‘ครูแม่’ ผู้ดูแลน้องๆ รอบด้านทั้งเรียน งาน การเงิน และทักษะชีวิต

‘ครูแม่’ ผู้ดูแลน้องๆ รอบด้านทั้งเรียน งาน การเงิน และทักษะชีวิต

“การสื่อสารทำให้เรารู้ปัญหาหรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจเขา เราจึงช่วยเขาได้ตรงจุด บางคนอาจแค่บ่นเรื่องการเรียน แต่เราสังเกตได้ว่าเขาท้อ กังวลว่าจะเรียนไม่ไหว ตรงนี้เราก็ต้องเข้าไปใกล้ชิดเขาให้มากขึ้น ให้กำลังใจเขา”

ตำแหน่ง ‘ครูที่ปรึกษา’ สำหรับครูบางท่าน อาจหมายถึงการให้ความเห็นหรือช่วยแก้ปัญหายามที่ศิษย์มีเรื่องเดือดร้อนเร่งด่วนหาทางออกไม่ได้ เพื่อจัดการให้อุปสรรคผ่านพ้น จนศิษย์สามารถกลับมาตั้งสมาธิกับการเรียนได้อีกครั้ง

แต่ที่วิทยาลัยชุมชนสตูล มีครูท่านหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเป็นครูที่ปรึกษา คือการเอาใจใส่ดูแลเด็กที่ ‘รอบด้าน’ ทั้งเรื่องเรียน การงาน การเงิน การเสริมทักษะต่างๆ ไปจนกระทั่งเรื่องสำคัญในวัยเรียนอย่าง ‘ความรัก’ ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถมองเห็นปัญหาของศิษย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ทั้งยังช่วยคลี่คลายเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ทันการณ์

 

‘ต้องรู้จักทุกคนให้ลึกซึ้ง ถึงจะช่วยเขาได้’

อาจารย์เกษร ปะลาวัน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล ผู้รับผิดชอบโครงการและครูที่ปรึกษาของนักศึกษา ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ เท้าความถึงช่วงเริ่มต้นในการดูแลน้องๆ ว่า ที่วิทยาลัยมีนโยบายให้มีครูพ่อครูแม่ 1 คน ต่อนักศึกษา 3-5 คน ดูแลน้องๆ ในเชิงลึก ส่วนตนในฐานะครูที่ปรึกษาจะคอยดูแลภาพรวมในทุกเรื่อง

“ย้อนไปตอนแรกเข้า พวกเราคณะครูตั้งใจกันว่าจะดูแลเขาบนพื้นฐานของความไว้ใจเหมือนครอบครัว ส่วนหนึ่งเรารู้ว่าการเป็นเด็กทุน ฯ ต่างคนเขาจะมีความขาดบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเราต้องช่วยเติมเต็ม ช่วยให้กำลังใจ แต่ก็มาคิดว่า ถ้าเราไม่รู้จักเขาให้มากขึ้น การเติมเต็มส่วนที่เขาขาดก็คงไม่สามารถทำได้”

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับอาจารย์ผู้สอนวิชาภาษาไทย สร้างโจทย์ให้น้องๆ เขียนเรียงความบ่งบอกตัวตนและความรู้สึกแรกของการเข้ามาเรียน ตลอดจนความกังวลและปัญหาในใจต่างๆ 

“ด้วยวิธีนี้ทำให้เรารู้จักและเข้าใจเขาได้เร็วและลึกซึ้งขึ้น จากนั้นเราถึงสามารถเข้าถึงใจเขา สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความช่วยเหลือ หรือเสริมในสิ่งที่เหมาะสมกับเขาได้จริงๆ” อ.เกษร เล่า

จากนั้น อาจารย์ได้นำวิธีการนี้มาต่อยอดโดยให้น้องๆ เขียนบันทึกประจำวันบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านพบ แล้วนำมาให้ครูเซ็นชื่อกำกับ ด้วยวิธีการนี้ ลูกศิษย์จึงสามารถส่งสารบางอย่างถึงครู จนนำไปสู่การรับฟังและแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นได้

“เราให้เขาเขียนบันทึกถึงเรื่องราวอะไรก็ได้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแต่ละวัน ทั้งสิ่งดีสิ่งไม่ดี สิ่งที่คับข้องหมองใจอยากระบายออก โดยเราบอกว่าถ้าเขาไม่อนุญาตครูจะไม่เปิดอ่าน แต่กลายเป็นว่าหลายคนเขาจะส่งโน้ตน้อยๆ มาว่าอยากให้เราอ่าน บางคนก็แค่ดีใจที่มีคนคอยรับฟังเขา ช่วยให้เขาสบายใจขึ้น หรือบางคนที่มีปัญหาไม่กล้าปรึกษาใครเขาก็ใช้ช่องทางนี้ส่งข้อความมาถึงเรา ให้ช่วยเป็นที่ปรึกษา หรือช่วยหาทางออกให้เขาได้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่

