การเดินทางของ”ผู้ให้” จากหนึ่งกลายเป็นล้านความร่วมมือ สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม

การเดินทางของ”ผู้ให้” จากหนึ่งกลายเป็นล้านความร่วมมือ สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม

ธารน้ำใจจากทุกภาคส่วนแปรเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารช่วยเหลือน้องๆ ทั่วประเทศ ในโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง”

ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ท่ามกลางความร่วมไม้ร่วมมือการสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และภาคประชาชนที่เข้ามีส่วนร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ หยิบยื่นน้ำใจและความปรารถนาดีทั้งในรูปของเงิน อาหาร สิ่งของ ส่งต่อไปยังนักเรียนที่ยากลำบากและได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนทำให้การปิดเทอมยาวนานกว่าเดิม

COVID-19 ​ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนทั่วประเทศ หลายครอบครัวผู้ปกครองถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่ในช่วงเวลาปกติก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ยิ่งยากลำบากมากขึ้น จากการสำรวจพบว่าปัญหาที่นักเรียนประสบมากที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของร่างกาย สมอง และจิตใจ

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการชื่อดัง กล่าวว่า จากการเลื่อนปิดเทอมที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่า 7 แสนคน   ที่เดิมเคยฝากท้องไว้กับที่โรงเรียนแต่ตอนนี้ต้องกลับกินอาหารที่บ้านซึ่งผู้ปกครองสามารถแบกรับภาระตรงนี้ ​ทำให้อาหารที่ได้รับไม่ถูกหลักโภชนาการ กินไม่อิ่ม หรือต้องอดมื้อกินมื้อ แม้เพียงแค่ 2-3 เดือน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กยากจนที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว  จะยิ่งส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย ​ไปจนถึงขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น  มีรูปร่างผอม เตี้ย แคระแกร็น

เบื้องต้น กสศ. ได้จัดสรรงบประมาณ  500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด ได้แก่ สพฐ. ตชด. และ อปท. ที่ กสศ.ดูแลทั้งหมด ​จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน พร้อมกันนี้ยังได้ริเริ่มรณรงค์ สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้องเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วัน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังนักเรียนไปจนถึงช่วงเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า  กสศ. เล็งเห็นความสำคัญปัญหาขาดแคลนโภชนาการของเด็ก จึงจัดโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ขึ้นโดยได้อนุมัติเงินส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลประทบไปแล้วกว่า 753,957 คน แต่ด้วยกำลังของ กสศ. เพียงองค์กรเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือเรื่องโภชนาการช่วงปิดเทมอของเด็กได้ครบทั้ง 46 วัน ดังนั้นอีก 16 วันที่เหลือต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อนำไปมอบให้กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเงินบริจาคจำนวนนี้สามารถช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบได้ทันที 2 กลุ่ม คือ นักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะทุพโภชนาการ และนักเรียนยากจนพิเศษชั้นอนุบาล เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึงนี้

หลังจากเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ​ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากภาคส่วนต่างๆ  อาทิ  CENTRAL GROUP, Wongnai, Disrupt Technology Venture, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ราชกรีฑาสโมสร, สโมสรโรตารีกรุงเทพ, ไปจนถึง  อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลมศิลปินขวัญใจมหาชน และเหล่าดารา  “Dr.Jill family” ​ก้อย รัชวิน, ​คริส หอวัง, ​แพท ณปภา

อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม”

​ตูน บอดี้สแลม กล่าวถึงความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า ผมคิดว่า กสศ. ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี เป็นองค์กรที่ทำงานหนัก มีกิจกรรม สถิติการลงพื้นที่ มีข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้ประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กยากจนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผมอยากใช้เสียงของผมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นสื่อกลางเชิญชวนให้ประชาชนและภาคเอกชนร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือโครงการของ กสศ.

ปัจจุบันความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนได้ส่งต่อไปถึงมือเด็กๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในรอบแรก และอยู่ระหว่างการทยอยส่งต่อในรอบที่สอง โดยมีเสียงสะท้อนจากน้องๆ ที่เต็มไปด้วยรอยิ้ม และความสุข จากธารน้ำใจที่หลั่งใจมาจากทุกภาคส่วน

ความช่วยเหลือที่ “รวดเร็ว” และ “ตรงเป้า” เข้าถึงกลุ่มเด็กนักเรียนที่เดือดร้อนได้ในเวลาอันรวดเร็วนั้น เป็นเพราะระบบฐานของมูลของ กสศ. ที่เรียกว่า iSEE หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำให้ความช่วยเหลือดังกล่าวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนักเรียนและครอบครัวได้เป็นอย่างมาก อนุสรณ์ พรมรังกา ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง จ.แพร่ ระบุว่าความช่วยเหลือที่ได้รับทำให้ เด็กๆ และ ผู้ปกครองดีใจมาก  เพราะ​ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  จนไม่มีงานทำต้องอยู่กับบ้านโดยไม่มีรายได้

 “หลังมอบเงินไปหนึ่งสัปดาห์เราลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก​ ไม่ได้บอกเขาก่อนว่าจะไปวันไหน พอไปถึงบ้าน เราแอบไปเปิดฝาชีเขาดูเห็นว่ากับข้าวเขาเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยมีแต่น้ำบูดู ตอนนี้มีปลาทอด มีปลากระป๋อง มีไข่เจียว สะท้อนให้เห็นว่า เงินที่ไปถึงมือเด็กทำให้เด็กกินดีขึ้นจริงๆ” อรุณศรี หลงชู ครูโรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) กล่าว

ธารน้ำใจที่ส่งผ่านไปถึงน้อง ๆ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่จะทำให้พวกเข้าก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ กลับไปใช้ชีวิตปกติ ตั้งใจเรียนหนังสือ​​ น้อง “ต้นกล้า”​​ ได้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกผ่านจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง ระบุว่า ​“ผมสัญญาว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ผมจะเป็นเด็กขยันเรียน เชื่อฟังพ่อแม่และคุณครู ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ทุกาคส่วนยังคงเดินหน้าช่วยกันเติมเต็มความฝันของน้องๆให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายท่าน หลายองค์กร ที่ไม่ได้เอ่ยนาม บนพื้นที่นี้ได้ทั้งหมด กสศ. จึงขอกล่าว ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

เส้นทางของ”ผู้ให้” ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” จนมาถึงวันนี้ จะถูกบันทึกไว้บนแผ่นดินนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฉุดน้องๆให้หลุดพ้นจากหลุมดำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา