เน้นเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างงานสร้างอาชีพ หวังก้าวพ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เน้นเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างงานสร้างอาชีพ หวังก้าวพ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำ


เผยมีกลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์กว่า 8,652 คน อาทิแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน คนพิการ ครอบคลุม 52 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค และเล็งถอดบทเรียนเสนอรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาประเทศไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะที่ ผู้รับทุนเหนือจรดใต้ เปิดใจเล็งใช้สร้างงาน สร้างอาชีพ เน้นภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุงข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 โดย ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาต้องผ่านหลายกระบวนการ ดังนั้นเม็ดเงินที่จะลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน จะต้องตกถึงมือชาวบ้านจริงๆ และถึงมือกลุ่มเป้าหมาย อาทิ คนตกงาน คนหรือกลุ่มคนที่เหลื่อมล้ำชัดเจน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนเฉพาะกลุ่ม

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ปีที่ 1 โดยใช้ชุมชนเป็นฐานยังมีไม่มาก และยังไม่กระจายในวงกว้าง แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ยิ่งมีสถานการณ์โควิด -19 ทำให้คนตกงานและกลับสู่ชุมชนมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันของคน 3 รุ่น คือคนตกงาน ชุมชน โรงเรียน เพื่อจัดทำโครงการมาเสนอ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้วันนี้เราเต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และรอการจัดการทำให้มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่า

ดังนั้นปีนี้จะกลายเป็นระบบการเรียนรู้การออกแบบ การสร้างหลักสูตรการศึกษาใหม่ๆ ทำให้เห็นชุมชนมีชีวิต จากกระบวนการเรียนรู้และเพิ่มทักษะเพิ่มสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม การออกแบบหลักสูตร จะต้องพิจารณาสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ และสิ่งที่ชุมชนต้องการแล้ว กสศ.เข้าไปสนับสนุนตรงนั้น อาทิ ระบบการจัดการเศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน จะทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกเลยว่าเขามีศักดิ์ศรีไม่ใช่คนยากจนด้อยโอกาสที่จะเอาอะไรก็ได้มายัดเยียดให้

“สิ่งที่กสศ.กำลังจะทำหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้คือ การถอดออกมาให้ได้ว่าต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ต่างๆนั้นมีที่มาอย่างไร มีความหมาย มีคุณค่าอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็จะต้องทำระบบการตลาดใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมตรงนี้ได้อย่างดี ผ่านระบบไอที วิทยาการสมัยใหม่ มีความเป็นสากลมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น สร้างโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ในส่วนของปีที่ 3 จะต้องทำให้กว้าง และขยายมากขึ้น ส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนประเทศตามที่บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าจะทำโครงการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการที่ใช้ชุมชนเป็นฐานคือคำตอบ โดยมีโมเดลความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ

ด้าน น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์  ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. – 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้สนใจส่งข้อเสนอโครงการ 783 โครงการ 

คณะกรรมการซึ่งมาจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเอกชน วิชาการ สื่อมวลชน และชุมชน และคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติมอบทุนฯ ให้กับ 130 โครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 8,652 คน เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน คนพิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มแม่วัยรุ่น ผู้ต้องขัง ฯลฯ 

ส่วนประเภททุนแบ่งเป็น ทุนพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 99 โครงการ และทุนนวัตกรรมเพื่อชุมชน จำนวน 31โครงการ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหมด 52 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค สำหรับทุนนี้จะมีความหลากหลายที่เพียงแต่สร้างอาชีพแต่มีการสร้างนวัตกรรมทางอาชีพ อาทิ การจัดการตลาดแพลตฟอร์มดิจิทัล การเพิ่มมูลค่าสินค้า นวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เรื่องระบบสุขภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรกรรม

“ในการพิจารณานั้นไม่ได้มองเฉพาะเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพเท่านั้น แต่โครงการที่เสนอเข้ามาต้องตอบโจทย์ห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิต การตลาด การขายด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญของผู้ที่เสนอโครงการเข้ามาต้องมีการวิเคราะห์ทุนและทรัพยากรชุมชน รู้จักศักยภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รู้ว่าจะพัฒนาอะไรอย่างไรเพื่ออะไร ตอบโจทย์หรือไม่ เพื่อให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลั่นกรองและคัดเลือกข้อเสนอโครงการมีความเชื่อมั่นและเห็นภาพเหล่านี้ โดยทั้งหมด130 โครงการนั้น เราจะมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์และประเมินผลและจัดทำชุดข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ขยายวงกว้าง เช่น กระทรวงแรงงาน กศน. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้โครงการในปีนี้เสนอเข้ามาจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับคัดเลือกครั้งนี้ ขอให้นำหลักคิดของเรากลับไปปรับปรุงและสามารถเสนอเข้ามาอีกครั้งหลังเปิดโครงการในปี 2564” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์  ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

นายโชคชัย  ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า การสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งนั้น ต้องจัดการระดับหมู่บ้าน หลายๆหมู่บ้าน เริ่มจากผู้นำหมู่บ้าน และอยู่บนหลักคิดว่าไม่มีใครเก่งได้เพียงคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นหากเราต้องการหลุดจากตัวตนต้องมีการรวมตัวของคนเก่งแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเข้าไปสนับสนุนชุมชนนั้น ต้องเป็นการพัฒนาฝีมือที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นลูกจ้างโรงงานเพียงอย่างเดียว รวมถึงอาจจะมีการเสริมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมอาหารที่เป็นสิ่งสำคัญ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และโรคภัยไข้เจ็บ ส่งเสริมในสิ่งที่ประชาชนอยากทำจริงๆ หวังว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

นายพรเทพ  เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเอกชนจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับชุมชนได้อย่างไร เพราะหลังประสบปัญหาการระบาดของโควิดทำให้การทำงานหลายๆ อย่างชะงัก การผลิตหายไป วัตถุดิบหายไป แรงงานหายไป แต่หากเรามีชุมชนที่เข้มแข็งสามารถซับพอร์ตความสามารถในการผลิตของเราได้ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายก้าวผ่านวิกฤตได้ ดังนั้นเราต้องหนุนเสริมให้ชุมชนรอบข้างมีความรู้ พัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพได้

นายสุกรี อัซอลีฮีย์ จากโครงการวงล้อมอาชีพห่วงโซ่อาหารเพื่อเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศล จังหวัดยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่โครงการได้รับการสนับสนุนทุนจาก กสศ.ทั้งนี้ โครงการที่เรานำเสนอเข้าไป จุดเริ่มต้นมาจาก ที่เดิมทีเรามีเด็กด้อยโอกาสต้องดูแล 100 กว่าคน โดยส่งเรียนตามโรงเรียนทั่วไป แต่ตอนหลังเปิดโรงเรียนเอง พอเรียนจบส่วนใหญ่ก็เรียนต่อสายสามัญ บางคนออกไปประกอบอาชีพทั่วไป จึงมีแนวคิดที่อยากช่วยสร้างอาชีพให้เด็กๆ พอรู้ว่า กสศ. มีโครงการมอบทุนสนับสนุนตรงนี้ จึงเขียนไปเสนอ โดยขยายเพิ่มไปเป็นการพัฒนาอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ทั้งตำบล