“ที่สำคัญคือการสื่อสารทำให้เรารู้ปัญหาหรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจเขา โดยแม้เป็นเรื่องที่คนอื่นอาจเห็นว่าไม่สำคัญ เราก็ไม่อาจมองข้ามไปได้ เช่นบางคนอาจแค่บ่นเรื่องการเรียน แต่เราสังเกตได้ว่าเขาท้อ กังวลว่าจะเรียนไม่ไหว ตรงนี้เราก็ต้องเข้าไปใกล้ชิดเขาให้มากขึ้น ให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เขาหาตัวเองให้พบแล้วพัฒนาตรงนั้น หรือบางคนเรียนในห้องไม่ค่อยเก่งแต่เราเห็นว่าเวลาไปทำงานไปฝึกงานเขาแสดงศักยภาพว่าทำได้ดี เราก็ส่งเสริมให้ทำได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ แก้ไขส่วนที่บกพร่องไปด้วย เพราะอย่างนี้เราถึงต้องรู้จักทุกคนให้ลึกซึ้ง ถึงจะช่วยเขาได้”

 

บางครั้งแค่กำลังใจก็ผลักดันให้ข้ามขีดจำกัดได้

อาจารย์เกษรอธิบายต่อไปว่า ด้วยวัยของลูกศิษย์ที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลากหลาย บางคนอาจยังมองไม่เห็นเส้นทางที่ต้องการมุ่งไป หรือยังไม่พบศักยภาพที่ซ่อนในตัวเอง ดังนั้นการพยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อเรียนจบแล้วเขาจะสามารถไปได้ถึงไหน หรือย้ำเตือนให้เขาเห็นความสำคัญของทุนที่ได้รับ นับเป็นกำลังใจที่ดีในการข้ามผ่านอุปสรรค

“เราจะคุยกับเขาในบรรยากาศแบบครอบครัว เหมือนแม่คุยกับลูก ไต่ถามเรื่องราวทั่วไปให้ผ่อนคลาย แล้วสร้างภาพให้เห็นว่าถ้าเรียนจบเขาจะทำอะไรได้มากกว่าตอนนี้บ้าง โดยเฉพาะการเตือนให้รู้ว่าสถานะนักศึกษาทุนที่เขาเป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา แต่ที่เขาถูกเลือกเพราะมีคนเห็นศักยภาพ การจะล้มเลิกไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเรามีโอกาสแล้วต้องลองสู้เพื่อข้ามมันไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นสิ่งที่ยังซ่อนอยู่ในตัวเราได้มากขึ้น จากนั้นสิ่งไหนที่เราจะช่วยเหลือเขาได้ เราจะยื่นมือเข้าไปทันที”

 

พัฒนาการของลูกศิษย์ คือที่สุดของความภูมิใจ

(กลาง) อาจารย์เกษร ปะลาวัน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล

การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อ.เกษร บอกว่า การดูแลเป็นที่ปรึกษาให้ลูกศิษย์รายคน ทำให้เกิดความผูกพันประหนึ่งว่าพวกเขาคือลูกๆ หลานๆ ที่พร้อมดีใจเสียใจกับเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือความภาคภูมิใจที่เห็นว่าลูกศิษย์ทุกคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

“เรามองว่าไม่ใช่เรื่องของหน้าที่ครูที่ปรึกษาแล้ว เพราะความที่รู้จักใกล้ชิดกันทำให้เราต้องช่วยดูแลเขารอบด้าน บางคนเรียนไม่ทันเพื่อนเราต้องไปคุยกับอาจารย์ประจำวิชา ซึ่งเขาก็ยินดีสอนเสริมให้จนเด็กเข้าใจมากขึ้น บางคนมีปัญหาเรื่องเงินเราก็ต้องช่วยวางแผนบริหารจัดการ คนที่อยากมีรายได้เสริมเราก็เป็นสื่อกลางให้เขาได้งานจากร้านค้า สถานประกอบการ หรือผู้นำชุมชน ซี่งนอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว เรามองว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของเขาด้วย

“หรือเรื่องที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวอย่างปัญหาวัยรุ่นเราก็ดูเขาอยู่ห่าง ๆ เห็นเขามีแฟนก็บอกว่ามีได้เราไม่ห้าม แต่จะสอนให้เขารู้ตัวเองว่าได้แค่ไหน โฟกัสต้องอยู่ที่เรื่องเรียนเป็นหลัก เราเข้าใจว่าวัยของเขาการมีแฟนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องรู้ระดับ ดูแลตัวเองให้ได้”

ท้ายสุด ครูแม่ของน้องๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วชช. สตูล บอกว่าสิ่งที่ทุ่มเททำลงไปในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา แม้จะต้องเหนื่อยบ้าง แต่ผลที่ออกมานับว่าเป็นความภาคภูมิใจ เมื่อได้เห็นว่าน้องๆ เติบโตและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นคือความสุขที่สุดแล้วของคนเป็นครู

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค