่อจะไปซ้ำกับอสม.สาธารณสุข  ควรจะเป็นอาสาสมัครลดความเหลื่อมล้ำในหมู่บ้าน ให้ค่าตอบแทนคิดเป็นรายจ็อบยังได้เลย กสศ.ไม่ต้องมาสร้างแพลตฟอร์มใหญ่ร้อยสองร้อยล้านต่อปี  ถ้าทำแบบนี้ กสศ.จะมีข้อมูลลักษณะเรียลไทม์เรียลไลฟ์ ด้วยตัวของกสศ.เพื่อบาลานซ์กับข้อมูลที่ได้มาอีกแหล่ง  จะได้เช็คกับส่วนราชการด้วยว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่ กสศ.จะต้องสนับสนุนให้อาสาสมัครลดความเหลื่อมล้ำในหมู่บ้านมีความเข้มแข็งและดูแลเขา

เขา มองว่า เมื่อกสศ.ออกแบบ อาสาสมัครลดความเหลื่อมล้ำในหมู่บ้าน จะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก อย่างเช่น ดึง บัณฑิตตกงานก็ยังได้ 

“ทุกวันนี้อาสาสมัครเยอะนะ คุณรับสมัครปั๊บเข้ามาเป็นพืดเลย ลองดูสิ ลองดูที่ร้อยเอ็ดบ้านผมสักหมู่บ้านหนึ่งก็ยังได้ มีค่าตอบแทนเป็นรายจ็อบ เป็นรายเดือน แล้วแต่คุณจะให้เขา หน้าที่คือไปค้นหาผู้ที่ขาด ไปหาโอกาสที่เค้าจะต้องต่อยอดเพราะมันไม่ได้มีแต่เฉพาะเด็กนะกองทุนก้อนนี้มันมีทั้งผู้ใหญ่ ผู้ด้อยโอกาส ถ้าได้มาสักคนหนึ่งเขาจะสร้างเครือข่ายในหมู่บ้านขึ้นมาได้ คุณจะตะลึงว่าประเทศไทยเรามีความยากจนขนาดนี้เหรอ ประเทศไทยมีเด็กที่เก่งขนาดนี้เลยเหรอแต่ไม่มีโอกาส ประเทศไทยมีทรัพยากรมีป่าไม้ มีภูเขา มีดินน้ำที่เด็กบางคนอยู่กับเกษตรพอเพียง แต่ไม่มีงบประมาณที่จะพัฒนาต่อยอด พอเข้าไปสักหมู่บ้านหนึ่ง จะเหมือนกับการเอ็กซเรย์ซึ่งคุ้มมาก คุณจะเป็นตัวบาลานซ์เช็คสำหรับหน่วยงานอื่น จะเป็นตัวดัชนี คำของบประมาณของสำนักงบประมาณในปีต่อไปที่เค้าจะเถียงคุณไม่ได้เลย” 

สว.ท่านนี้ ชี้เป้าหมายกสศ.ว่า “ความสำเร็จของกองทุนกสศ.นี้ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านไม่ใช่อยู่ที่กรุงเทพ ไม่ใช่อยู่ที่ประธานกองทุน ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล  คุณจะตอบได้เลยมันลดความเหลื่อมล้ำได้ไหม” 

 

ปฏิรูปประชาสงเคราะห์

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่ของ กสศ.  “ตวง” เสนอวิธีคิดใหม่  ไม่ได้หมายความว่ากสศ.จะต้องลดบทบาทหน้าที่ เพียงแต่วิธีให้ของกสศ.จะต้องไม่เหมือนมูลนิธิหรือหน่วยงานประชาสงเคราะห์

“กองทุนนี้ไม่ใช่เอาเงินไปให้คนให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในประเทศ ไม่ใช่นะครับ คุณจะต้องให้บนความเข้าใจว่า เขานั่นแหละที่ได้สตางค์เพราะตัวเค้าเอง เช่นถ้าให้ทุนการศึกษา อย่างผมก็ทำเรื่องทุนการศึกษาไม่มีเงินผมก็หามาเอง ถ้าสมมุติผมให้ 10,000 ถ้าคุณให้ไปทั้งก้อน 10,000 เค้าก็จะไปซื้อโทรศัพท์ ไปซื้ออย่างอื่น ไปใช้ทั้งหมดเลย”

เขา ยกตัวอย่าง การตั้งมูลนิธิจ่าแซมซึ่งตนเองเป็นประธานเป็นแนวทางการประชาสังเคราะห์รูปแบบใหม่ ว่า  ผมจะให้เขาเป็นกิจกรรมต่อครั้งซึ่งเค้าออกแบบเองนะ เช่นเค้าจะไปช่วยผู้ยากจนคนยากไร้ คนได้ทุนเค้าก็คุยกัน วันนี้พวกผมจะไปที่นี่ จะไปช่วยคนนี้ ก็มาเบิกเบี้ยเลี้ยง เขาได้เพราะตัวเค้าเอง มีวิกฤตจะไปช่วยโควิดที่นี่ช่วยคนยากจนที่นี่ก็ไปเลย นั่นคือผลงานเขา ผมให้เค้าเบิกครั้งนี้ไป 500 บาทเหลือ 9,500 ก็ต้องคิดที่จะไปทำอีก 

“ถ้าเห็นเค้าทำดี คุณก็เติมกองทุนไปให้ 1.ได้สำหรับตัวเขาสร้างให้เขามีความรู้สึกว่าเขามีคุณค่าสำหรับชุมชนและสังคม 2.สร้างให้เขามีความรู้สึกว่าเขาได้ทุนนั้น ทุนการศึกษาที่ได้มานั้นไม่ใช่ได้มาแบบสงสาร แต่ได้มาเพราะเขาเป็นคนเสียสละอาสาสมัคร 3.ได้เห็นความเอื้ออาทรที่มีต่อคน 4.ได้สร้างบุคลิกลักษณะนิสัยให้กับผู้ได้ทุนนั้นให้เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คน”  

“โลกสมัยใหม่ต้องทำแบบนี้ ให้แบบมีเงื่อนไขว่าเขาต้องเสียสละเพื่อชุมชนหรือสังคม มีเงื่อนไขให้เขาได้เรียนรู้ที่จะเป็นอาสาสมัคร ที่จะเรียนรู้การทำประโยชน์ให้สาธารณะ ไม่ใช่ให้โดยที่ได้ก้อนหนึ่งไป ถ้าทำแบบตู้ปันสุขง่ายมากคือ concept มันสั้น คือเอาไปให้อยากได้มาเอา แต่ให้แบบที่ว่าคือการสร้างให้ผู้คนได้ลุกขึ้นมาเรียนรู้

“อย่าลืมว่ากองทุนนี้ต้องให้คนได้เรียนรู้ตนเอง  เรียนรู้ชุมชน เรียนรู้สังคม เรียนรู้อะไร เรียนรู้ทั้งอาชีพ วินัย ความเสียสละ ความรักชาติรักแผ่นดิน เรียนรู้ที่จะหาโอกาสประกอบอาชีพของตัวเอง นี่คือตัวตนของกองทุนนี้”  คนต้นทางกสศ.  สรุปทิ้งท้าย